สรุปและวิเคราะห์ประเด็น จีน - ไต้หวัน - สหรัฐ

สรุปและวิเคราะห์ประเด็น จีน - ไต้หวัน - สหรัฐ

สรุปและวิเคราะห์ประเด็น จีน - ไต้หวัน - สหรัฐ ประเด็นข้อพิพาท จีน - ไต้หวัน ที่กลับมาปะทุจุดเดือดอีกครั้งหลัง แนนซี เพโลซี เดินทางไปยังไต้หวันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565

ประเด็นข้อพิพาท จีน - ไต้หวัน ที่กลับมาปะทุจุดเดือดอีกครั้งในสัปดาห์นี้ หลังจากมีแนวโน้มมาตั้งแต่ปลายเดือน กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เมื่อทางจีนคาดการณ์ไว้ว่า  แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา จะเดินทางไปยังไต้หวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทริปเยือนเอเชียของเจ้าหน้าที่ระดับสูงอเมริกา

ทางจีนจึงดำเนินการเรียกร้องทั้งโดยตรงต่ออเมริกา อย่างเช่น การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่าง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อ 28 กรกฎาคม 2565 โดย สี จิ้นผิง ผู้นำจีน เน้นย้ำว่า “ขอให้อเมริกาเคารพในอธิปไตยและหลักจีนเดียวของจีน โดยหยุดเข้าไปแทรกแซงและช่วยเหลือไต้หวันในการเรียกร้องเอกราช” ทางฝ่าย โจ ไบเดน ได้ตอบรับและยืนยันเคารพหลัก จีนเดียว ตามการนำเสนอของสื่อหลักของจีน

หลังจากนั้นหนึ่งวัน ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นยูเครน ทางรองผู้แทนถาวรของจีนประจำสหประชาชาติ ได้เน้นย้ำถึงบางประเทศให้เคารพอธิปไตยของจีน เช่นเดียวกับการที่เรียกร้องให้เคารพอธิปไตยยูเครน โดยหยุดให้ความช่วยเหลือไต้หวันและสนับสนุนการแยกจากจีน ให้เคารพในหลักการจีนเดียว และก็มีการเรียกร้องส่งสารถึงประชาคมโลกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนอีกหลายรอบ  

จนกระทั่งเมื่อช่วงดึกของวันที่ 2 สิงหาคม 2565 สิ่งที่จีนคาดและเตือนอเมริกาไว้ กลับเป็นจริง แนนซี เพโลซี เดินทางไปเยือน ไต้หวัน โดยให้ข้อคิดเห็นว่า เป็นการแสดงจุดยืนเคารพในประชาธิปไตย 

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ยิ่งทำให้ประเด็นรุนแรงขึ้นไปอีก โดย จีน ตอบโต้ทันที ทั้งการแถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีใจความสำคัญ เน้นย้ำดังนี้

“การกระทำของ แนนซี เพโลซี และ สหรัฐ ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและหลักการ จีนเดียว อย่างชัดเจน ตลอดจนคำมั่นที่ได้ตกลงกันไว้ในปี 1979 ที่สหรัฐยอมรับในจีนเดียวและจะไม่ปฏิบัติการใดๆ ในรูปแบบทางการกับ ไต้หวัน แต่การที่เพโลซี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ และเดินทางด้วยเครื่องบินในนามรัฐบาลสหรัฐ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นทางการ จึงไม่เคารพในคำมั่นที่ให้ไว้”

ไม่ใช่แค่การแถลงการณ์จากกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่ทางกองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือกองทัพจีน ก็ได้ออกปฏิบัติการทางการทหารตั้งแต่ช่วงดึกของวันที่ 2 สิงหาคม 2565 แทบจะทันทีทันใด หลังเพโลซีเดินทางถึงไต้หวัน แม้จะออกสื่อให้ข่าวว่า “ซ้อมรบ” แต่มีการซ้อมรบครอบคลุมทุกด้านทุกทิศของไต้หวัน ทั้งทางน่านน้ำและน่านฟ้า มีการใช้กระสุนจริง และขีปนาวุธ รวมถึงประกาศเตือนว่า “เพื่อความปลอดภัย อย่าเข้ามาน่านน้ำและน่านฟ้าในเขตซ้อมรบ” แต่ก็เรียกว่า เป็นการส่งสัญญาณถึงไต้หวัน ตามที่จีนแถลงไว้ก่อนหน้าว่า “กองทัพจีนย่อมไม่อยู่เฉย หากเพโลซี เยือนไต้หวันจริง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม จีน ยังคงรักษาระดับ ยังไม่ถึงขั้นเกิดสงคราม เพราะจีนเองก็เคยแสดงจุดยืนในข้อพิพาทระดับโลกต่างๆ อย่างกรณียูเครน-รัสเซีย ว่า แก้ไขได้ด้วยสันติวิธี แต่อีกมุมจีนก็แสดงจุดยืนไว้ด้วยว่า “ถ้าเป็นการรุกล้ำอธิปไตย จีนจำเป็นต้องปกป้องตนเอง” ตอนนี้เราจึงได้เห็นจีนเริ่มใช้มาตรการแบน-จำกัด-ห้ามส่งออกทรายธรรมชาติ และนำเข้าผลไม้-ปลาแช่แข็งจากไต้หวัน 

อ้ายจง ขอสรุปในฝั่งจีน ทำไม จีน” ถึงไม่พอใจ? และยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวในประเด็นนี้มาโดยตลอด  

  1. จีนยกประเด็นกฎบัตรสหประชาชาติที่มีการยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเป็นตัวแทนของจีนอย่างเป็นทางการ หรือที่เรียกว่า “จีนเดียว” ซึ่งจีนได้สื่อสารออกมาตลอดว่า การทำตามข้อตกลงสหประชาชาติคือสิ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพ ทุกประเทศควรเคารพตรงนี้
  2. สำหรับประเด็นสหรัฐ จีนกล่าวมาตลอดเช่นกันว่า รากฐานความสัมพันธ์สองประเทศที่ละเอียดอ่อนและถือเป็นหัวใจสำคัญคือ ประเด็นไต้หวัน ดังนั้นจีนจึงยกคำมั่นครั้งก่อตั้งสัมพันธ์การทูตและข้อตกลงสามฉบับขึ้นมาเรียกร้องและระบุว่า การที่อเมริกาไม่ทำนั่นคือตั้งใจจะยั่วยุ และทำให้สัมพันธ์สองประเทศเลวร้ายลงไป เนื่องจากจีนเน้นย้ำและเรียกร้องมาตลอด

ทางฝั่ง สหรัฐ เองก็แสดงจุดยืนในประเด็น ไต้หวัน มาโดยตลอดว่า อยู่ข้างไต้หวัน ดังที่เคยได้เห็นสหรัฐพยายามจะนำไต้หวันเข้าสู่สหประชาชาติ และเคยยกประเด็นนี้ทำให้จีนออกจากสหประชาติไปพักใหญ่ ซึ่งแม้ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอมริกา จะกล่าวถึงการเคารพในหลัก จีนเดียว แต่ทว่าคนที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในรัฐบาลสหรัฐยังคงยืนยันและแสดงออกชัดเจน โดยจุดยืนของสหรัฐมองว่า

  1. สหรัฐมีหน้าที่รักษาสันติภาพโลกเช่นกัน โดยเฉพาะโลกของประชาธิปไตย  ซึ่งไต้หวันคือตัวแทนของการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นเหตุผลเพียงพอให้อเมริกาปกป้องไต้หวัน
  2. ในมุมสหรัฐ จีนได้ดำเนินการสร้างความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน มีการซ้อมรบ ปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งใกล้ไต้หวัน สหรัฐจึงต้องยื่นมือเข้ามาอยู่ข้างไต้หวันเพื่อรักษา “สันติภาพ”

ฉะนั้น ยังคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เหตุการณ์จะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ จะไปถึงขั้นไหน แต่ที่รู้แน่ๆ คือ ไม่ส่งผลดีต่อโลก และย่อมส่งผลกระทบต่อไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแน่  

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่