หากไร้ซึ่งประธานาธิบดี

หากไร้ซึ่งประธานาธิบดี

ที่ผ่านมา ผู้เขียนถูกถามหลายครั้งว่าใครจะได้มาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ แต่ก็มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือจะเกิดอะไรขึ้น

หากคืนวันที่ 3 พ.ย.ผ่านไป แล้วสหรัฐไม่สามารถประกาศผลประธานาธิบดีคนใหม่ได้

ผู้อ่านทั่วไปคงแปลกใจว่าทำไมผู้เขียนจึงได้ตั้งคำถามนี้ เพราะประเทศที่เจริญที่สุดและมีเทคโนโลยีสูงสุดอย่างสหรัฐ จะไม่สามารถนับคะแนนและตัดสินผู้ชนะในการเลือกประธานาธิบดีได้เชียวหรือ

คำตอบคือ ในภาวะทั่วไปที่ความเห็นของผู้คนครึ่งประเทศไม่ได้แตกแยกเป็น 2 ขั้วแบบสุดโต่งอย่างในปัจจุบัน ไม่ได้มีความเสี่ยงที่การเลือกตั้งจะถูกแทรกแซงจากต่างชาติ ไม่ได้อยู่ในภาวะที่โรคระบาดแห่งศตวรรษกำลังลุกลามรุนแรง รวมถึงไม่ได้มีประธานาธิบดีที่ผิดแปลกและไม่เคารพกฎกติกาเหมือนนานาอารยชน คำถามเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น

แต่ในปัจจุบัน ความเห็นของอเมริกันชนต่อภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงสถานะของสหรัฐในเวทีโลกแตกแยกเป็น 2 ขั้วชัดเจน จนหากฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้รับเลือกตั้งแล้วนั้น อเมริกันชนอีกครึ่งประเทศคงไม่พอใจอย่างแน่นอน

ความเห็นที่แตกต่างกันนั้น ไม่ได้ผิดปกติในรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ที่ผิดปกติคือหลังคืนวันที่ 3 พ.ย. ไม่ว่า โจ ไบเดน หรือทรัมป์จะได้รับชัยชนะ กว่า 40% ของคนอเมริกันจะไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างใสสะอาด

โดยเฉพาะหากคะแนนเสียงที่ได้นั้นสูสีในรัฐสำคัญและคะแนนก้ำกึ่งอย่างฟลอริดา เพนซิวาเนีย โคโลราโด มิชิแกน หรือแอริโซนา จะเกิดภาพเช่นเดียวกับการเลือกตั้งในปี 2000 ที่คะแนนระหว่างประธานาธิบดีบุช (คนลูก) กับ อัล กอร์ (รองประธานาธิบดีสมัยคลินตัน) สูสีมาก ทำให้มีการยื่นฟ้องต่อศาลให้นับคะแนนใหม่ และต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าที่จะประกาศผลอย่างเป็นทางการ

แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าในยุคนั้นคือ การเลือกตั้งในปี 2020 มีอย่างน้อย 3 ประเด็นที่ซับซ้อนกว่า 20 ปีก่อนเป็นอย่างมาก ที่อาจทำให้ผลการเลือกตั้งไม่สามารถสรุปได้โดยง่าย ดังนี้

1.ประเด็นเรื่องคูหาเลือกตั้งที่มีจำนวนลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ โดยในปี 2016 ชาวอเมริกันกว่า 5 แสนคน (ส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี) ลงคะแนนเสียงไม่ทันคูหาปิด (เนื่องจากคูหาไม่เพียงพอต่อผู้มีสิทธิออกเสียง) และปัญหาจะรุนแรงขึ้นในปีนี้เนื่องจาก COVID ทำให้การเข้าแถวเพื่อลงคะแนนในฤดูหนาวทำได้ยากขึ้น และหาอาสาสมัครดูแลคูหายากขึ้น โดยในเมืองที่ใหญ่ที่สุดอย่างมิลวอคกี รัฐวิสคอนซิน จะเหลือเพียง 5 คูหาเลือกตั้ง จาก 180 ในปี 2016

