Circular Economy City: วิชั่นเมืองแห่งอนาคต

Circular Economy City: วิชั่นเมืองแห่งอนาคต

Circular Economy แนวคิดหนึ่งที่เป็นความหวังของระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่กำลังได้รับความสนใจและถูกบรรลุให้เป็นเป้าหมายสำคัญของหลายประเทศชั้นนำ

สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ กลับมาทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่า จะสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมใหม่ให้พึ่งพาตนเองและมีความมั่นคงพื้นฐานในมิติต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ อาหาร และการมีงานทำได้มากขึ้น มีระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากรและทักษะประชาชน พร้อมทั้งกลไกการกระจายรายได้ที่ดีขึ้นและประเทศมีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม รวมถึงประชาชนมีความยืดหยุ่นและมีขีดความสามารถในการปรับตัวรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy เป็นแนวคิดหนึ่งที่เป็นความหวังของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจและถูกบรรลุให้เป็นเป้าหมายสำคัญในยุทธศาสตร์ของหลายประเทศชั้นนำทั่วโลก โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางความคิดจากระบบเศรษฐกิจเป็นเส้นตรง (Linear Economy) ที่นำวัตถุดิบมาผลิตและบริโภคก่อนที่จะทิ้งเป็นขยะ มาสู่ระบบเศรษกิจแบบหมุนเวียน ที่มองการใช้ทรัพยากรที่วนลูบเป็นวงกลมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและลดการใช้ทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน  เช่น การออกแบบเพิ่มความทนทานให้สินค้า การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ การเช่าซื้อหรือการแบ่งปันการใช้สินค้า การลดปริมาณขยะ การใช้ซ้ำ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน เป็นต้น

เนื่องจากปัจจุบัน ประชากรและกิจกรรมเศรษฐกิจกระจุกอยู่ที่เมือง ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียนในเมืองจึงกลายเป็นวาระสำคัญของหลายประเทศ โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงานใหม่และการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Accenture (2015) วิเคราะห์ว่าภายในปี 2030 หากมีการเปลี่ยนจากแนวทางเศรษกิจแบบเชิงเส้นตรงเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยสร้างเศรษฐกิจมูลค่าถึง 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

การคาดการณ์ในระดับเมืองชี้ว่าแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในห่วงโซ่การก่อสร้าง ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งล้านตันปี  ในเมืองลอนดอน สหราชอาณาจักร ผลประโยชน์จากแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในด้านสาขาอาหาร สิ่งทอ ไฟฟ้าและพลาสติกอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านปอนด์ต่อปีภายในปี 2050  นอกจากนี้ ในฝรั่งเศสคาดว่าจะมีการสร้างงานประมาณ 50,000 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคอีล-เดอ-ฟร็องส์ ประเทศฝรั่งเศส และช่วยสร้างผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมทั้งมลพิษที่ลดลง สัดส่วนทรัพยากรหมุนเวียนหรือรีไซเคิลเพิ่มขึ้น และลดการใช้วัตถุดิบ น้ำ ที่ดินและพลังงาน

ทั้งนี้ในปัจจุบัน ทั่วโลกยังมีเศรษฐกิจหมุนเวียนน้อยกว่า 10% ของโลก อย่างไรก็ตาม เริ่มมีความริเริ่มที่น่าสนใจเกิดขึ้นในหลายเมืองโดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป

ประเทศเนเธอร์แลนด์ ณ เมืองโกรนินเกน (Groningen) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา หลังจากการตัดสินใจยุติการผลิตก๊าซภายในปี 2022 เมืองได้ตั้งเป้าหมายใหม่ที่จะเป็นเมืองที่มีพลังงานและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นกลาง (energy and CO2 neutral) ภายในปี 2035 และปล่อยของเสียให้เป็นกลาง (waste neutral) ภายในปี 2030 ด้วยเหตุนี้ เมืองโกรนิงเกนจึงกำลังดำเนินการปรับโฉมครั้งใหญ่ โดยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในยุทธศาสตร์

ปี 2018 คณะกรรมการของเมืองพัฒนาวิสัยทัศน์เมืองมุ่งสู่ความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยระบุประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ประการ ได้แก่ 1. การจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะสีเขียวเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคธุรกิจ 2. การจัดการขยะเพื่อมุ่งสู่งเมืองที่ปล่อยของเสียงเป็นกลางในปี 2030 และ 3. สร้างความรู้ผ่านแพลตฟอร์มเชื่อมต่อสถาบันการศึกษา ธุรกิจและภาคประชาสังคม กับเทศบาล โดยมีรองนายกเทศมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการสร้างศูนย์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Hub) เพื่อเป็นพื้นที่บ่มเพาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพ ในปี 2019 เมืองได้ริเริ่มโครงการ Front-runner Project เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการดำเนินการตามรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น

ในเมืองอูเมโอ ประเทศสวีเดน เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางในปี 2040 เมืองอูเมโอเป็นเมืองที่เติบโตเร็วที่สุดในสวีเดนตอนเหนือ ซึ่งต้องการโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรต่างๆ ในเมืองเพิ่มมากขึ้น เมืองจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์เมืองปี 2016-2028 โดยมีวิสัยทัศน์ให้เมืองอูเมโอเป็นผู้นำในเศรษฐกิจหมุนเวียน  มีการตั้ง Circular Economy Business Accelerator North Sweden ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือสำหรับธุรกิจเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ มีการจัดตั้งเครือข่ายอูเมโอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการดำเนินโครงการที่ยั่งยืนในท้องถิ่นเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว การขนส่งที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy)  มีศูนย์บ่มเพาะ 5 แห่งสำหรับสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัย เทศบาลและบริษัท มีการประยุกต์ใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีสะอาดที่เป็นนวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาด การลดการใช้น้ำ เคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการก่อสร้างและการขนส่งที่ยั่งยืน

วินสตัน เชอร์ชิล เคยกล่าวไว้ว่าอย่าปล่อยให้วิกฤตที่เกิดขึ้นเสียเปล่า ในห้วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่รู้เวลาที่จะจบแน่นอนนั้น ประเทศไทยควรใช้เวลาดังกล่าวกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยครั้งใหญ่ ซึ่งเศรษฐกิจหมุนเวียน  (Circular Economy) เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเปลี่ยนผ่านประเทศและเมืองไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

* บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/