อเมริกาป้องกันโลกร้อนได้จริงหรือ? | ไสว บุญมา

อเมริกาป้องกันโลกร้อนได้จริงหรือ? | ไสว บุญมา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังวุฒิสภาอเมริกันผ่านร่างกฎหมายฉบับสำคัญที่สมาชิกต่อรองกันมากว่าปี มีกัลยาณมิตรถามผมทันทีว่า กฎหมายฉบับนั้นจะช่วยป้องกันปัญหาอันเกิดจากภาวะโลกร้อนได้จริงหรือไม่ ผมตอบสั้นๆ ว่า น่าจะช่วยได้บ้าง แต่ยังมีปัจจัยสำคัญๆ อีกมาก

ร่างกฎหมายดังกล่าวชื่อ “บัญญัติลดเงินเฟื้อ” ประกอบด้วยมาตรการจำนวนมากที่ครอบคลุม 3 ภาคด้วยกันคือ ภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม และภาคภูมิอากาศ ขั้นต่อไป ร่างกฎหมายนั้นจะได้รับการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรายงานบ่งว่าจะทำกันในวันนี้ สภาผู้แทนฯ อาจจะขอปรับเปลี่ยนบ้าง

อย่างไรก็ดี ผู้สันทัดกรณีต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การปรับเปลี่ยนจะไม่กระทบสาระสำคัญนัก เนื่องจากสภาฯ นั้น พรรคของประธานาธิบดีไบเดนคุมเสียงข้างมากและอีกไม่กี่วันจะลงนามประกาศใช้

ในภาคภูมิอากาศ มาตรการหลักๆ มุ่งไปที่การสร้างแรงจูงใจให้ชาวอเมริกันปรับเปลี่ยนการบริโภคและการผลิตสินค้าจากจำพวกที่สร้างก๊าซเรือนกระจกสูงไปเป็นจำพวกที่สร้างก๊าซเรือนกระจกต่ำ เช่น ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์เบนซิน ผลิตไฟฟ้าด้วยแรงลมและแสงแดดแทนถ่านหิน

อเมริกาป้องกันโลกร้อนได้จริงหรือ? | ไสว บุญมา

(ภาพถ่ายโดย Craig Adderley)

การสร้างแรงจูงใจส่วนใหญ่จะเป็นในรูปของการ “ลดภาษี” ให้ทั้งผู้ใช้รถยนต์และผู้ลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้า เมื่อรวมมาตรการในภาคนี้เข้าด้วยกัน คาดว่ารัฐบาลจะต้องลงทุนถึง 3.9 แสนล้านดอลลาร์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหรัฐได้ถึง 40% ภายในเวลา 8 ปี

แม้มาตรการในภาคภูมิอากาศจะเข้มข้นแบบไม่เคยมีมาก่อน แต่ยังมีปัจจัยที่จะทำให้การป้องกันภาวะโลกร้อนไม่บรรลุเป้าหมายในระหว่างทางอีกมาก ในสหรัฐ มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น หลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในตอนปลายปีนี้ พรรคริพับลิกันอาจจะได้รับเสียงข้างมาก พรรคนี้ต่อต้านมาตรการในร่างกฎหมายดังกล่าวแบบหัวชนฝา

ฉะนั้น แม้จะไม่มีการเปลี่ยนมาตรการหลักในวันข้างหน้า แต่จะมีความพยายามหาทางให้การบังคับใช้ลดความเข้มข้นลงอย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนั้น ปัจจัยสำคัญคือ ชาวอเมริกันจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของการบริโภค เพื่อรับประโยชน์เต็มที่จากแรงจูงใจที่รัฐบาลมอบให้ตามกฎหมายใหม่หรือไม่ ชาวอเมริกันอาจทำต่ำกว่าที่คาดก็ได้

อเมริกาป้องกันโลกร้อนได้จริงหรือ? | ไสว บุญมา

(ภาพถ่ายโดย Genaro Servín)

ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่รู้เรื่องราวของชาวอเมริกันและด้านเศรษฐกิจอยู่บ้างย่อมมองเห็นทันทีว่ามาตรการต่างๆ ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวอเมริกันลดการบริโภคเกินความจำเป็นลง เนื่องจากแนวคิดพื้นฐานของสังคมอเมริกัน ได้แก่

  • ยิ่งบริโภคมากยิ่งมีความสุข แนวคิดพื้นฐานนี้มีความเปราะบางอย่างไรชาวไทยน่าจะรู้อยู่แล้ว แต่ชาวไทยส่วนใหญ่ก็ยังดิ้นรนจะบริโภคเพิ่มขึ้นตามแนวคิดพื้นฐานของชาวอเมริกัน และก็ไม่เฉพาะชาวไทยเท่านั้นที่พยายามทำ หากเป็นชาวโลกส่วนใหญ่ด้วย

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า โดยเฉลี่ยชาวโลกส่วนหนึ่งบริโภคมากกว่าชาวอเมริกันอยู่แล้ว เป็นผู้ที่อยู่ในประเทศร่ำรวยขนาดเล็ก แต่ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีนโยบายที่จะจูงใจให้ลดการบริโภคเกินความจำเป็นลง ตรงข้าม ยังทำตามประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่ต่างเร่งรัดพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออินเดีย ซึ่งต่างมีประชากรถึงประเทศละ 1.4 พันล้านคน

สหรัฐอาจพยายามชักนำให้ประเทศเหล่านี้ทำตามในด้านของการสร้างแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการบริโภคกับการผลิตได้บ้าง 

แต่ตัวแปรที่สำคัญยิ่งกว่านั้นจะไม่ได้รับแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยน ความพยายามอย่างเข้มข้นที่จะบริโภคและใช้ทรัพยากรโลกในส่วนที่เกินความจำเป็นจึงจะดำเนินต่อไปแบบไม่หยุดยั้ง ด้วยเหตุนี้เราน่าจะคาดเดาได้ว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยป้องกันปัญหาที่มาจากภาวะโลกร้อนร้ายแรงได้บ้าง แต่จะไม่สามารถป้องกันภาวะพื้นฐานที่จะมิให้เกิดขึ้นได้

ณ วันนี้ เราต่างทราบกันดีแล้วว่า สำหรับเมืองไทยเป็นไปได้สูงว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้พายุฝนเกิดบ่อยขึ้นและแต่ละครั้งร้ายแรงขึ้นส่งผลให้เราประสบภาวะน้ำรอระบาย หรือไม่ก็น้ำท่วมใหญ่บ่อยขึ้น เมื่อเราคาดเดาได้ล่วงหน้าเช่นนี้ ทางออกอยู่ที่การลดการบริโภคเกินความจำเป็นลงบ้าง และสร้างภูมิคุ้มกันไว้ให้แข็งแกร่งเพียงพอ