ไทยยังไม่วิกฤติแบบศรีลังกา-ลาว | อนุสรณ์ ธรรมใจ

ไทยยังไม่วิกฤติแบบศรีลังกา-ลาว | อนุสรณ์ ธรรมใจ

ความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจไทย จะยังไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแบบศรีลังกาหรือลาว อย่างน้อยในระยะสองสามปีข้างหน้านี้ แต่มีความเสี่ยงเรื่องฐานะทางการคลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในประเทศ จะทำให้ภาระต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน

ทั้งในส่วนของหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคเอกชน หนี้ครัวเรือน วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในศรีลังกา ลาว และประเทศอื่นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ในขณะนี้อาจส่งผลต่อเงินทุนระยะสั้น เก็งกำไรในตลาด การเงินไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่บ้าง มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ บางประเทศกระทบน้อยมากหรือไม่กระทบเลย

การไหลออกของเงินทุนเก็งกำไรระยะสั้นไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจของชาวไทยส่วนใหญ่แต่อย่างใด กรณีของไทยนั้นมีผลกระทบในระดับปานกลาง สิ่งนี้ได้สะท้อนมายังการปรับลดลงต่อเนื่องของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย รวมทั้งเงินบาทอ่อนลง ผู้เขียนประเมินว่าใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้วในรอบนี้ การปรับหรือไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยภายในมีผลต่อการไหลออกของเงินทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเกินเหตุ 

ไทยยังไม่วิกฤติแบบศรีลังกา-ลาว | อนุสรณ์ ธรรมใจ

(ภาพถ่ายโดย Sirikul R)

ผลกระทบของวิกฤติในศรีลังกาและลาว ทำให้ปริมาณการค้าต่อกันลดลง แต่วิกฤติดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสของกลุ่มทุนไทยในการขยายการลงทุนไปศรีลังกาและลาวเช่นเดียวกัน แต่ภาพรวมส่งออกของไทยยังไปได้ดี ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5-6% ยิ่งเงินบาทอ่อนค่า ยิ่งส่งผลดีต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

เศรษฐกิจไทยนั้นยังมีความเสี่ยงต่ำ แม้ไทยจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง 2 ปีต่อเนื่องก็ตาม เมื่อไทยเริ่มเปิดประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติจะทำให้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง และน่าจะกลายมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายปี ส่วนราคาน้ำมันผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ราคาน่าจะทยอยปรับตัวลดลง 

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสะท้อนว่า อาจเข้าใกล้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจทางเทคนิค (Technical Recession) อาจช่วยลดแรงกดดันเงินดอลลาร์แข็งค่าได้ระดับหนึ่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยจะมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศถึง 1.3 เท่าโดยประมาณ และหนี้ต่างประเทศปี 2564-2565 ก็อยู่ที่ประมาณ 38-39% ของจีดีพี ประมาณ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศเป็นหนี้ระยะสั้น ประมาณ 36-37% 

ไทยยังไม่วิกฤติแบบศรีลังกา-ลาว | อนุสรณ์ ธรรมใจ

(ภาพถ่ายโดย Uriel Mont)

หากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน แบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน ส.ค. ธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับดอกเบี้ยตาม จะทำให้ภาระการผ่อนชำระต่อเดือนของลูกหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 5-5.5% เป็นอย่างน้อย ขณะนี้ ธนาคารพาณิชย์และกลุ่ม non-bank ส่วนใหญ่ได้ปล่อยให้ดอกเบี้ยลอยตัวแล้ว 

หาก กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% กรณีวงเงินสินเชื่อของลูกหนี้อยู่ที่ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเดือนละ 4,500 ต่อเดือนจะต้องผ่อนชำระเพิ่มเป็น 4,750 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5-5.5% สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้อยู่ที่ 86-88% ลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อยจากจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น อาจกลับมาเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 90% อีกครั้งหนึ่งในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

ขณะนี้ อัตราการผ่อนชำระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้อยู่ที่ 34-35% ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%-0.75% ในช่วงที่เหลือของปี จะทำให้อัตราการผ่อนชำระเทียบกับรายได้แตะระดับ 40% ได้ 

ฉะนั้น ผู้บริโภคจะมีขีดจำกัดในการบริโภคเพิ่มหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจอาจชะลอการลงทุนได้ ธนาคารบางแห่งคงใช้วิธีการยืดการผ่อนชำระยาวขึ้นแทนที่จะให้ลูกค้าผ่อนชำระต่องวดสูงขึ้น ยอดการชำระต่องวดก็จะมีการนำไปหักดอกเบี้ยมากขึ้น หักเงินต้นลดลง หากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้

หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 0.75% ในปีนี้ ธนาคารพาณิชย์น่าจะให้ลูกค้าเดิมผ่อนชำระต่องวดเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน