เหตุใดเด็กไทย ‘ปัญญาทึบ’ หนักขึ้น

เหตุใดเด็กไทย ‘ปัญญาทึบ’ หนักขึ้น

ผลวิจัยบอกว่าเด็กไทยกำลังมีปัญหา “ปัญญาทึบ” เพราะโดยเฉลี่ย ไอคิวต่ำกว่า 100

 เหตุเพราะวิธีการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ระบบการศึกษา และผลจาก สังคมก้มหน้า เพราะติดกับดักเทคโนโลยี

อย่าได้ตกใจถ้านักวิชาการที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้บอกว่าในบางระดับของนักเรียนไทยแพ้กัมพูชาเพื่อนบ้านเราแล้ว

ผลวิจัยของแพทย์หญิงจันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวบอกด้วยว่า เด็กสมัยนี้ถูกเลี้ยงแบบ เทวดา คือไม่ให้ทำอะไรเลย ให้เรียนหนังสืออย่างเดียว ต่างจากสมัยก่อนที่พ่อแม่ทำนา ลูกต้องช่วยทำนา และช่วยงานในบ้านทั้งหลาย

นี่ไม่ได้จำกัดเฉพาะพ่อแม่ฐานะดีเท่านั้นที่เลี้ยงลูกแบบนี้ ครอบครัวชนชั้นกลาง และที่มีฐานะลำบากก็เลี้ยงลูกแบบเดียวกัน ด้วยความเชื่อที่ว่าไม่ต้องการให้ลูก “ลำบาก” จึงไม่ให้ทำอะไร

คุณหมอจันทร์เพ็ญเล่าว่าผู้ปกครองบางคนไปโรงเรียนเพื่อไปต่อว่าครู ที่มอบงานให้กับลูกของตนเองในการหัดทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ผู้ปกครองคนนั้นต่อว่าครูว่า ฉันเสียเงินส่งลูกมาเรียนหนังสือ ไม่ได้ให้มาปลูกผัก

แสดงว่าพ่อแม่ผู้ปกครองวันนี้ไม่เข้าใจว่าคำว่า การศึกษา ไม่ได้หมายถึงการท่องอ่านหนังสือในห้องเรียนอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่การสอนให้เด็กรู้จักทดลอง ทำผิดทำถูก และสามารถทำงานร่วมกับเพื่อน มีความเสียสละ และรู้จักการให้อภัย ไม่มุ่งแต่จะทำอะไรเพื่อตัวเองเท่านั้น

เหตุใดเด็กไทย ‘ปัญญาทึบ’ หนักขึ้น

นักวิจัยด้านนี้บอกว่าจะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองว่า เด็กไอคิวสูง ไม่ได้หมายถึงเรียนเก่ง แต่หมายถึงรู้จักใช้ชีวิต คิดสร้างสรรค์ ทำงานเป็น พึ่งพาตัวเองและเป็นที่พึ่งพาของคนอื่นได้

อย่าเลี้ยงลูกแบบเทวดาเพราะจะทำให้ไอคิวต่ำ คุณหมอจันทร์เพ็ญยืนยัน อธิบายว่าเด็กไอคิวต่ำคือ เด็กที่มีอายุสมองต่ำกว่าอายุจริง เช่นเด็ก 10 ขวบควรมีสมองอายุ 10 ขวบ แต่เด็กไทยมีอายุสมองเพียง 8 ขวบโดยเฉลี่ย

สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยไอคิวต่ำตั้งแต่ขวบปีแรกมาจากสิ่งแวดล้อม พ่อแม่ โรงเรียนที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาของเด็ก จึงทำให้ถดถอย

อาจารย์จันทร์เพ็ญบอกว่า เด็กอายุ 1 ถึง 6 ขวบไม่ควรจะดูทีวีหรือแทบเล็ต เพราะจะได้แรงกระตุ้นจากเนื้อหาที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และพ่อแม่ควรจะต้องให้เวลาที่มีคุณภาพกับเด็กอย่างเป็นระบบ จะอ้างว่าไม่ว่างหรือมีงานมากไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดก็อยู่ที่การบริหารเวลาของผู้ปกครองเอง

ศัพท์อีกคำในวงการนี้คือ กำพร้าเทียม ซึ่งหมายถึงเด็กที่มีพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่พ่อแม่ไม่เคยเลี้ยงดู ปล่อยให้คนเลี้ยงหรือคุณปู่คุณย่าเลี้ยงหลานแทน ทำให้ขาดความอบอุ่นและใกล้ชิด

เมื่อมีพ่อแม่ก็เหมือนไม่มี จึงเป็นที่มาของ “กำพร้าเทียม” ที่ได้กลายเป็นปัญหาสังคมในวันนี้อย่างน่ากลัว

สภาพของ สังคมก้มหน้าก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งแห่งการทำให้ไอคิวเด็กไทยต่ำลง

เมื่อต่างคนในบ้านต่างก็ก้มหน้าดูมือถือตัวเอง ทั้งพ่อแม่ลูกเล็กใหญ่ต่างก็สนใจกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ขาดการพูดจาแลกเปลี่ยนกันแม้บนโต๊ะอาหารระหว่างสมาชิกในครอบครัว ก็ย่อมทำให้เกิดช่องว่างของการสื่อสารเรียนรู้และความผูกพันระหว่างกัน

ไม่ว่าจะเป็นไอคิวอีคิวก็เป็นปัญหาที่ต้องให้ อิ๊กคิวซังมาช่วยคิดหาทางออกให้เพราะพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะ นำทาง และให้ความอบอุ่นอย่างที่ควรจะเป็นอีกต่อไป!