ทำไมต้อง Spin-Off  

 ทำไมต้อง Spin-Off  

ทิศทางการ แตกตัว เพื่อ เติบโต ขององค์กรใหญ่กำลังเกิดขึ้นด้วยอัตราเร่งที่น่าจับตามอง ล่าสุดบริษัทในสหรัฐกว่า 15 แห่งกำลังทำเรื่อง Spin-off

              ธุรกิจและวางเป้าหมายจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2021 บริษัทเหล่านี้ล้วนอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยาและเคมีภัณฑ์ เทคโนโลยี  พลังงาน  อสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก  และต่างเป็น Big Names ทั้งสิ้นเช่น AIG, Bausch Health, Sanofi, Merck และ Nielsen

ส่วนที่ได้ประกาศตัวไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2020 และได้รับความสนใจจากคนในวงการธุรกิจอย่างมากก็คือ ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอายุกว่าร้อยปีอย่าง IBM ที่ตัดสินใจผ่าตัดโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยจะแตกธุรกิจออกเป็นสองส่วนและแยกการบริหารจัดการออกจากกัน

ส่วนแรกคือธุรกิจดั้งเดิมที่ให้บริการลูกค้าด้านฮาร์ดแวร์และระบบโครงสร้างพื้นฐาน IT ซึ่งยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการโดยจะใช้ชื่อ “NewCo” แบบชั่วคราวไปก่อน  ส่วนที่สองยังคงอยู่ภายใต้ชื่อ IBM  โดยเน้นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่เช่น การให้บริการเรื่อง Hybrid Cloud  และ แพลตฟอร์ม AI  รวมถึงการทำ Digital Transformation

การตัดสินใจแยกธุรกิจออกมาในครั้งนี้ของ IBM ได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากนักวิเคราะห์และนักลงทุน หลายคนมองว่าเป็น “Smart Move” ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ IBM และน่าจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกชัดเจนว่าบริษัทกำลังเดินหน้าไปสู่ยุคใหม่ที่ต้องรักษา โฟกัส”  กับฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่กว่า 4000 รายมูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญ และ ไปต่อกับการก้าวสู่การเป็นผู้เล่นหลักในธุรกิจ Cloud และ AI เพื่อแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง Google, AWS, และ Microsoft

           องค์กรธุรกิจกำลังโดนไล่ล่าด้วยเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ผู้บริหารองค์กรกำลังตกอยู่ในสภาวะจำเป็นที่ต้องตัดสินใจทำอะไรบางอย่างในเชิงโครงสร้าง เพื่อความอยู่รอดและทำให้องค์กรเกิดโมเมนตัมที่จะสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

การ Split องค์กรหรือ Spin-off หน่วยธุรกิจออกไปดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ทางที่จะตอบโจทย์ความท้าทายของธุรกิจวันนี้  เหตุผลสำคัญ 3 ข้อที่ทำให้แนวทางการแตกเพื่อโตเป็นคำตอบของธุรกิจที่กำลังก้าวสู่ยุค Post Disruption ก็คือ

ข้อแรก โครงสร้างที่ซับซ้อนเกินไปขององค์กรใหญ่ทำให้พัฒนาธุรกิจใหม่ไม่ทัน หน่วยธุรกิจเดิมที่ยังสร้างรายได้หลักหล่อเลี้ยงองค์กร มีแนวโน้มชะลอตัวแต่กลับกินทรัพยากรขององค์กรมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็น “อนาคต ได้ดีพอ การแยกธุรกิจออกจากกันทำให้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรและการตัดสินใจทางธุรกิจของผู้บริหารทำได้ตรงจุดมากขึ้น

ข้อสอง แรงกดดันจากผู้ถือหุ้นมักจะเป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้องค์กรต้องเปลี่ยนแปลง เมื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นลดลง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจที่จะนำไปสู่การเติบโตในเฟสใหม่มักจะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ผู้ถือหุ้นมองหา

ข้อสาม ในธุรกิจที่เข้าสู่จุดอิ่มตัว การตัดสินใจลงทุนในธุรกิจใหม่มักจะมีข้อจำกัดเพราะยังต้องใช้เงินลงทุนในการประคับประคองธุรกิจเดิม การแยกธุรกิจใหม่ออกมาจะทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นในการตัดสินใจลงทุน

           เมื่อธุรกิจกำลังเดินสู่จุดที่ ความใหญ่ขององค์กรกลับกลายเป็นอุปสรรคของการก้าวไปข้างหน้า คำว่า “รวมกันเราแย่” แต่ “แยกกันเราโต” อาจจะกลายเป็นวิถีใหม่ที่องค์กรจำต้องยอมรับ  

*บทความโดย ต้องหทัย กุวานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารผลลัพธ์ด้วยการโค้ช