อาเซียน 46 ปี อาเซียนสปิริต

อาเซียน 46 ปี อาเซียนสปิริต

วันที่ 8 ส.ค.นี้จะเป็นวันครบรอบ 46 ปีการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน

ซึ่งตั้งขึ้น ณ วังสราญรมย์ กระทรวงการต่างประเทศ มีสมาชิกเริ่มแรก 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย และรับบรูไน ดารุสซาลามร่วมม.ค. 2527 เวียดนาม ก.ค. 2538 ลาวและพม่าร่วมก.ค. 2540 และกัมพูชาเม.ย. 2542

อีก 2 ปีเศษอาเซียนจะก้าวสู่การเป็นประชาคม มีความร่วมมือที่ลึกซึ้งมากขึ้น เป็นอนาคตของภูมิภาคนี้ ที่จะสร้างความโดดเด่นขึ้นมาเป็นดาวรุ่งในเวทีโลกอย่างที่หลายฝ่ายจับตามอง แต่หนทางไปสู่ประชาคมยังมีอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ สปิริต ของอาเซียน

มักถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เสมอว่าอาเซียนดีแต่พูด แต่ไม่ลงมือทำ อาเซียนเปิดประตูบานหนึ่งนำไปสู่ความร่วมมือ แต่กลับสร้างประตูบานที่สองเพื่อสกัดกั้นความร่วมมือที่ตกลงกันไว้

วันที่ 18-21 ส.ค.นี้จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีเอ็ม ณ กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ฝ่ายไทยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะในการเข้าประชุม

การประชุมรอบนี้นอกจากเป็นการหารือกันระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อวางรากฐานอนาคตของอาเซียนสำหรับการเป็นเออีซี แล้ว รัฐมนตรีจะมีการประชุมหารือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐ และรัสเซีย พร้อมกับวาระที่รัฐมนตรีจะประชุมหารือกับภาคเอกชน เพื่อแก้ไขอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนให้กับภาคธุรกิจ

ประเด็นการก้าวสู่เออีซี รัฐมนตรีจะติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติตามพิมพ์เขียวของอาเซียน หรือที่เรียกกันว่าเออีซี บลูพรินท์ ที่กำหนดแนวทางการทำงานของแต่ละประเทศเอาไว้ ซึ่งจะมีการติดตามว่าใครทำอะไรไปถึงไหนกันแล้ว ถ้าใครยังอืดอาดชักช้า ก็ต้องเร่ง ต้องผลักดันให้ทำกันต่อไป

แน่นอนประเด็นที่เออีเอ็มจะต้องถกเถียงกันมาก ในการประชุมรอบนี้ หนีไม่พ้นเรื่องแนวทางการลดเลิกมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี หรือ NTMs ซึ่งเปรียบเสมือนประตูบานที่สอง ที่หลายๆ ประเทศเริ่มนำมาใช้กันเพิ่มมากขึ้น และหากปล่อยไว้เช่นนี้ ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการกีดกันไม่ให้การค้าขยายตัว

เวทีนี้จะยังต้องหารือความคืบหน้าการเปิดเสรีด้านการค้าบริการ ที่จะต้องมีความลึก ความเข้มข้นมากขึ้น รวมไปถึงการวางอนาคตของอาเซียนหลังจากที่เป็นเออีซีแล้ว จะไปทิศทางใด อาเซียนกำลังเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ร่วมกับ 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะแม่งานหลักการเจรจาการค้าของไทย คาดหวังว่าการประชุมเออีเอ็มรอบนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยต่อภูภาคอาเซียน รวมทั้งความพร้อมการเป็นศูนย์กลาง ทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนของไทยสู่อาเซียน ขณะที่อาเซียนจะสามารถกำหนดทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ภายหลังจากการบรรลุเป้าหมายเออีซีปี 2558 ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค และเอื้อประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตและการลงทุน

46 ปีอาเซียนเดินทางมาไกลแล้ว แต่เป็นการเดินในวิถีอาเซียน เป็นความร่วมมือที่ยังต้องการเพิ่มสปิริต

เป็นสปิริตซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการไปสู่อนาคต เป็นอนาคตในเวทีโลก