สถานทูตจีน ตอบปมร้อน "แนนซี เพโลซี" เยือน "ไต้หวัน" เชื่อตั้งใจยั่วยุ

สถานทูตจีน ตอบปมร้อน "แนนซี เพโลซี" เยือน "ไต้หวัน" เชื่อตั้งใจยั่วยุ

โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ตอบปมร้อนกรณี "แนนซี เพโลซี" ประธานสภาฯสหรัฐฯ เดินทางเยือน "ไต้หวัน" เชื่อตั้งใจยั่วยุ เตือนระวังส่งผลกระทบร้ายแรง

จากกรณีของ "แนนซี เพโลซี" ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือน "ไต้หวัน" เพื่อพบกับ "ไช่ อิงเหวิน" ประธานาธิบดี โดยทั่วโลกมีการจับตาว่าจีนจะมีมาตรการตอบโต้เรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากการเดินทางมาไต้หวันของนางแนนซี เพโลซีครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางคำเตือนของจีนว่าจะตอบโต้สหรัฐฯอย่างเด็ดขาดหากเพโลซีเดินทางมาไต้หวันจริง เพราะถือว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของจีนอย่างชัดเจน เนื่องจากจีนประกาศมาตลอดว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

 

 

ล่าสุดวันนี้ (3 สิงหาคม 2565) โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ตอบคำถามสื่อมวลชนสำหรับ การเดินทางเยือนไต้หวันแห่งประเทศจีนของนาง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุว่า

 

1. ความเป็นมาของปัญหาไต้หวันเป็นอย่างไร

 

ไต้หวันเป็นของประเทศจีนตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน และเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่แบ่งแยกมิได้ นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งในศตวรรษที่ 10 รัฐบาลจีนทุกสมัยต่างก็ได้จัดตั้งหน่วยงานบริหารราชการในไต้หวันอย่างเป็นลำดับ เพื่อปฏิบัติตามอำนาจการบริหารและปกครอง

 

เมื่อวันที่ 1 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 รัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาขึ้นมา โดยทดแทนรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีน และกลายเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวของทั่วประเทศจีน และก็เป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวในประชาคมโลก จึงสามารถือครองและใช้อำนาจอธิปไตยของประเทศจีนตามสิทธิ์อย่างทั่วไป ซึ่งรวมทั้งอธิปไตยเหนือไต้หวันด้วย

 

หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้น กลุ่มอำนาจของพรรคก๊กมินตั๋งได้ถอยไปยังมณฑลไต้หวันของจีน โดยอาศัยการสนับสนุนจากอิทธิพลต่างประเทศ ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลกลาง จึงเป็นเหตุที่ทำให้ปัญหาไต้หวันเกิดขึ้นมา

 

 

เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1971 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 26 ได้ผ่านมติหมายเลขที่ 2758 ขับไล่ผู้แทนของทางการไต้หวันออกไป และฟื้นฟูที่นั่งและสิทธิชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในสหประชาชาติ เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 จีนกับสหรัฐฯได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยทางสหรัฐฯ ยอมรับว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวของประเทศจีน และรับรองจุดยืนของจีนซึ่งก็คือ มีแค่ประเทศจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ปัจจุบันทั้งหมด 181 ประเทศที่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศจีนต่างก็ยอมรับว่า ในโลกนี้มีแค่ประเทศจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนจีน

 

2. ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯบอกว่าไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน ทำไมผู้นำสภาฯของสหรัฐฯ ยังดันทุรังเดินทางเยือนไต้หวัน

 

ปัญหาไต้หวันเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุดในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ทางสหรัฐฯได้เน้นย้ำหลายครั้งในหลักการประเทศจีนเดียว และไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน

 

เมื่อวันที่ 28 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้หารือทางโทรศัพท์ตามนัดกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เน้นย้ำว่า การที่ทางสหรัฐฯยึดถือนโยบายจีนเดียวไม่ได้เปลี่ยนและจะไม่เปลี่ยน ทางสหรัฐฯไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน การที่นางแนนซี เพโลซี เดินทางเยือนไต้หวันได้แสดงให้เห็นว่า ทางสหรัฐฯพูดอย่างทำอย่าง ไม่มีความน่าเชื่อถือและสัจธรรม ถูกคนทั่วไปดูถูกกัน และทำให้เครดิตรัฐของสหรัฐฯสูญหายไปหมด

 

ปัจจุบัน สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันกำลังเผชิญกับความตึงเครียดและความท้าทายที่รุนแรงรอบใหม่ สาเหตุที่แท้จริงก็คือ ทางการไต้หวันและฝ่ายสหรัฐฯได้พยายามเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทางการไต้หวันอยากจะพึ่งสหรัฐฯเพื่อแสวงหาเอกราช ส่วนทางสหรัฐฯ พยายามใช้ไต้หวันในการควบคุมจีน และหนุนหลังให้กิจกรรมการแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน

