วิกฤติระยะยาวที่แทบไม่เป็นข่าวในสหรัฐ | ไสว บุญมา

วิกฤติระยะยาวที่แทบไม่เป็นข่าวในสหรัฐ | ไสว บุญมา

ท่ามกลางข่าวพาดหัวรายวันต่อเนื่องกันมานานเกี่ยวกับวิกฤติหลายด้าน มีเหตุการณ์ในสหรัฐที่เป็นข่าวสั้น ๆ แต่น่าสนใจเกี่ยวกับการแห้งขอดของแม่น้ำริโอแกรนด์ตอนไหลผ่านรัฐนิวเม็กซิโก และการลดระดับของทะเลสาบน้ำเค็มขนาดใหญ่ในรัฐยูทาห์ แบบไม่เคยเกิดมาก่อน  

น้ำในแม่น้ำริโอแกรนด์ถูกนำไปใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค รวมทั้งทำสนามกอล์ฟนับร้อยในพื้นที่กึ่งทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก  ส่วนน้ำในทะเลสาบน้ำเค็มดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ หากระเหยไปโดยไม่ได้รับการทดแทนอย่างเพียงพอจากสายน้ำรอบด้าน เนื่องจากน้ำในสายน้ำเหล่านั้นถูกเก็บกักไว้ใช้ในชุมชนที่สายน้ำไหลผ่าน  

ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้งสอง ได้แก่ การใช้น้ำเพิ่มขึ้นของชาวอเมริกันและความแห้งแล้งร้ายแรงต่อเนื่อง  คงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ต่างกับประเทศก้าวหน้าจำนวนมากที่ขณะนี้ประชากรไม่เพิ่มขึ้น หรือลดลง ประชากรของสหรัฐยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมทั้งในสองรัฐดังกล่าว  นอกจากนั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้เพราะพวกเขาบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ ณ วันนี้จะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงการวิทยาศาสตร์แล้วว่า การบริโภคที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้เกิดความแห้งแล้งร้ายแรงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจำกัดการบริโภคของตนให้อยู่บนฐานของความจำเป็นในการดำรงชีวิต  แรงจูงใจที่ทำให้ชาวอเมริกันไม่เปลี่ยนพฤติกรรมอาจมองได้ว่ามี 2 ด้านด้วยกัน

ด้านแรก ชาวอเมริกันจำนวนมากยังไม่เชื่อว่าการบริโภคของตนมีส่วนทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไปจนส่งผลให้โลกร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้เพราะยังมีการรณรงค์ให้เกิดความสงสัยในข้อมูลต่าง ๆ ที่วงการวิทยาศาสตร์นำมาเสนอ

สัปดาห์นี้ สำนักข่าวบีบีซีเสนอรายงานชิ้นสำคัญเกี่ยวกับบริษัทขนาดใหญ่ในวงการพลังงาน การขนส่ง และเหล็กกล้า ลงขันกันจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ให้ใช้วิธีปกปิดบิดเบือนต่าง ๆ รณรงค์สร้างความสงสัยขึ้นในจิตใจของผู้ไม่รู้เบื้องหลัง  

วิธีประชาสัมพันธ์แบบเดียวกันเคยใช้ได้ผลมาก่อนแล้วโดยหมู่ผู้ทำอุตสาหกรรมเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และหมู่ผู้ทำอุตสาหกรรมบุหรี่ที่ทำลายสุขภาพของประชาชน

ด้านที่สอง การดำเนินชีวิตของชาวอเมริกันวางอยู่บนฐานความคิดที่ว่ายิ่งบริโภคมากยิ่งมีความสุข  ฐานความคิดนี้ขับเคลื่อนให้ใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวสูงสุดอย่างต่อเนื่อง  แม้จะต้องเผชิญกับความจำกัดของทรัพยากร แต่ชาวอเมริกันก็มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่โดยไม่ใส่ใจ หรือตระหนักว่า เทคโนโลยีมักมีคำสาปติดมาด้วยเสมอ  

คอลัมน์นี้พูดถึงเรื่องคำสาปของเทคโนโลยีมานานและเพิ่งมาได้รับการยืนยันแต่มิได้ใช้คำนั้นเมื่อไม่นานามานี้โดยนักวิชาการด้านการเมืองระหว่างประเทศชื่อดังเฮนรี คิสซินเจอร์ในการให้สัมภาษณ์แก่นิตยสารไทม์เกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ของเขาซึ่งพูดถึงภาวะผู้นำของนักการเมืองชั้นแนวหน้าของโลก 6 คน   

การแห้งขอดของแม่น้ำและการลดระดับของน้ำในทะเลสาบ สะท้อนภาวะวิกฤติระยะยาวซึ่งชาวอเมริกันจำนวนมากแทบไม่ให้ความสำคัญ  ในช่วงนี้มีวิกฤติหลายด้าน การให้ความสำคัญแก่ภาวะระยะยาวของพวกเขายิ่งน้อยลด  ส่วนในสังคมไทยซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ดูจะเต็มใจเดินตามความคิดพื้นฐานเรื่องการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของชาวอเมริกันคงจะให้ความสำคัญแก่เรื่องแนวเดียวกันไม่มากกว่าเขาแน่  

แต่ก็มีข้อมูลน่าสังเกตเกี่ยวกับการดาวน์โหลดบทความและหนังสือต่าง ๆ จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com)  นั่นคือ หนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่อง “ธาตุ 4 พิโรธ” ได้รับการดาวน์โหลดมากแบบนำโด่งและยังมีผู้เข้าไปดาวน์โหลดทุกวัน  

เราจะตีความหมายข้อมูลเพียงจำกัดนั้นว่าอย่างไร?  ในฐานะผู้เรียบเรียงหนังสือและติดตามความเป็นไปในสิ่งแวดล้อมมานาน แม้ข้อมูลนั้นจะสรุปอะไรไม่ได้ แต่ก็ดีใจที่มันเป็นเช่นนั้นและหวังว่าชาวไทยนับวันจะสนใจในด้านสิ่งแวดล้อมตามสัดส่วนที่สูงกว่าชาวอเมริกัน  ยิ่งกว่านั้น ชาวไทยจะไม่บริโภคตามชาวอเมริกันแบบไม่ลืมดูลืมตา หากบริโภคตามความจำเป็นบนฐานของความเพียงพอและพอเพียง.