2.การเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นที่ต้องการมากขึ้นจากการระบาดของ COVID โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรค Democrat อย่างไรก็ตาม การที่บางรัฐเพิ่งเริ่มนำรูปแบบการเลือกตั้งทางไปรษณีย์มาใช้ รวมถึงประเด็นการนับคะแนนบัตรจากไปรษณีย์ที่ยากกว่าคะแนนจากคูหา ทำให้คะแนนเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตัวทรัมป์เองที่ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากตัวเองพ่ายแพ้ เพราะเชื่อว่าจะมีการโกงการเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์

3.การแทรกแซงจากต่างชาติ ประเด็นนี้เป็นที่กล่าวถึงอย่างยิ่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ที่มีข่าวว่ารัสเซียได้เข้าแทรกแซง สำหรับในครั้งนี้ ผอ.สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐยอมรับว่าได้มีความพยายามทั้งจากจีน อิหร่าน รวมถึงรัสเซียที่จะเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงการเจาะกระบบคอมพิวเตอร์ของมลรัฐที่เสียงก้ำกึ่ง เพื่อดึงคะแนนให้ไปสู่ผู้สมัครที่ต้องการ

ด้วยประเด็นความเสี่ยงที่มากมายดังกล่าว ทำให้โอกาสที่การเลือกตั้งครั้งนี้จะ จบไม่สวยมีสูงยิ่ง งานวิจัยจาก Transition Integrity Project ที่เป็นคลังสมองเฉพาะกิจได้ทำ Scenario Analysis หรือการวิเคราะห์ในสถานการณ์จำลอง และสามารถแบ่งสถานการณ์หลังวันเลือกตั้งได้เป็น 4 กรณี คือ 1.โจ ไบเดน ได้คะแนนเสียงท่วมท้น 2.โจ ไบเดน ชนะได้อย่างฉิวเฉียด 3.ทรัมป์ชนะเลือกตั้งตามระบบ Electoral Vote แต่จะแพ้ Popular Vote เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว และ 4.ผลการเลือกตั้งไม่ชัดเจน โดยทั้ง 4 สถานการณ์จะนำไปสู่ความขัดแย้งแทบจะในทุกสถานการณ์ โดยกรณีเลวร้ายสุดนั้น ทรัมป์ปฏิเสธที่จะออกจากทำเนียบข่าวและต้องถูกเชิญให้ออกโดยหน่วยงานอารักขาประธานาธิบดี (ที่เคยอารักขาตนเอง)

แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว กรณีที่กังวลที่สุดคือกรณีที่ผู้สมัครทั้งสองต่างออกมาประกาศชัยชนะ โดยหากการนับคะแนนผ่านพ้นไป แล้วเบื้องต้นพบว่าทรัมป์มีคะแนนนำในรัฐสำคัญๆ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 4 พ.ย. แต่ปรากฏว่าหลังคะแนนเสียงจากไปรษณีย์เข้ามามากขึ้นและพบว่าไบเดนมีคะแนนมากขึ้นแซงทรัมป์ ทำให้ไบเดนก็ประกาศชัยชนะเช่นเดียวกัน

หากเกิดกรณีเช่นนี้ เป็นไปได้สูงที่จะเกิดการประท้วงของฐานเสียงทั้งสองฝ่าย รวมถึงเป็นไปได้ที่ผู้ประท้วงจะปะทะกัน และอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง และ/หรือการที่ทรัมป์ออกคำสั่งให้กองกำลังทหารเข้าปราบปราม ซึ่งอาจทำให้สหรัฐเข้าสู่กลียุคได้

แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนั้นย่อมทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนเป็นอันมาก หุ้นอาจจะตกอย่างรุนแรง เกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและหันกลับไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์และทองคำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง และหากสถานการณ์ลากยาวออกไป จะกระทบทั้งความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ บทบาทของสหรัฐในเวทีโลก รวมทั้งความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกที่อาจจะเพิ่มขึ้น ทั้งในคาบสมุทรเกาหลี ตะวันออกกลาง รวมถึงในยุโรปตะวันออก เนื่องจากสหรัฐต้องกลับมาให้ความสำคัญด้านความมั่นคงในประเทศมากกว่า

หาก 2020 เป็นปีอาถรรพณ์ที่โรคระบาดแห่งศตวรรษเกิดขึ้นได้แล้ว โอกาสที่การเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดในโลกจะไร้ซึ่งผู้ชนะก็เป็นสิ่งที่เกิดได้ไม่ยาก นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบายทั้งหลาย อย่าได้ประมาท

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]