“ชงชา” เคียงคู่ “หาปลา” สไตล์ Workpoint News ***

 “ชงชา” เคียงคู่ “หาปลา” สไตล์ Workpoint News ***

สามตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนพูดถึงบทเรียนจาก New York Times กับ Washington Post สองสื่อยักษ์ระดับโลกจากสหรัฐ ซึ่งใช้แนวทางคล้ายกันอย่างน่าสนใจ

นั่นก็คือเริ่มต้นจากการรักษา “จุดแข็ง” ของค่าย ปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีนำเสนอให้เข้ากับพื้นที่ออนไลน์ และโดนใจผู้ใช้เน็ต ผลิต “วารสารศาสตร์ที่ควรค่าแก่การจ่ายเงินซื้อ” ซึ่งมีคุณค่า และแตกต่างจากเนื้อหาฟรีออนไลน์ทั้งหลายอย่างชัดเจน แล้วก็ขอให้คนอ่านจ่ายเงินซื้อ

วันนี้ได้ฤกษ์ข้ามทวีปกลับมาดูการปรับตัวของสื่อไทยกันต่อ

ในบรรดาค่ายสื่อชื่อดังในไทยที่กำลังปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลทุกวันนี้ ผู้เขียนคิดว่า “Workpoint News” ทีมข่าวของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เวิร์คพอยท์สร้างชื่อจากการเป็น “ทีวีแนวบันเทิง” ผู้ผลิตรายการบันเทิงที่ดังทะลุฟ้าหลายรายการ โดยเฉพาะรายการตลก เกมโชว์ และวันนี้ก็เป็นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนน้อยในไทยที่ยังทำกำไร และได้กำไรมากขึ้นทุกปี

เมื่อไม่นานมานี้ รายการประกวดร้องเพลง “The Mask Singer” ของค่าย ได้รับความนิยมจากทุกช่องทางจนทุบสถิติต่างๆ อย่างย่อยยับเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เป็นรายการของช่องทีวีดิจิทัลรายการแรกที่ได้เรทติ้งสูงกว่า 10 แซงหน้าละครหลังข่าวช่อง 3 และ 7 ซึ่งเคยครองความสนใจหน้าจอแก้วของคนไทยในช่วงเวลา 2-4 ทุ่ม ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี

ในพื้นที่ออนไลน์ การไลฟ์สดพร้อมทีวี รอบ “แชมป์ชนแชมป์” ของรายการนี้ ทำสถิติผู้เข้าชมสูงถึง 4.6 ล้านวิว บนเพจเฟซบุ๊กของค่าย และแท็ก #themasksinger ก็ได้แรงส่งของแฟนๆ รุมทวีตจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับที่ 2 ของโลกในช่วงที่ทะยานสูงสุด

ปัจจุบันมีคนโหลดแอพพลิเคชั่นเวิร์คพอยท์มาดูบนมือถือกว่า 2 ล้านคน ยอดรับชม (ยอดวิว) คลิปทั้งหมดของช่องบนยูทูบรวมกันเกือบ 20 ล้านวิวต่อวัน

พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า คนไทยเสพเนื้อหาออนไลน์กันเป็นล่ำเป็นสัน และถ้าเนื้อหาโดนใจคนจริงๆ รายได้(โฆษณา)ก็มา

เมื่อหันมาดูด้านข่าว คำถามที่ท้าทายสำหรับเวิร์คพอยท์วันนี้จึงอยู่ที่ว่า ทีมข่าวจะ leverage หรือใช้ประโยชน์จากความดังและความเชี่ยวชาญของแบรนด์ที่ “เด่นเรื่องบันเทิง”ได้หรือไม่ อย่างไร

เนื้อหาข่าวที่ผลิตนั้นจะสามารถรักษาคุณค่าของความเป็น “ข่าว” (ความเป็นภววิสัย ถูกต้อง เที่ยงตรง เป็นประโยชน์สาธารณะ แยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างข้อเท็จจริงกับความเห็น ฯลฯ) ได้มากน้อยเพียงใด กับแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องตลกและบันเทิง ต้องทำแต่ “ข่าวชาวบ้าน” (ข่าวอาชญากรรม ใต้เตียงดารา ไสยศาสตร์ ฯลฯ) เท่านั้นหรือไม่เพื่อให้ตรงกับแบรนด์?

ชัดเจนว่าเวิร์คพอยท์ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ กับพื้นที่ออนไลน์ และพยายามทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การลองปล่อยรายการบางรายการออนไลน์ก่อนที่จะฉายทางทีวี จนถึงการผลิตรายการข่าวออนไลน์เท่านั้น (online only) ในรูปแบบที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากรายการข่าวทีวี

ยกตัวอย่างเช่น รายการ “ติ่งข่าว” อัพโหลดเป็นคลิปลงเพจ เวิร์คพอยท์ นิวส์ และยูทูบ จัดโดย สมภพ “ติ่ง” รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว เวิร์คพอยท์ทีวี เป็นรายการเล่าข่าวรายสัปดาห์แบบสบายๆ เหมือนเพื่อนมาเล่าให้ฟัง ทั้งรายการใช้คำบ้านๆ (ที่หลายคนมองว่าหยาบคาย) อย่าง “แดก” “มึง” “กู” (ตัวอย่าง https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/554343934934889/)

