สิทธิเกษตรกร UPOV กับข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ (จบ)

สิทธิเกษตรกร UPOV กับข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ (จบ)

ใจความทั้งหมดในวรรคก่อนได้รับความเห็นชอบและลงนามกันในปี 2001 ในรูปของ International Treaty on Plant Genetic Resources (ITPGR)

ซึ่งที่จริงแล้วมีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับ CBD มาก เพียงแต่ว่ามีหลักเกณฑ์การเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานมากกว่า แต่ว่าจะครอบคลุมเฉพาะพืชที่เป็นอาหารและเกษตรกรรมเท่านั้น ในขณะที่ CBD ครอบคลุมพืช ทุกอย่างและสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลงนี้ อย่างไรก็ตาม สิทธิเกษตรกรในการกักเก็บใช้ประโยชน์แลกเปลี่ยน และ ขายเมล็ดพันธุ์ที่มาจากการผลิตเป็นการส่วนตัว อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามประเทศแล้วแต่ว่ากฏหมายภายในได้กำหนดสิทธิ/ข้อจำกัดไว้เพียงใดอย่างไร 

สิทธิเกษตรกรเป็นการตอบแทนคุณูปการของเกษตรกรในการพัฒนาคัดเลือกและรักษาสายพันธุ์พืชก็จริงอยู่ แต่เกษตรกรที่จะได้รับสิทธิเป็นการตอบแทนเป็นเกษตรกรในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับเกษตรกรในอดีตที่สร้างคุณูปการนั้น เกษตรกรที่เป็นผู้พัฒนาพันธุ์พืชมาแล้วในอดีตอาจจะได้รับผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มาแล้วหรือไม่ก็ได้ แต่เท่าที่สังเกตจากเกษตรกรผู้พัฒนาพันธุ์พืชไร่ พืชสวน และ พืชไม้ดอกที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมีส่วนน้อยที่ได้รับประโยชน์จริงๆ ในประเทศไทย นอกจาก บุคคลธรรมดาแล้ว หน่วยงานของรัฐบาลก็เป็นส่วนที่มีบทบาทสูงในการพัฒนาพันธุ์พืชมาเป็นระยะ เวลายาวนาน แต่ว่าในช่วงหลังๆ นี้ ธุรกิจเอกชนเริ่มมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะข้าวโพด และผักชนิดต่างๆ มีเพียงข้าวเท่านั้นที่ธุรกิจเอกชนมีบทบาทน้อย ตัวอย่างข้างต้นมีนัยสำคัญชี้ไปที่ 2 ประเด็นสำคัญคือ ข้าวเป็นพืชที่หน่วยงานราชการและเกษตรกรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสร้างอุปทานพันธุ์พืช โดยคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 65% แต่ว่าข้าวโพดที่หน่วยงานราชการเคย มีบทบาทมายาวนานกลับถูกครอบงำตลาดโดยธุรกิจภาคเอกชน ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจ เอกชนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าภาครัฐบาล ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏอยู่คงจะให้ข้อสรุปได้ว่า บทบาทการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชภาครัฐบาลยังคงมีความจำเป็นในการกำหนดทิศทางที่เป็นผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่จะคานอำนาจผูกขาดของธุรกิจภาคเอกชน 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อีกซีกหนึ่งของตลาดเมล็ดพันธุ์ก็คือ เป็นธุรกิจที่ลอกเลียนแบบได้ง่ายมาก ธุรกิจพัฒนาพันธุ์พืชจึงอาจสร้างผลตอบแทนไม่ได้ดีเท่าที่ควร และไม่สร้างแรงจูงใจให้เข้ามาสู่ธุรกิจนี้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ทำให้ธุรกิจพัฒนาพันธุ์พืชไม่อาจมีอำนาจผูกขาดต่อตลาด การป้องกันการลอกเลียนพันธุ์พืช อาจมีความจำเป็นต้องมีการจดทะเบียนและคุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อให้ผลตอบแทนและแรงจูงใจในการพัฒนาพันธุ์พืชมีมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วแนวโน้มการพัฒนาพันธุ์พืชไทย อาจดีกว่าเดิมก็ได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้และก็สอดคล้องกับหลักการของ UPOV91 เพียงแต่ว่า ประเพณีปฏิบัติของเกษตรกรเกี่ยวกับพันธุ์พืช พันธุ์พืชที่มีอยู่แล้วและ/หรือที่เป็นภูมิปัญญาของ ชาวบ้าน และ การแบ่งปันผลประโยชน์จากพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง จะต้องดำเนินการภายใต้ ITPGR ที่ยินยอมให้มีการออกกฏหมายที่เกี่ยวข้องภายในประเทศของแต่ละประเทศอย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องระมัดระวังในการคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืชใหม่และพันธุ์พืชที่มีอยู่แล้ว ตลอดไปจนถึงการแบ่งปันผลประโยชน์จากพันธุ์พืชที่มีอยู่แล้วก็คือ จะต้องอยู่ภายใต้คณะกรรมการภาครัฐบาลที่เชื่อถือได้ ที่ไม่กระทำการเพื่อเป็นการเอื้อต่ออำนาจผูกขาดของพันธุ์พืชภาคเอกชน นี่คือสิ่งที่ผู้คัดค้าน พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่มีความห่วงใย 

