ฝันเอาเหอะ “นักการเมือง” ในอุดมคติ

ฝันเอาเหอะ “นักการเมือง” ในอุดมคติ

ยังไม่ถึง 3 เดือนของการปฏิบัติหน้าที่ “ส.ส.” ฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย

นับจากวันปฏิญาณตนต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ลายก็ออกเสียแล้ว

อย่างเคสล่าสุดที่ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ระหว่างพูดคุยกับพ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รองผู้กำกับป้องกันปราบปราม สภ.กะรน จ.ภูเก็ต

ตามภาษาโซเชียลมีเดีย บัญญัติพฤติกรรมนั้นว่ากร่างปมเหตุสำคัญตามรายละเอียดที่คลิปวีดิโอปรากฏ คือ เหมือนไม่พอใจที่ ตำรวจในพื้นที่ไม่มาอำนวยความสะดวก และคุ้มครองความปลอดภัย หลังจากเลือกลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ของชาวบ้าน ต่อโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในพื้นที่ที่ได้รับเอกสารสิทธิไม่ชอบ และคาดว่าการลงพื้นที่ “สิระคือเป้าหมายคนมาปองร้าย

กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น สังคมออนไลน์ วิจารณ์กันอย่างมันปากว่า หากเป็นนิสัยส่วนตัวที่เขาเคยเป็นมาก่อน และใช้นิสัยนั้นด้วยการไม่อ้างถึงตำแหน่ง “ส.ส.” ย่อมทำได้ แต่คำพูดที่ปรากฏผ่านคลิปวีดิโอนั้น “สิระ” ใช้คำว่า เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้มีเกียรติ และเป็นส.ส.ที่ลงพื้นที่ทำงานเพื่อบ้านเมือง ดังนั้นต้องมีคนดูแล จึงถือว่าเป็นการอ้างเอกสิทธิ์ที่ ก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของ ข้าราชการหรือไม่

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 วางบรรทัดฐานให้ “ส.ส.” ประพฤติตัว โดย “ห้ามใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะก้าวก่าย หรือ แทรกแซงการปฏิบัติราชการ หรือการทำหน้าที่ของข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ดังนั้นหากมีผู้ใด ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบผ่านองค์กรที่มีหน้าที่ และมีความผิด สถานะภาพของ “ส.ส.” อาจจะสิ้นสุดลง เพราะการกระทำที่มีลักษณะขัดต่อ มาตรา 185 นั้น เป็น 1 ในสิ่งที่ทำให้สมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตามเข้าใจว่า ผู้ที่ตั้งใจเขียนเนื้อหาที่เป็นบรรทัดฐานที่ต้องปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในรัฐธรรมนูญ และ โยงถึงมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อสร้าง นักการเมืองที่ดี​ ในอุดมคติที่สังคม และตามมุมมองของ ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ คาดหวัง

แต่เมื่อผ่านการเปิดสภาฯ เพื่อให้ ผู้แทนปวงชนชาวไทย ได้ทำหน้าที่ “ส.ส.” กลับพบว่ามีการกระทำที่ ฝ่าฝืนและดูเหมือนว่า กติกาเพื่อสร้างคนการเมืองในอุดมคติ จะพ่ายให้กับนิสัยเดิมของบุคคลที่เคยเป็นมา

โดย... เทพจร