“ชัชชาติ” ทำให้เข้าใจโลก “น้ำท่วม” อย่างไรก็ไม่บ่น?

“ชัชชาติ” ทำให้เข้าใจโลก “น้ำท่วม” อย่างไรก็ไม่บ่น?

ดูเหมือนคำว่า “เข้าใจโลก” จะถูกนำมาใช้กับคนที่มักเห็นต่างจากคนอื่นในสังคมส่วนใหญ่ และเห็นอะไรที่ตั้งแง่ไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย แต่พอได้รับในสิ่งที่ตัวเองต้องการแล้ว ก็จะมีความคิดเห็นที่ต่างราวหน้ามือเป็นหลังมือคือยอมรับอะไรได้ง่ายขึ้น

อย่างปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็นอยู่ในเวลานี้ น้อยนักที่จะมีคนบ่นว่าถึงการบริหารงานของผู้ว่าฯกทม. ไม่เหมือนที่ผ่านมา ที่มักจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งที่รู้ว่าเป็นปัญหาซับซ้อน แก้ไขยาก แต่ก็ต้องหาที่ลงให้ได้ นั่นคือ “ผู้ว่าฯกทม.” ผู้ว่าแทบทุกคนจะโดนหมด ยกเว้น “ผู้ว่าชัชชาติ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เหมือนยกเอาไว้คนหนึ่ง

จริงหรือไม่ น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา นักเขียนและพิธีกรชื่อดัง นักวิจารณ์การเมือง “ฝีปากคม” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว(21 ก.ค.65) ระบุว่า

“ฝนตกน้ำท่วม คนสติดีๆ ไม่ด่าชัชชาติเพราะรู้ว่า

1. ปัญหาน้ำท่วม กทม. เพียงเพราะฝนตกหนักเป็นปัญหาผังเมือง การแก้ไขปัญหานี้ไม่อาจทำได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

2. ชัชชาติออกมาร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่หลับไม่นอน ไม่กลับบ้าน แก้ปัญหาเท่าที่แก้ได้ แสดงความเข้าใจต่อความลำบากที่เกิดขึ้นกับประชาชนแค่นี้แหละ”

“คำ ผกา” ปัจจุบัน ยังเป็นแกนนำกลุ่ม “แคร์ คิด เคลื่อน ไทย” ของ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ที่เปิด “คลับเฮาส์” ให้ “โทนี วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย

ขณะ ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด กองหนุน “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

“สลิ่มอย่าบ่น อย่าต่อว่าผู้ว่าเรื่องน้ำท่วม หัดเข้าใจบ้าง

1. กรุงเทพเป็นแอ่ง

2. ท่อระบายน้ำอยู่ต่ำกว่าถนน

3. ในท่อมีขยะเต็มไปหมด

4. มีการสร้างบ้านขวางทางน้ำ

5. ฝนหนักมาก มีพายุอีกต่างหาก

6. ผู้ว่าเก่าทำไมไม่แก้ไข ทิ้งปัญหาไว้ทำไม

7.กลัวน้ำท้วมก็ไม่ต้องออกจากบ้าน

8. ฝนตก น้ำท่วม มันก็เป็นแบบนี้มาตลอด จะบ่นทำไม

9. ผู้ว่าเขาก็ออกมา ตระเวนไป...ทำอะไร (เติมเองนะคะ) ทุกจุดทั่วกรุงเทพดึกๆดื่นๆนะ ขยันขนาดนี้ มีใครที่ไหนเขาทำกัน ก่อนจะต่อว่าควรจะรู้เรื่องนี้นะ

10. จะต่อว่าผู้ว่าคนเดียวได้ยังไง ทำไมไม่เรียกให้ลุงตู่มาดูแล

หัดใจกว้างหน่อยนะ อย่าต่อว่าผู้ว่าที่เพิ่งมา 2 เดือนเอง”

ที่บอกให้ “สลิ่ม” หัดเข้าใจ ของ ดร.เสรีนั้น น่าจะเป็น “สลิ่ม” ส่วนน้อยมากกว่า เพราะส่วนมากนักวิเคราะห์ทางการเมืองเชื่อเป็นเสียงเดียวกันว่า เลือก “ชัชชาติ” เป็นผู้ว่าฯกทม.เช่นกัน 

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงกรณีคลองแสนแสบระบายน้ำไม่ทัน หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ว่า

พื้นที่ได้รับผลกระทบ คือ มีนบุรี และลาดกระบัง “ต้องหาทางระบายน้ำออกไปทางคลองร้อยคิว อ.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ ซึ่งต้องประสานกับทางกรมชลประทาน พอน้ำไหลช้าจะเอ่อในฝั่งตะวันออก ถนนศรีนครินทร์ ถนนหัวหมาก ส่วนหนึ่งมาจากอุโมงค์ระบายน้ำหนองบอน คลองเคล็ด ที่ยังมีปัญหา กทม.จะรีบเข้าไปแก้ปัญหาให้คลองแสนแสบระบายน้ำเร็วขึ้น เพราะอุโมงค์อยู่ไกล จากมีนบุรีเข้าอุโมงค์ปล่องแรกที่ลาดพร้าว ซึ่งมีระยะไกลกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งตอนนี้คลองแสนแสบระดับน้ำลดลงมาแล้ว จะทำให้การระบายออกพระโขนงเร็วขึ้น”

นายชัชชาติ กล่าวว่า วานนี้ฝนตกลงมา 2 ชั่วโมง น้ำเพิ่มขึ้นมา 1 เมตร โดยก่อนหน้านี้มีการพร่องน้ำออกไปก่อนหน้าแค่ 30 เซนติเมตร ต่อมาฝนตกในวงกว้าง และอยู่ในที่นิ่ง 3 ชั่วโมง ซึ่งมีหลายจุดที่ต้องปรับปรุง โดยวันนี้ กทม.มีการปล่อยหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั้งการซ่อมรถ ขนคนกลับบ้าน ซึ่งมีการระดมทรัพยากรจากทุกเขต

“เชื่อว่าถ้ามีการเร่งปั๊มน้ำออก พร้อมกับไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์พรุ่งนี้เช้าน่าจะดีขึ้น ก็จะเหลือจุดย่อยๆ ตามหมู่บ้าน ซึ่งต้องเอาปั๊มน้ำเข้าไปช่วยสูบน้ำออก โดยเฉพาะโซนหัวหมาก รามคำแหง ศรีนครินทร์ นอก”

ส่วนโทษใครหรือไม่ จากปัญหาน้ำท่วม “ชัชชาติ” กล่าวว่า “ไม่ต้องโทษใคร ก็โทษผมไง ผมรับผิดชอบทั้งหมด น้ำท่วม ไม่ต้องไปโทษใครเลย ผู้ว่าฯต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว รับผิดชอบ 100% ผมเป็นผู้ว่าฯปัจจุบันแล้ว ไม่ต้องพูดถึงคนในอดีตทั้งสิ้น ก็จะทำให้ดีที่สุด วางแผนทั้งในระยะสั้นระยะยาว”

ไม่ต่างกันเลย ผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา ก็ชี้แจงอย่างเป็นเหตุเป็นผลถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามแก้ไขเช่นกันทุกคน เพียงแต่การทุ่มเททำงาน อาจต่างกันตามสไตล์ของแต่ละคนเท่านั้นเอง

กรณีนี้ถือว่า “ชัชชาติ” เตรียมตัวมาดี และทำงานใกล้ชิด เกาะติดปัญหา สมกับที่อาสาเข้ามารับใช้ชาว กทม.ดีกว่าทุกคนที่ผ่านมาก็ว่าได้(แค่เริ่มต้น ยาวไปยังไม่รู้)

ความจริง เรื่องน้ำท่วม กทม. ปัญหา และการแก้ไข ทำอย่างไร “ชัชชาติ” น่าจะรู้ดีที่สุดคนหนึ่ง เพราะเป็นคนอาสาชาวกทม. เข้ามาแก้ไขโดยเฉพาะ และรู้ดีว่า เป็นปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นทุกครั้งในช่วงฤดูฝน

เห็นได้จาก ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. (23 เม.ย.65) “ชัชชาติ” เสนอ แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ขณะลงพื้นที่หาเสียง เขตคันนายาวและเขตบึงกุ่ม ว่า

ท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ มีความยาว ประมาณ 6,000 กิโลเมตร และมีคูคลองประมาณ 2,600 กิโลเมตร จากข้อมูลที่มี พบว่า ที่ผ่านมามีการลอกคลองประมาณ10 % ต่อปี ลอกท่อระบายน้ำไม่มาก ดังนั้น ต้องเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องนี้

ในส่วนของคูคลองต้องลอกอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และเพิ่มพื้นที่ความจุของน้ำ ส่วนท่อระบายน้ำในกทม. ควรลอกอย่างน้อยปีละ 3,000 กิโลเมตร คาดว่าจะต้องใช้เงินในการดำเนินการไม่เกิน 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังต้องสร้างแก้มลิงเพิ่มเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรองรับและระบายน้ำ

ถ้าจะว่าไปแล้วนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมของ “ชัชชาติ” ฟังดูก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ไปกว่า ข้อเสนอที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าควรทำอย่างไร แค่ทำจริงให้มากขึ้น และลงทุนในสิ่งที่ควรลงทุนอย่างแท้จริงเท่านั้นเอง

แต่ถามว่า นอกจากวิธีแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. อย่างที่ “ชัชชาติ” วางนโยบายเอาไว้ ทางเลือกใหม่มีหรือไม่

คำตอบ อาจอยู่ที่ “โมเดลแก้น้ำท่วม กทม.” ของ “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ” (สสน.) ที่ไปคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกมาแล้วก็เป็นได้   

โดย นายสุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.) เผยว่า

สสน. ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(depa) ส่งผลงานชื่อ “Hydrogence” เข้าประกวดในงาน Siemens MindSphere World Series Hack การแข่งขันระดับโลกในงาน World Expo 2020 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “อนาคตของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” (Future Water Hack)

Hydrogence คือแพลตฟอร์มดิจิทัลแก้ปัญหาน้ำในเมือง ที่ใช้กรุงเทพฯเป็นเมืองต้นแบบของ “Smart Water Team” ทีมเฉพาะกิจร่วมของสสน. และ depa ได้รับรางวัลชนะเลิศถึง 2 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศ Future Water Hack Winner และรางวัลชนะเลิศ Community Choice Award ทำให้ Smart Water Team เป็นทีมเดียวจากเอเชียที่เข้าถึงรอบสุดท้าย และได้รับรางวัลชนะเลิศ จากทั้งหมด 96 ทีมทั่วโลก

แรงบันดาลใจของ Hydrogence (มาจากคำว่า a Hydro+ Intelligence Platform) มาจากการที่ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของกรุงเทพฯ เพราะมีลำคลองยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร (กม.) มีความซับซ้อนของพื้นที่ และเป็นพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล การระบายน้ำ ต้องใช้ประตูระบายน้ำ และเครื่องสูบน้ำ ที่ยังใช้เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการเปิด-ปิด บางครั้งเมื่อฝนตกกลางดึก เจ้าหน้าที่อาจมาไม่ทันเปิดประตูระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมได้

“ด้วยความซับซ้อนของพื้นที่ ความเสี่ยงที่การระบายน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ และแบ่งการระบายโดยใช้คนทั้งหมด จึงเป็นที่มาของ Hydrogence การแก้ปัญหาน้ำในเมืองโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพราะโจทย์ของการประกวดต้องการเห็นการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน และทำได้จริง ที่สำคัญโซลูชันที่นำเสนอต้องใช้งานได้กับ MindSphere ผลิตภัณฑ์ของซีเมนส์ ผู้จัดการประกวดได้”

สำหรับการทำงานของ Hydrogence นายสุรเจตส์ อธิบายว่า Hydrogence จะเชื่อมต่อข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ จาก 242 ประตูน้ำ 191 เครื่องสูบน้ำ และกว่า 573 IoT เซ็นเซอร์ บนเส้นทางการไหลของน้ำในคลองและเส้นทางระบายน้ำกว่า 2,760 กม. โดยใช้แพลตฟอร์มติดตามสถานการณ์น้ำและอากาศในเมือง, คาดการณ์ปริมาณน้ำเพื่อวางแผนรับมือ และสั่งการควบคุมการไหลของน้ำด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างแบบจำลองเสมือนในโลกดิจิทัล รวมทั้งดึงข้อมูลจาก Crowdsourcing เพื่ออุดช่องโหว่ตามลำน้ำย่อย และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งปัญหา ทำให้เกิดความยั่งยืนของระบบบริหารจัดการน้ำ ทั้งระดับเมืองและระดับประเทศ

ขณะที่ น.ส.พิณทิพย์ วัชโรทัย หัวหน้างานประสานงานและบริหารโครงการ ฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีและดิจิทัล สสน. เสริมว่า Hydrogence ยังมีคอนเซปต์ของ Smart City เพิ่มมาด้วย เช่น แถวบ้านเรา เมื่อฝนตกแล้วน้ำท่วม แต่ที่อื่นแห้ง คนที่เปิดประตูระบายน้ำไม่รู้ว่าที่บ้านเราน้ำยังท่วมอยู่ จะทำอย่างไรให้รู้ได้ Hydrogence จะมีระบบ หรือเซ็นเซอร์ ที่จับได้ว่า บริเวณใดน้ำยังท่วมอยู่และส่งข้อมูลเข้าระบบ ทำให้ประตูระบายน้ำยังทำงานได้แบบอัตโนมัติ

“Hydrogence จะเจอปัญหาก่อนใคร เพราะเป็นตัวพยากรณ์ว่า ปัญหาเป็นอย่างไร และใครจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร เช่น ถ้าฝนตก เซ็นเซอร์ตามถนนและรางน้ำต่างๆจะบอกได้ว่า ปริมาณน้ำฝนมากหรือน้อย และจะบอกคนที่เกี่ยวข้องว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ต้องแก้อย่างไร”

โดยประเด็นนี้ นายสุรเจตส์ได้เสริมว่า เราจะกำหนดพื้นที่ hot spot ที่มีปัญหากระจุกตัวมากๆ 3-4 แห่ง แล้วให้ Hydrogence สแกนหาปัญหา เมื่อพบแล้วจะเสนอชุดคำตอบในการแก้ไข เช่น ควรเดินเครื่องสูบน้ำตรงไหน ต้องไล่น้ำไปลงแม่น้ำอย่างไร แต่ในอนาคตจะพัฒนาให้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนและยากมากขึ้น เช่น ถ้าน้ำมากในหลายพื้นที่พร้อมกัน จะบอกได้ว่า ควรแก้ที่ใดก่อน การไล่น้ำทำอย่างไร น้ำจะต้องเดินทางเส้นไหนเพื่อให้ระบายได้เร็ว เหมือน Google Map ที่จะบอกเส้นทางว่า ไปทางไหนจะถึงจุดหมายเร็วที่สุด

นายสุรเจตส์กล่าวต่อว่า จะใช้แพลตฟอร์มนี้ในพื้นที่นำร่อง คือ คลองบางเขน บริเวณสำนักงานของ สสน. และคลองผดุงกรุงเกษม ล่าสุด สสน.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ depa เพื่อทดสอบเทคโนโลยีนี้ในพื้นที่นำร่อง, ทำแพลตฟอร์มต้นแบบติดตามน้ำท่วมด้วย IoT, คาดการณ์ปริมาณน้ำและทิศทางการไหล เพื่อวางแผนและเตือนภัย, ทดสอบระบบสั่งการ และควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติด้วย AI และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

“Hydrogence แก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่า กทม.จะเอาด้วยหรือไม่ เราต้องทำให้เขาเห็นประโยชน์ว่าระบบจะทำให้เขาทำงานน้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ส่วนประชาชนจะได้ประโยชน์ในการวางแผนชีวิต วางแผนการเดินทางได้”

ในอนาคตจะขายแพลตฟอร์ม Hydrogence หรือไม่ นายสุรเจตส์ กล่าวว่า ถ้าจะขาย ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น และหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย ไม่ใช่จบที่แค่แก้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองได้เท่านั้น

ขณะที่ น.ส.พิณทิพย์ กล่าวเสริมว่า แก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยดิจิทัล ยังไม่มีใครเคยทำ มั่นใจว่า แก้ได้จริง เพราะเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้ระบบอัตโนมัติทั้งหมด ถ้าจะทำให้เกิดการใช้งานจริง หน่วยงานภาครัฐต้องช่วยกันผลักดัน แต่การบริหารจัดการต้องให้ภาคเอกชน หรือหน่วยงานรัฐที่มีอิสระเพียงพอ ถ้าภาครัฐบริหารโดยลำพัง จะไปไม่ได้(ไทยรัฐฉบับพิมพ์/9 มิ.ย. 2565)

ฟังดูน่าสนใจ หาก “ผู้ว่าชัชชาติ” ต้องการ “เติมเต็ม” นโยบายที่วางแผนเอาไว้ เพราะถ้าสำเร็จ ไม่เพียงจะครองใจคนกทม.เท่านั้น หากแต่ยังเป็น “บุญ” ของคนกรุงเทพฯ ที่จะได้เลิกบ่น “ฝนตกน้ำท่วมรถติด” เสียที

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าวิเคราะห์ ประเด็นทางการเมืองก็คือ ความเป็น “ชัชชาติ” ที่คนกทม.กว่า 1.3 ล้านคะแนนเสียงเลือกแล้ว จึงไม่ว่าปัญหาอะไร คนกทม.ก็พร้อมให้โอกาสทำงาน และรับสถานการณ์ได้ โดยไม่ปริปากบ่น หรือมีใครบ่น ก็มักจะมีคนออกมาช่วยอธิบาย ถึงความยากง่ายของการแก้ปัญหา ทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ลดลง และทนกับสภาพปัญหาได้ อย่างกรณีน้ำท่วมที่เป็นอยู่ในเวลานี้

ยิ่งกว่านั้น กลุ่มคนที่ถือว่า “เสียงดังที่สุด” ในโลกโซเชียล อย่าง “กลุ่มคนรุ่นใหม่” และกลุ่มหัวก้าวหน้าทางการเมือง ที่เห็นว่า การได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.ของ “ชัชชาติ” ถือว่า เป็นผู้ว่าฯในระบอบประชาธิปไตย(อีกครั้ง) หลังก่อนหน้านี้(ช่วงรัฐประหาร)มีผู้ว่าฯจากการแต่งตั้ง จึงพยายามปกป้องเหมือน “ของหวง” อย่างถึงที่สุด

โดยพยายามให้ทุกคนคิดเสียว่า เรื่องน้ำท่วม กทม. เป็นเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้นทุกปี เป็นเรื่องทุกคนจะต้องร่วมมือกัน ช่วยกันรักษาความสะอาดเก็บขยะมูลฝอยให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง ช่วยกันดูแลแม่น้ำลำคลองไม่ให้ตื้นเขิน ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแทนผู้ว่าฯกทม. เรามาถูกทาง และได้คนที่เป็นคนของเราอย่างแท้จริงแล้ว อะไรประมาณนี้  

นี่คือ สิ่งที่เรียกว่า “เข้าใจโลก” คนกทม.เริ่มเข้าใจโลก คนในโลกโซเชียลเริ่มเข้าใจโลก ทุกคนก็จะต้องเข้าใจโลกตามไปด้วย? จะต้องไม่โทษ ไม่บ่น ไม่ว่า ผู้ว่าฯก็กทม.ของพวกเรา

ส่วน “ชัชชาติ” ก็ถือว่า มี “ไลฟ์สไตล์” ถูก “จริต” ของคนรุ่นใหม่ถูกใจชาวบ้านร้านตลาด และทุ่มเททำงาน ไม่ห่วงหลับห่วงนอน ห่วงกินห่วงอยู่ เป็นขวัญใจมาตั้งแต่ได้รับเลือกตั้ง จนกระทั่งวันนี้

จึงแม้ คำว่า “เข้าใจโลก” จะออกไปในทางประชดประชัน แต่ในเมื่อไม่มีพฤติกรรม “ย้อนแย้ง” เกิดขึ้นจาก “ผู้ว่าชัชชาติ” น้ำท่วมจึงแค่น้ำท่วม รถติดปกติก็ติดอยู่แล้ว ผู้ว่าฯก็พยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่อยู่แล้ว... คิดอย่างนี้ “โลกกทม.” น่าอยู่ขึ้นเยอะ

ว่าแต่ประเทศไทย ทำอย่างไรจะมีการเมืองที่น่าอยู่อย่าง กทม.?