อุดมการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาชาติ ตอนที่3

อุดมการณ์ทางการเมืองและการพัฒนาชาติ ตอนที่3

ต่อเนื่องจากบทความตอนที่ 2 ได้ขยายภาพกระบวนการก่อนการเลือกตั้ง ในรูปแบบการหาเสียง ประกาศนโยบาย

ทั้งที่ในความเป็นจริงเมื่อต้องบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งแล้ว นโยบายและแนวทางต่างๆ ที่ระบุไว้ในช่วงก่อนการเลือกตั้งก็ไม่อาจปฎิบัติได้จริง พร้อมยกตัวอย่างข้อเท็จจริงจากนโยบายต่างๆ ที่ผ่านมา... แล้วปัญหาและทางออกของกระบวนที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยนี้คืออะไร ติดตามได้ในบทความตอนจบนี้

ระบอบประชาธิปไตยคงไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจได้ทุกอย่าง หากระบอบถูกใช้ไปเพียงเพื่อเป็นแนวทางสู่อำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น เพื่อที่จะรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงทนอยู่ได้จึงต้องการความเข้าใจร่วมกัน ที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกันได้ แต่ก็ต้องเป็นเวทีให้รับฟังกันให้ชัดเจน และการร่วมกันสร้างแนวทางที่จะนำแนวคิดในการแก้ปัญหามาประกอบกันให้เป็นนโยบายที่เป็นการวางยาที่รักษาไข้อย่างถูกต้องได้ 

ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาถึง 12 แผนแล้ว เป็นเวลานานเกือบ 60 ปี ประเทศผ่านปัญหาและวิกฤตการณ์มาแล้วแทบจะทุกรูปแบบ และได้มีการวางมาตรการ ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขมาแล้วในทุกแผนงาน แม้ว่าเรายังมีปัญหาอยู่อีกหลายด้านที่ต้องการการเยียวยาแก้ไข เราก็ควรต้องยอมรับว่าประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในภาคส่วนที่ดำเนินการไปได้ด้วยดี ก็มีการสะสมร่วมกันมา แต่ในอดีตจากรัฐบาลสู่รัฐบาล จากพรรคการเมืองหนึ่งสู่อีกพรรคการเมืองหนึ่ง ในด้านเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะเช่นในเรื่องของอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยไม่ได้ต่ำจนเกินไปนัก 

ในขณะที่ภาระหนี้สินของภาครัฐอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน การสะสมเงินทุนสำรองอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในระดับเดียวกัน (เช่น เงินทุนสำรองของไทยอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับ 2 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่เวียดนามมีเงินทุนสำรองต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของไทย เป็นต้น) และการมีเสถียรภาพของค่าเงิน ทั้งหมดนี้เป็นการสะสมของการวางนโยบายร่วมกันผ่านกาลเวลาที่ยาวนานและสามารถบรรลุผลสำเร็จ ที่ทำให้ไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินที่หาประเทศอื่นเทียบได้ยาก

อุดมการณ์ของประชาธิปไตยโดยสำคัญเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างถึงรากถึงโคน จึงจะต้องมีความเป็นไปได้เมื่อนำมาปฏิบัติในสภาพความเป็นจริงและดำเนินการส่วนใหญ่ในระยะยาวพอสมควรโดยมีความต่อเนื่องจึงจะบังเกิดผลอย่างแท้จริง อดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู ของสิงคโปร์เคยกล่าวให้ผมฟังว่า ปัญหาของไทยอยู่ที่การดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาวและมีความคงเส้นคงวา ถ้าอุดมการณ์ทางการเมืองของไทยไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีนโยบายที่ต่อเนื่องและรับช่วงกันได้จากรัฐบาลต่อรัฐบาล จากพรรคการเมืองต่อพรรคการเมือง โดยให้มีเวลานำมาปฏิบัติได้อย่างจริงจังก็ถึงจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรัง โดยเฉพาะทางโครงสร้าง 

ตัวอย่างเช่น การปฏิรูประบบการศึกษาไทยที่ทุกพรรคการเมืองเน้นตรงกันว่าจะต้องนำมาปฏิบัติอย่างเร่งรัด ต้องการความต่อเนื่องในระยะยาวจึงจะบังเกิดผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการสอน วิธีการเรียนรู้ ทั้งหมดต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงบั้นปลายของชีวิต การดูแลให้คนหนุ่มสาวมีบทบาทในการบริหารชาติบ้านเมืองมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ต้องไม่ละเลยผู้ที่ได้เคยมีประสบการณ์ทำงานให้กับบ้านเมืองมาแล้วตั้งแต่อดีตกาล รวมถึงต้องไม่ลืมที่จะดูแลผู้สูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้นและมีสัดส่วนที่สูงขึ้นต่อประชากรทั้งหมด ซึ่งแท้ที่จริงก็แสดงถึงคุณภาพของชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งก็เป็นผลจากการพัฒนาที่พวกเราทุกหมู่เหล่าร่วมการสะสมมาตั้งแต่อดีต 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของการใช้ระบอบประชาธิปไตยตามรูปแบบของความเป็นจริง การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องโดยอยู่บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์การพัฒนาที่สะสมกันมาโดยมีทุกคนเป็นเจ้าของ

โดย... ศุภชัย พานิชภักดิ์