ชัดเจนว่าเจตนาให้คนฟังได้ความ “สนุก” และ “ตลก” ไม่ต่างจากดูละครหลังข่าวหรือเกมโชว์ของช่อง

เมื่อไม่นานมานี้ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์เริ่มผลิตคลิปข่าวสั้น (ครึ่งถึงสองนาที) ภายใต้ชื่อรายการ “Workpoint Shorts” ค้นหาได้ด้วยแท็ก #WorkpointSHORTS ในทวิตเตอร์ และติดตามได้จากเพจ เวิร์คพอยท์ นิวส์ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/WorkpointShorts

ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับ นภพัฒน์จักษ์ “เอม” อัตตนนท์ ผู้อำนวยการรายการ และหัวหอกของทีมข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์ เกี่ยวกับปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ของทีมเขา

เอมบอกว่า วันนี้ทีมเขามีสมาชิกทั้งหมด 8 คน แบ่งเป็นนักข่าว 6 คน คนตัดต่อ 2 คน นับว่าเล็กเมื่อเทียบกับทีมงาน 30 กว่าคน ของฝ่ายข่าวทีวี แต่ไม่เล็กเมื่อมองออนไลน์ นักข่าวแต่ละคนต้องผลิตคลิปให้ได้วันละ 1 ชิ้นต่อคน

เท่ากับว่าแต่ละวันจะมี 3-8 ชิ้น ความยาวพยายามตัดให้ได้ชิ้นละอย่างต่ำ 90 วินาทีหรือนาทีครึ่ง เพราะจะได้ใส่แบนเนอร์โฆษณาบนเฟซบุ๊กได้ แต่ไม่เกิน 3 นาที คลิปทั้งหมดปล่อยขึ้นเฟซบุ๊ก เว็บเวิร์คพอยท์ ทวิตเตอร์ และยูทูบ

ทีมข่าวออนไลน์มีอิสระค่อนข้างเต็มที่ในการเลือกประเด็นข่าวที่อยากทำ ทุกเช้าทีมจะคุยงานกันทางไลน์ และช่วยกันเป็นแอดมินในเฟซบุ๊ก

วันนี้ข่าวทีวีกับข่าวออนไลน์ยังไม่ทำข่าวชนกัน สมภพ รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว บอกเอมว่า “ปล่อยให้พวกกูหาปลา พวกมึงก็ชงชาไป” สื่อนัยว่าข่าวออนไลน์ไม่จำเป็นจะต้องเน้นข่าวสีสันหรือ “ข่าวชาวบ้าน” เหมือนกับข่าวทีวี แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องศึกษาพฤติกรรมคนดูตลอดเวลา เพราะทุกวันนี้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด

เอมบอกว่าการเป็นส่วนหนึ่งของเวิร์คพอยท์ทำให้เขาได้อานิสงส์หลายอย่าง ตั้งแต่การได้ยอดวิวหลักแสนขึ้นไป เวลาเอาชิ้นงานไปแปะบนเพจ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ และการได้ทำข่าวเอ็กซ์คลูซีฟที่พ่วงไปกับจุดแข็งด้านบันเทิงของค่าย เช่น เวลาที่เวิร์คพอยท์ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งเกม RoV (เกมมือถือที่มีคนไทยเล่นสูงสุด ยอดดาวน์โหลดกว่า 10 ล้านครั้ง) ทีมข่าวออนไลน์ก็ติดตามไปทำข่าวเรื่อง e-sport (การแข่งเล่นเกม)

เมื่อถามถึงชิ้นงาน Workpoint Shorts ที่เขาชอบ เอมบอกว่ามีหลายชิ้น ยกตัวอย่างชิ้นที่อธิบายความหมายของป้ายรถเมล์แบบใหม่ (ดูได้จากhttps://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/494889114213705/) เพราะเขามองว่า เป็นตัวอย่างที่ดีของ “วารสารศาสตร์เชิงอธิบาย” (explanatory journalism) ซึ่งมีคุณค่าชัดเจนและไม่ล้าสมัยเหมือนข่าวประจำวัน เพราะใครที่อยากรู้ความหมายก็มาดูใหม่ได้ทุกเมื่อ

ถามว่าเขาอยากทำอะไรในอนาคตอันใกล้ เอมตอบทันทีว่า เขาอยากพัฒนาทีมอ่านข่าว อยากเล่น “เรื่องยาก” อย่างเช่นสิทธิมนุษยชน ให้เข้าถึงคนมากขึ้น และอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ข่าวให้หลากหลายกว่าเดิม โดยคิดในมุมของการสร้างรายได้ด้วย เพราะ “ถ้าเราหาเงินได้ เราก็จะใช้เงินได้อย่างสบายใจขึ้น และอยากพิสูจน์ดูว่าท้ายสุดแล้ว การทำข่าวหรือคอนเทนท์ที่มีประโยชน์นั้นควรจะอยู่รอดทางการเงินได้ด้วยตัวเอง”

ทั้งหมดนี้คือก้าวเล็กๆ หลายก้าวที่น่าจับตา ของทีมข่าวออนไลน์น้องใหม่ ภายใต้แบรนด์สื่อบันเทิงชื่อดัง

*** ชื่อเต็มเรื่อง สื่อในศตวรรษที่ 21 (10): “ชงชา” เคียงคู่ “หาปลา” สไตล์ Workpoint News