ท่องเที่ยวไทย: What brought you here won’t get you there!

ท่องเที่ยวไทย: What brought you here won’t get you there!

ในช่วงที่วงการท่องเที่ยวกำลังเห็นขอบฟ้าสีทองอยู่รำไร โควิด 19 ก็กลับมาเป็นยุคขาขึ้นอีกครั้ง และโลกยังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้นและเกิดการขาดแคลนอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดเงินเฟ้อและอำนาจการซื้อของโลกต่ำลง

วิกฤตการณ์ในช่วงนี้เป็นอะไรที่โลกไม่เคยประสบมานานแล้ว หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง นักเขียนชื่อก้องของโลกคือ Yuval Harari ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Sapiens และ Homo Deus เคยพยากรณ์ไว้ว่า โลกได้เข้าสู่ศตวรรษใหม่ที่โรคระบาด สงคราม และภาวะข้าวยากหมากแพงกำลังหมดสิ้นไป แต่ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา วิกฤติเหล่านี้ก็เรียงหน้ามาแบบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดไปทั่วโลก 

อีกทั้งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เริ่มมีความชัดเจน เกิดผลกระทบ เช่น คลื่นความร้อนในเขตยุโรป จนการคาดการณ์อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายหรือไม่มีแนวโน้มคล้ายๆ เส้นตรงเหมือนเดิมอีกต่อไป

ลองมาทบทวนดูว่าก่อนเกิดโควิด19 เราอยู่ตรงจุดไหน แล้วโลกอนาคตหลังโควิด19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเป็นโลกแบบไหน แน่นอนที่สุดมันจะต้องเป็นอนาคตที่ผันแปร ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ กล่าวคือไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น เมื่อไหร่ และอย่างไร

ท่องเที่ยวไทย: What brought you here won’t get you there!

(ภาพถ่ายโดย PhotoMIX Company)

ก่อนโควิด19 ในปี 2562 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอยู่บนจุดสูงสุดของการหารายได้ การวิจัยของมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะเกี่ยวกับศักยภาพการหารายได้ของจังหวัดในประเทศไทยก่อนโควิด19 พบว่า เรามีจังหวัดที่ใช้ทรัพยากรในการหารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดถึง 15 จังหวัดด้วยกัน

และจังหวัดเหล่านี้จะไปต่อได้ก็ต่อเมื่อมีการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี และเพชรบุรีที่ใช้ทรัพยากรเต็มที่แล้ว และยังมีเมืองรองอื่นๆ อีกซึ่งใช้ทรัพยากรเต็มที่แล้วเหมือนกัน แต่อาจเพราะมีการลงทุนในทรัพยากรท่องเที่ยวไม่เพียงพอ เช่น กาญจนบุรี พังงา บึงกาฬ เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2562 เรายังมีจังหวัดชายทะเล ซึ่งมีโอกาสที่จะใช้กลยุทธ์ด้านผู้มาเยือนเพิ่มรายได้ถึง 3.8 แสนล้านบาทคือ สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี และสงขลาซึ่งไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมก็สามารถที่จะหารายได้ได้มากขึ้น แต่อย่าลืมว่าเป็นการศึกษาที่ทำในช่วงปี 2562

นั่นหมายความว่า ขณะนี้เรายังเร่งเครื่องได้อีกมากเพราะยังอยู่ในจุดต่ำสุดของการใช้ทรัพยากรอยู่ แต่โควิด19 ก็ชี้ให้เห็นว่า เราไม่ได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดเพราะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เราต้องจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมดีกว่านี้ถึงจะไปต่อได้อีกมาก 

ในขณะที่เกิดโควิด19 สำหรับวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเราเรียกว่า โลกแทบจะหยุดหมุนเลยทีเดียว แต่โลกของผู้บริโภคหรือลูกค้าของเราไม่ได้หยุด ยังคงหมุนไปเรื่อยๆ ซ้ำยังถูกกระแสโลกซึ่งขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ ทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาหาเราใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

ท่องเที่ยวไทย: What brought you here won’t get you there!

(ภาพถ่ายโดย Tima Miroshnichenko)

ขณะที่โลกท่องเที่ยวหยุดหมุน ซัพพลายท่องเที่ยวยังมีลักษณะเป็นแบบเดิมๆ คือ เป็นซัพพลาย 3.0 หรือท่องเที่ยวแบบมวลชนมีแพ็กเกจสแตนดาร์ดแล้วใช้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมเป็นหลัก แต่ดีมานด์ 4.0 ที่กำลังกลับมาจะมีชีวิตแบบหลังอุตสาหกรรม (post-industrial) 

มนุษย์ในโลกหลังโควิด 19 กลายเป็นมนุษย์แพลตฟอร์มเต็มตัวแล้ว พยายามแสวงหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง และมีอุดมการณ์เป็นสากลเช่น ยึดถือในเสรีภาพ อิสรภาพ และสนใจในปัญหาซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของโลก เราจึงจะต้องเปลี่ยนการตลาดให้เป็นการตลาดยุคใหม่สำหรับแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการแตกต่างกัน (persona) กลุ่มเหล่านี้จะสามารถสร้างส่วนผสมของการท่องเที่ยวหรือแพ็กเกจการท่องเที่ยวของตนเอง 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยียังจะก่อให้เกิดคู่แข่งใหม่ซึ่งคาดไม่ถึง เช่น โรงแรมซึ่งไม่เคยคาดคิดว่าจะต้องแข่งขันกับบ้านพักส่วนบุคคล (Airbnb) แม้แต่ธนาคารใหญ่ๆ ก็เปลี่ยนยานแม่ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็มาขาย digital token ในอนาคตร้านสะดวกซื้ออาจจะมาแข่งขันกับบริษัททัวร์ในการให้บริการท่องเที่ยวในพื้นที่ก็ได้

ดังนั้น หลังโควิด19 หลายอย่างจะไม่เหมือนเดิม ความมั่งคั่งส่วนหนึ่งจะย้ายไปอยู่ที่โลกเสมือนและหลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว โลกจะวุ่นวาย ซับซ้อน ไม่แน่นอน และคลุมเครือมากขึ้นอีก เราจะรับมือกับภาวะใหม่นี้ได้อย่างไร

ในอนาคตนอกจากเราจะเข้าสู่โลกยุค VUCA แล้ว เรายังจะวนเวียนอยู่ในความขัดแย้งทางสังคมแล้วอาจจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนได้ง่ายจากเงินดิจิทัลนอกการกำกับของรัฐ เมต้าเวิร์สจะมีการถ่ายเททรัพยากรระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน นักท่องเที่ยวมีทางเลือกที่จะเที่ยวในโลกเสมือนก็ได้โลกจริงก็ได้ในราคาที่ต่างกัน

เช่น ไปเที่ยวมาชูปิชูที่เปรูในโลกเสมือนอาจจะใช้เงินเพียง 300 บาท ในขณะที่บินไปเที่ยวจริงๆ จะต้องใช้เงินถึง 300,000 บาท และเราอาจจะพบกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อทรัพยากรท่องเที่ยวซ้ำเติมไปจากที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ 

ในโลกยุคหน้าจะมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นรากฐานในทุกธุรกรรม แต่ในขณะนี้อุตสาหกรรมของเรายังมีทักษะด้านดิจิทัลค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปเป็นเศรษฐกิจไร้เงินสด เศรษฐกิจไร้สัมผัส เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความน่าเชื่อถือ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจแบ่งปัน ท่องเที่ยวไทยจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการนำเสนอ ตลอดจนนโยบายสาธารณะเพื่อรองรับโลก VUCA  

โลกท่องเที่ยวในอนาคตไม่อาศัยทุนประเดิมแต่อย่างเดียวอีกต่อไป อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตต้องสร้าง Total Digital Experience ด้วย แนวทางการรองรับโลกที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตก็คือ

  • ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวในอนาคตจะเป็นยุทธศาสตร์ของแพลตฟอร์มหรือก็คือเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มเน้นการใช้ข้อมูล เกิดดิจิทัลภิวัฒน์ทุกส่วนของห่วงโซ่มูลค่า และเส้นทางผู้บริโภคซึ่งจะทำให้สามารถจัดการให้ลูกค้าได้สิ่งที่ปรารถนาตามกลุ่มความต้องการ (Persona)
  • ส่งเสริมให้เกิดระบบการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบเป็นแกนกลางและจะต้องสร้างความหลากหลายเพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรให้มีความยั่งยืน
  • ส่งเสริมให้ใช้ซอฟพาวเวอร์ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า

อะไรก็ตามที่พาการท่องเที่ยวไทยมาถึงจุดสูงสุดเมื่อปี 2562 จะไม่สามารถส่งต่อการท่องเที่ยวไทยในระดับสูงเช่นนั้นอีกต่อไปได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลง ซับซ้อน วุ่นวาย และคลุมเครือ! 

ดาวน์โหลดงานวิจัยเรื่องผลของการจัดการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ต่อธุรกิจ ชุมชน และผู้เยี่ยมเยือน และผลงานวิจัยอื่นๆ ได้ฟรีที่ khonthai4-0.net 

คอลัมน์ ประเทศไทย iCare
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิศึกษานโยบายสาธารณะ