Face Recognition ตรวจสอบ-จดจำใบหน้าด้วย 'เอไอ'

Face Recognition ตรวจสอบ-จดจำใบหน้าด้วย 'เอไอ'

แบรนด์สามารถเข้าถึงข้อมูลและความต้องการของลูกค้า สร้างแผนการตลาด เพิ่มโอกาสในการส่งมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับลูกค้าแบบรายบุคคล

ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างมาก โดยการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยหลายรูปแบบ รวมถึงการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence-AI) ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของทั้งไทยและต่างประเทศต่อการนำมาประยุกต์ใช้กันแพร่หลาย 

“เทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้า (Face Recognition)” เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบุ และยืนยันอัตลักษณ์บุคคลด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถเพิ่มโอกาสในการต่อยอดความสำเร็จให้หลากหลายแวดวงธุรกิจได้ด้วย 

เทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้า คือ ความก้าวหน้าของการพัฒนาศักยภาพการทำงานเอไอด้วยระบบ แมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) สร้างเป็นระบบประมวลผลที่สามารถตรวจจับใบหน้า (detect) และระบุตัวตน (identify) ได้ทั้งลักษณะภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกไว้ ตลอดจนการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ (real time) ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี Face Recognition มาใช้ด้านต่างๆ ทั้งระบบรักษาความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์และต่อยอดสู่การตลาดในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป

หลักการทำงานของ Face Recognition คือ การสร้างโมเดลการอ้างอิง ที่เรียกว่า “faceprint” ขึ้นมา โดยระบบจะวิเคราะห์จากลักษณะเฉพาะต่างๆ บนใบหน้า เช่น โครงหน้า ความกว้างของจมูก ระยะห่างระหว่างตาทั้งสองข้าง ขนาดของโหนกแก้ม ความลึกของเบ้าตา รวมถึงพื้นผิวบนใบหน้า (facial texture) เป็นต้น จากนั้น ระบบจะทำการสร้างจุดเชื่อมโยงบนใบหน้า (nodal points) เพื่อเปรียบเทียบกับรูปภาพที่ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูล (data base) ทั้งในลักษณะภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อความแม่นยำในการระบุตัวตนของผู้ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ

โดยทั่วไป Face Recognition มักถูกนำมาใช้ในขอบข่ายงานที่เข้มงวดเรื่องความปลอดภัย เช่น ระบบตรวจสอบบุคคลเข้า-ออกพื้นที่ (Access Control System) อาคารสำนักงาน พื้นที่ปฏิบัติการภายในสนามบิน สถาบันวิทยาศาสตร์และการแพทย์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการจำกัดสิทธิ์การเข้าถึง รวมถึงการใช้งานควบคู่กับกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบใบหน้าของผู้ต้องสงสัย เพื่ออ้างอิงกับฐานข้อมูลอาชญากร ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งสามารถประยุกต์ใช้กับระบบเก็บข้อมูลและบันทึกเวลาทำงาน (Time Attendance) ของพนักงานบริษัทได้อีกด้วย 

หากพิจารณาถึงหลักการทำงานดังกล่าว จะพบว่า จริงๆ แล้วพวกเรามีความคุ้นเคยและมีประสบการณ์การใช้งาน Face Recognition ในชีวิตประจำวันกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ระบบ Face ID ที่ใช้ปลดล็อกการเข้าใช้งานสมาร์ทโฟน การสแกนใบหน้าเพื่อการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคาร และการชำระสินค้าและบริการผ่านระบบ อี-เพย์เม้นท์ ยิ่งไปกว่านั้น Face Recognition ยังสามารถสนับสนุนงานด้านบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้ระบบจดจำใบหน้าบริเวณจุดเช็คอินและ boarding gate ในสนามบินแทนการใช้ boarding pass เพื่อความสะดวกและรวดเร็วระหว่างการเดินทาง สร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ (seamless experience) แก่ผู้โดยสาร 

รวมถึงงานด้านการตลาด ด้วยระบบการจดจำใบหน้าลูกค้าวีไอพี ช่วยให้เจ้าของแบรนด์สามารถเข้าถึงข้อมูลและความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างแผนการตลาด และเพิ่มโอกาสในการส่งมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับลูกค้าแบบรายบุคคล (customized) ได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี Face Recognition ยังคงมีข้อจำกัด เช่น ระบบไม่สามารถจับภาพหรือมีแนวโน้มจะแสดงผลคลาดเคลื่อนเมื่อคนผิวสีเข้มเข้าใช้งาน ซึ่งเกิดจากการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างไม่เพียงพอหรือจำกัดเพียงคนเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น จึงควรมีการเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มตัวอย่างให้มากที่สุด 

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการเคารพความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีภายใต้ขอบเขตการที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนมีการวางแผนการเก็บและจำแนกประเภทข้อมูลอย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอน เพื่อสนับสนุนให้ระบบเอไอเกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง