ใครในอนาคตจะเป็น Useless Class? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ใครในอนาคตจะเป็น Useless Class? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ขณะนี้เรากำลังอยู่ในโลกของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมและส่วนต่างๆ ของชีวิตและสังคมทั้งหมดทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพ หรือเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตมนุษย์ทั้งหมด

ในโลกแห่งวิทยาการที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัล มนุษย์มีโอกาสที่จะเสริมสร้างสมรรถนะในด้านต่างๆ ทั้งในด้านอุปกรณ์เสริมและในด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งสามารถเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหรือใช้อุปกรณ์เข้ามาทดแทนอวัยวะบางประเภทหรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้สามารถมีอายุยืนยาวขึ้น 

พูดสั้นๆ ว่ามนุษย์โดยเฉพาะในโลกตะวันตกมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะต่อต้านและยื้อกับความตาย ตัดต่อพันธุกรรม คัดเลือกแต่พันธุกรรมที่เหนือชั้นเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะให้มนุษย์ธรรมดาเป็นมนุษย์เทพได้

การใช้อุปกรณ์เสริมสมรรถนะของมนุษย์มีมานานแล้ว ตัวอย่างได้แก่ ไม้เท้า แว่นตา ซึ่งเป็นการฟื้นฟูความสามารถ แต่ในปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าแว่นตาก็ทำหน้าที่ได้หลายอย่างมากขึ้นกลายเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ เช่น เพิ่มจอภาพหรือเพิ่มความสามารถในการมองเห็นภาพในเวลากลางคืน 

นอกจากนี้วิทยาการที่ก้าวหน้าจะทำให้มนุษย์สามารถที่จะฝังชิพไว้ในสมองเพื่อให้มีความจำเพิ่มขึ้น มีความสามารถในการที่จะรับรู้ภาพ เสียง หรือสแกนหาโลเคชันและทำงานต่างๆ ซึ่งสมองกลทำได้ หรือเพิ่มสมรรถนะเป็นมนุษย์ที่เปลือกนอกเป็นหุ่นยนต์ที่ทำให้มีพละกำลังมหาศาล 

อีกทั้งยังสามารถต่อเชื่อมสมองกับคอมพิวเตอร์ทำให้ขีดความสามารถต่างๆ ของมนุษย์นั้นเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก เพราะได้รวมสมรรถนะของสมองกลมาด้วยรวมทั้งเชื่อมต่อสมองของมนุษย์ด้วยกัน

เช่น เชื่อมสมองผู้สอนเข้ากับผู้เรียนรู้ และเพื่อสามารถสั่งงานสมองกลเครื่องอื่นๆ พอมาถึงตรงนี้เราก็เริ่มเห็นได้ว่ามีประเด็นเกี่ยวข้องกับสังคมและจริยธรรม (โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ 2565) 

บทความทางวิชาการของ ศ. ดร.โสรัจจ์  หงศ์ลดารมภ์ เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถมนุษย์ การผสมผสานมนุษย์กับเครื่องจักรภายใต้แผนงานวิจัยคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาที่จะพบเรื่องแรกก็คือ ความสามารถในการเสริมสมรรถนะย่อมทำให้มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ใครในอนาคตจะเป็น Useless Class? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ผู้ที่มีฐานะก็สามารถที่จะส่งเสริมให้ตัวเองและบุตรหลานมีสถานภาพทางปัญญาสูงกว่าผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี มักจะเป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าซึ่งก็จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนถือกำเนิดเสียอีก 

แต่ถ้าเราไม่อาจปล่อยให้การเพิ่มขีดความสามารถเป็นไปได้อย่างเสรี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ เราก็อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ คำถามก็คือว่า เราควรจะยอมให้มีการเพิ่มสมรรถนะได้ถึงขนาดไหน  

ปัญหาถัดไปในด้านจริยธรรมของการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับการอนุญาตหรือความยินยอมเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว

ทั้งนี้เพราะข้อมูลในความทรงจำอาจจะถูกล่วงรู้โดยสมองกลและถ่ายทอดออกมาโดยชิพที่ฝังไว้ เกิดการถ่ายโอนความทรงจำสมองของคนหนึ่งเข้าไปสู่คอมพิวเตอร์ได้

 ทำให้บุคคลผู้นั้นอาจจะถูกควบคุมจากภายนอก ขาดความเป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นเครื่องมือซึ่งบุคคลอื่นสามารถนำไปใช้ได้โดยตรง หรือทำให้ข้อมูลในสมองของคนคนหนึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายฐานข้อมูลขนาดใหญ่

การเชื่อมต่อของสมองอาจจะเป็นการทำลายเอกลักษณ์ของตัวตน เพราะเกิดการละลายหรือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในสมองของแต่ละคน

อาจารย์โสรัจจ์ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้การหลอมรวมมนุษย์กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เกิดขึ้นแล้วเพราะว่าสมาร์ทโฟนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย และในอนาคตสมาร์ทโฟนก็อาจจะแปลงไปเป็นอุปกรณ์ที่แนบสนิทหรือบูรณาการเข้ากับร่างกายมากกว่านี้อีก 

ใครในอนาคตจะเป็น Useless Class? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
ในปี 2600 อาจารย์โสรัจจ์ได้เสนอ 2 ฉากทัศน์ของคนไทยในอนาคตในแง่มุมของเทคโนโลยี ได้แก่  

ฉากทัศน์ที่ 1 คนไทยแต่ละคนจะมีหุ่นยนต์ประจำตัวซึ่งเหมือนคนรับใช้และทำหน้าที่เหมือนโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน แต่มีความสามารถกว้างขวางกว่ามากและคนไทยบางคนก็จะได้รับการเพิ่มขีดความสามารถทางสมอง ส่วนคนไทยที่ไม่ได้รับการเพิ่มขีดความสามารถก็จะยังมีอยู่และเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทำให้เกิดผลลบ ทางการเมืองก็การประท้วงเป็นระยะๆ 

ฉากทัศน์ที่ 2 จะเป็นโลก 2 ใบคู่ขนานกันไป คือ โลกกายภาพในปัจจุบัน และโลกที่ปรากฏบนเมตาเวิร์ส ซึ่งเป็นโลกที่ระบบสร้างขึ้น มนุษย์จะไปซื้อ บริโภค และหลงอยู่ในโลกนั้นจนละเลยโลกจริงของตนเอง มนุษย์อาจจะละเลยการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในโลกจริงเพราะมัวไปหลงอยู่กับภาพแห่งความสมบูรณ์ของโลกมายา  

อีกหนึ่งอันตรายในโลกเสมือนเช่นในปัจจุบันนี้ก็คือ คนไทยจะมีความสามารถในการบริโภคมากกว่าการผลิต เช่น สามารถชอปปิงออนไลน์ได้อย่างฉกาจกว่าทักษะและความสามารถในการผลิตสินค้าเสมือนเพื่อขายออนไลน์  

ข้อมูลข่าวสารที่เข้ามาอย่างมากมายและรวดเร็วล้วนแต่เป็นข้อมูลที่ส่งเสริมให้เกิดการบริโภค เช่นในปัจจุบันนี้ แม้เด็กมัธยมก็เลือกซื้อสินค้าออนไลน์ได้อย่างสบายนิ้ว 

การเตรียมตัวให้คนไทยในอนาคตที่จะรับมือกับโลกเสมือนนี้ก็คือ การให้คนไทยมีความคิดเชิงวิเคราะห์ คิดแยกแยะเหตุผล ตลอดจนเกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการ จนกระทั่งคิดคาดการณ์ผลที่อาจเกิดขึ้น 

แม้ว่าอนาคตที่เกิดขึ้นจริง อาจเป็นภาพผสมของฉากทัศน์ที่ 1 และ 2 แต่ที่จะน่ากังวลก็คือจะเกิดคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีจะเป็นชนชั้นไร้ประโยชน์ (useless Class)   

ใครในอนาคตจะเป็น Useless Class? | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

การรับมือกับโลกอนาคตที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลนั้น อาจารย์โสรัจจ์คิดว่าต้องมีการปรับโครงสร้างความเชื่อพื้นฐานหรือเปลี่ยนวัฒนธรรมความเชื่อพื้นฐานจากที่ยอมรับความไม่เท่าเทียมให้เป็นสากล

คือสนใจประเด็นความเท่าเทียมกันมาก และเสนอยุทธศาสตร์ที่รองรับกับทุกฉากทัศน์ 4 ยุทธศาสตร์คือ 

1) พัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้คนไทยสามารถคิดเชิงวิเคราะห์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 

2) ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้มีการคิด ถกเถียง และอภิปรายกันได้อย่างเต็มที่ เพื่อเปิดให้โอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และแนวความคิดใหม่ๆ 

3) รัฐบาลต้องพยายามส่งเสริมให้คนไทยสามารถผลิตและออกแบบเทคโนโลยีในระดับต้นน้ำได้ และ 

4) คนไทยที่จะเป็นเนื้อเดียวกับเทคโนโลยีได้นั้นต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตโดยไม่เป็นทาสของเทคโนโลยีแต่รู้เท่าทันเทคโนโลยีและสามารถกำกับเทคโนโลยีได้

คนไทย 4.0 คือผู้รู้เท่าทันอนาคตก็จะต้องเตรียมตัวไม่ให้ตกดิวิชันไปเป็นสมาชิก useless class ค่ะ!