 

3. ประธานสภาฯ นางแนนซี เพโลซี เดินทางเยือนไต้หวันจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค

 

การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค นางเพโลซีเป็นผู้นำสภาคองเกรสของสหรัฐฯคนปัจจุบัน การเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเปิดเผยนั้น ถือว่าเป็นการกระทำทางการเมืองที่ยั่วยุอย่างรุนแรงในการยกระดับการไปมาหาสู่กันอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯกับไต้หวัน และก็เป็นการสนับสนุนต่อกลุ่มอิทธิพลที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน

 

วัตถุประสงค์อันแท้จริงที่ทางสหรัฐฯเล่นไพ่ไต้หวันนั้น คือจะใช้ไต้หวันในการควบคุมและกดขี่จีน ชะลอการพัฒนาของจีน รักษาสถานะความเป็นเจ้าของตนเองและผลักดันความเป็นอำนาจบาตรใหญ่ ซึ่งเป็นการเหยียบย่ำหลักการขั้นพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผลักให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯไปสู่ความเผชิญหน้าและปฏิปักษ์ต่อกัน ทำให้สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันทวีความตึงเครียด จนนำไปสู่เหตุการณ์และผลที่ตามมาอย่างร้ายแรงยิ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงจนกระทั่งภัยพิบัติต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

 

4. จุดยืนและท่าทีของจีนเป็นอย่างไร

 

นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางเยือนไต้หวันของประเทศจีน โดยไม่สนใจการคัดต้านอย่างรุนแรงและการแสดงท่าทีอย่างจริงจังของฝ่ายจีน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหลักการประเทศจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ ทั้ง 3 ฉบับอย่างร้ายแรง เป็นการบ่อนทำลายรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯอย่างร้ายแรง เป็นการรุกล้ำอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศจีนอย่างร้ายแรง เป็นการบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างร้ายแรง และก็เป็นการส่งสัญญาณผิดพลาดอย่างร้ายแรงไปยังกลุ่มอิทธิพลที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน

 

สำหรับเรื่องนี้ ฝ่ายจีนคัดต้านอย่างเด็ดขาดและขอประณามอย่างรุนแรง ได้แสดงท่าทีอย่างจริงจังและประท้วงอย่างรุนแรงต่อฝ่ายสหรัฐฯ รัฐบาลและประชาชนจีนได้ใช้มาตรการที่เด็ดขาดและทรงพลังแล้ว และจะยังคงดำเนินการต่อไปเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดนอย่างแน่วแน่ ทางสหรัฐฯและกลุ่มอิทธิพลที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน ต้องรับผิดชอบผลที่ตามมาทั้งหมด

 

ฝ่ายจีนเรียกร้องให้ทางสหรัฐฯยุติการเล่นไพ่ไต้หวัน เพื่อใช้ไต้หวันในการควบคุมจีนต่อไป ยุติการแทรกแซงกิจการของไต้หวันและกิจการภายในของประเทศจีน ยุติการสนับสนุนกลุ่มอิทธิพลที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีนในทุก ๆ รูปแบบ ยุติการพูดอย่างทำอย่างในปัญหาไต้หวัน และยุติการบิดเบือนทำลายหลักการประเทศจีนเดียว ยึดมั่นในหลักการจีนเดียวและแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทั้ง 3 ฉบับ โดยนำคำมั่นสัญญาของผู้นำสหรัฐฯ มาปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งรวมทั้งไม่คิดที่จะทำสงครามเย็นใหม่กับจีน ไม่คิดที่จะเปลี่ยนระบอบของจีน ไม่คิดที่จะคัดค้านจีนโดยอาศัยการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร ไม่สนับสนุนการแยกตัวออกไปเป็นเอกราชของไต้หวัน และไม่ประสงค์ที่จะเกิดปะทะกันกับจีน โดยหลีกเลี่ยงเดินต่อไปในเส้นทางที่ผิดพลาดและอันตราย

 

จีนกับไทยเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี ค.ศ. 1975 เป็นต้นมา ฝ่ายไทยยึดมั่นในหลักการจีนเดียวมาโดยตลอด ซึ่งได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในเอกสารสำคัญ ๆ หลายฉบับ เช่น แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทย แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยแผนงานความร่วมมือในศตวรรษที่ 21 ระหว่างจีน-ไทย แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน วิสัยทัศน์การพัฒนา

 

สำหรับความสัมพันธ์จีน-ไทยในระยะยาว และแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย ฝ่ายจีนเชื่อว่า ประเทศไทยในฐานะที่เป็นมิตรประเทศของจีน จะยึดมั่นในความเที่ยงธรรมและความเป็นธรรมของหลักสากล สนับสนุนความพยายามของจีนในการปกป้องอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งดินแดน สนับสนุนภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการรวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียว ร่วมกับฝ่ายจีนในการพิทักษ์รักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและของภูมิภาค