เรื่องของ SDGs-ESG-BCG | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เรื่องของ SDGs-ESG-BCG | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ ความเจริญและความทันสมัยของโลกในหลายๆ ด้าน ได้นำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมโลกเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ยิ่งซ้ำเติมปัญหาต่างๆ ให้ขยายวงกว้างขวางขึ้นทั่วโลก

ดังนั้น ในภาวะที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตซ้ำซ้อนเช่นนี้ ความร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อกลับมาดูแลโลกใบนี้อย่างเร่งด่วน จึงไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกต่อไป แต่เป็น ”ทางรอด” สำหรับมนุษยชาติที่จะอยู่ร่วมกันบนโลกนี้อย่างสงบสุขเท่านั้น

นอกจากนี้ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการอุปโภคบริโภคอย่างสิ้นเปลือง ตามจำนวนประชากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 พันล้านคน ในปี 2050 ก็จะมีผลให้ทรัพยากรธรรมชาติทั่วโลกขาดแคลนมากขึ้นทุกที

นักลงทุนจากสถาบันและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก จึงรวมตัวกันภายใต้ชื่อ “UN PRI” (Principle for Responsible Investment) (จากการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ) เพื่อยึดหลักปฏิบัติสำหรับ “การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ” ซึ่งเน้นการปฏิบัติในประเด็นสำคัญด้าน “ESG” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “ธุรกิจควรเติบโตควบคู่ไปกับการคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

“ESG” จึงเป็นทั้งแนวความคิดและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ใช้ขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดย E คือ Environmental หมายถึง การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม S คือ Social หมายถึง การจัดการด้านสังคม และ G คือ Governance หมายถึง การจัดการด้านธรรมาภิบาล

ESG จะเป็นปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน พร้อมๆ กับสนับสนุนธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน นักลงทุนจึงควรนำปัจจัย ESG มาประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจลงทุนในกิจการต่างๆ โดยเปิดเผยข้อมูลด้าน “ESG” อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่ามีส่วนร่วมสนับสนุนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบและเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน แนวความคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยยึดกรอบของ ESG กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งจากบริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งของกิจการและสังคมโดยรวม

โดยจะใช้ผลการดำเนินงานด้าน “ESG” ของธุรกิจอุตสาหกรรม จากตัวชี้วัดทั้ง 3 ด้านนี้มาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา เพื่อประเมินความยั่งยืน ความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และความสามารถในการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย จากนั้นจึงตัดสินใจร่วมลงทุนหรือไม่ต่อไป

หลักการหรือแนวความคิดในประเด็น ESG จึงสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต้องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบและแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่บนรูปของผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการเห็นการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลของกิจการมากขึ้นด้วย

“ESG” จึงยึดเอา “ความยั่งยืน” ของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม สังคมและส่วนรวมเป็น “เป้าหมาย” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของโลกหรือ Sustainable Development Goals (SDGs 17 ข้อ) ที่ประเทศต่างๆ เห็นชอบร่วมกันตามรายงานของ World Economic Forum (WEF) เมื่อปี 2015

ปัจจุบัน แนวโน้มการกีดกันสินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง โดยผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ อาทิ European Green Deal ซึ่งมีการบังคับใช้มาตรการปรับภาษีสินค้าที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง (CBAM) นั้น ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาลูกค้าและความสามารถในการแข่งขัน

การบังคับใช้มาตรการ CBAM ไม่เพียงแต่กระทบธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่กิจการขนาดกลางและเล็กประเภท SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันด้วย เพราะการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้มาตรการ CBAM จะคิดตลอดทั้งวงจรการผลิตสินค้านั้นๆ

ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงต้องเร่งปรับตัว ปรับรูปแบบ และปรับกระบวนการผลิตหรือวิธีทำงาน เพื่อให้สามารถรองรับกฎกติกาการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนับวันจะยิ่งมีบทบาทต่อความอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมทุกขนาด

ขณะที่ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ “BCG Economy” เป็นแนวความคิดและแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของประเทศ คือ การพัฒนา “เศรษฐกิจชีวภาพ” (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่ยุค “Thailand 4.0” ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคุณภาพชีวิตคนไทยและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

แนวความคิดของ SDGs-ESG-BCG ในวันนี้จึงสอดรับกันในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการอยู่บนโลกใบนี้อย่างรับผิดชอบร่วมกันและแบ่งปันกันอย่างทั่วถึง ครับผม!