ความห่วงใยอีกส่วนหนึ่งที่มีมายาวนานก็คือ ความเป็นไปได้ที่ธุรกิจพันธุ์พืชต่างประเทศที่มีความสามารถสูงกว่าจะนำพันธุ์พืชในประเทศที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเป็นพันธุ์ใหม่และจดทะเบียนสิทธิบัตรคุ้มครอง โดยที่ไม่ได้ให้ส่วนแบ่งผลประโยชน์แก่ประเทศ/ชุมชนเลย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง การออกกฏหมายให้พันธุ์พืชใหม่ที่พัฒนามาจากพันธุ์ที่มีอยู่แล้วมาทำการจดทะเบียนและต้องเปิดเผยข้อมูลทาง gene พร้อมกับการให้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จึงมีความสำคัญ ส่วนการแบ่งผลประโยชน์จะเป็นอย่างไรนั้น ผู้เขียนได้ให้หลักการไว้แล้วในบทความ CPTPP ว่าควรจะเป็นไปตาม Marginal productivity ของพันธุ์พืชใหม่ที่เพิ่มเติมไปจากพันธุ์เดิม ที่ตั้งต้นมาที่ควรจะเป็นของผู้พัฒนาพันธุ์ ส่วนที่เหลือจะเป็นของประเทศ/ชุมชน 

โดยภาพรวมแล้ว การยอมรับข้อตกลง UPOV91 อาจจะไม่ใช่การทำเพราะการบีบบังคับโดย CPTPP หรือ มหาอำนาจเลยทีเดียวนัก ความจำเป็นที่จะต้องมีการจดทะเบียนสิทธิบัตรรับรองพันธุ์พืชใหม่เป็นไปเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งอาจส่งผลที่ดีกว่าในสภาพที่ไม่มีการคุ้มครองก็ได้ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะต้องดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์โดยชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นตัวคานอำนาจธุรกิจภาคเอกชน การคุ้มครองพันธ์ที่มีอยู่แล้วให้เป็นผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติและเรียกส่วนแบ่งพันธุ์พืชใหม่ที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว โดยแบ่ง marginal product ให้แก่ผู้พัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้ต่างประเทศมาจับจองสายพันธุ์เพื่อส่งออกเป็นผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนต่างประเทศ ส่วนแบ่งที่เราได้มาก็จะสามารถใช้กับการส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ของภาคเอกชน ไทยที่อาจมารับงาน/บทบาทการพัฒนาสายพันธุ์แทนภาครัฐบาลที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วในกรณีของข้าวโพดและผักต่าง ๆ ในการนี้ ภาครัฐบาลที่จะต้องดำเนินการตามกฏหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ก็จะต้องมีโครงสร้างที่มีความเป็นกลางและยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่ใช่ปล่อยให้ภาคเอกชนต่างประเทศมาครอบงำภาคเกษตรกรรมของไทย ที่คงจะต้องกล่าวว่ามีขีดความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก 

ดังนั้น โครงสร้างการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ภาคเกษตรกรรมไทย จะต้องมีความสมดุลระหว่างส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ เกษตรกร ภาครัฐบาลในเชิงของ การพัฒนาสายพันธุ์ ชุมชน/ธุรกิจเอกชนไทยที่พัฒนาสายพันธุ์ ธุรกิจเอกชนต่างประเทศที่พัฒนา สายพันธุ์ กฏหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ และ ภาครัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินการตามกฏหมาย โดยที่จะต้องมีการคุ้มครองสายพันธุ์พืชที่มีอยู่แล้ว มีการจดทะเบียนสายพันธุ์ใหม่และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ผู้พัฒนาสายพันธุ์เฉพาะ Marginal product 

การคัดค้าน UPOV91 ด้วยตัวมันเองเดี่ยวๆ เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่อมี ITPGR ที่เป็นส่วนเติมเต็มให้หมดข้อห่วงใยต่อการครอบงำของมหาอำนาจต่างประเทศจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรพิจารณา โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐอเมริกายอมรับ ข้อตกลงทั้งสองส่วนนี้ 

ที่มา: 大川雅夫 新野孝雄 白田和人 長峰 司 (2012) “農民の権利に係る国際状況と我が国の現状に対する提言”, 育種学研究, 14: 1-8.

大島立大 “育成者の権利 と 農民の権利”, 農林水産省 食糧局 新事業創出課 課長補佐(国際企画班), 平成24年11月22日, ppt, 21p.