"อนุสรณ์ ธรรมใจ" ชี้วิกฤติอาหารโลกลากยาวถึงกลางปี 67 แต่มองเป็นโอกาสต่อภาคการส่งออกไทย

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" ชี้วิกฤติอาหารโลกลากยาวถึงกลางปี 67 แต่มองเป็นโอกาสต่อภาคการส่งออกไทย

อนุสรณ์ ธรรมใจ ชี้วิกฤตอาหารจะลากยาวกว่าวิกฤตพลังงาน กระทบประชากรโลกหลายพันล้านคน กรณีเลวร้ายสุดลากยาวถึงกลางปี 2567 แต่มองเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย ควรเร่งพัฒนาภาคการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เสนอแจกคูปองอาหาร เงินช่วยเหลือค่าครองชีพช่วยผู้มีรายได้น้อย

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นถึง วิกฤตการณ์อาหารโลกและเหตุการณ์ที่กว่า 30 ประเทศระงับการส่งออกอาหารว่า เป็นผลกระทบจากสงครามระบอบปูตินรัสเซียยูเครน

ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น เกิดปัญหาขาดแคลนปุ๋ยและวัตถุดิบอาหาร การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายล่วงหน้า การชะงักงันของการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน การกีดกันการค้าสินค้าเกษตรด้วยระบบโควต้า และ ระงับการส่งออก

ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารในประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารจำนวนมาก การจำกัดและระงับการส่งออกอาหารในประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศเพื่อแก้ปัญหาภายในประเทศตัวเอง แต่ทำให้ปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ต้นทุนการแก้ปัญหาสูงขึ้นและไม่เกิดประสิทธิภาพ

สงครามทำให้พื้นที่การผลิตข้าวสาลีและธัญพืชได้รับความเสียหาย และไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ รวมทั้งไม่สามารถส่งออก โดยรัสเซียกับยูเครนเป็นสองประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก

ทำให้ประเทศนำเข้าข้าวสาลีอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อียิปต์ โมร็อกโก และเลบานอน มองหาประเทศส่งออกมาแทนที่รัสเซียและยูเครน เนื่องจากสงครามส่งผลให้ผลผลิตติดค้างในยูเครน ส่วนการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกทำให้การซื้อข้าวสาลีจากรัสเซียทำได้ยาก สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ จะทำให้ทั่วโลกหันไปพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดีย เพื่อบรรเทาปัญหาดีมานด์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ล่าสุด อินเดียก็ต้องระงับการส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และป้องกันไม่ให้ราคาภายในปรับตัวสูงเกินไป ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรมและวิกฤติการขาดแคลนอาหาร ความมั่นคงทางอาหารย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

ดันราคาข้าวสาลีทั่วโลกเพิ่มขึ้น 60% จาก 800 ดอลลาร์ ปรับขึ้นมาเกือบ 1,300 ดอลลาร์ (60-70%) ราคาข้าวโพดขึ้นสูงกว่า 760-780 ดอลลาร์ ทำให้ ต้นทุนการผลิตอาหารและอาหารสัตว์สูงขึ้นหมด แต่ไทยนำเข้าข้าวสาลีจากอินเดียไม่มาก ส่วนใหญ่ไทยนำเข้าจากจีน ราคาข้าวสาลีแพงขึ้นทำให้สินค้าที่ใช้ทดแทนกันอย่างผลิตภัณฑ์ข้าวต่างๆ ได้รับอานิสงส์

ราคานม ราคาน้ำตาล ราคาข้าว น้ำมันคาโนลา (สำหรับปรุงอาหาร) ราคาอาหารสัตว์ ราคาเนื้อสัตว์ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ดัชนีราคาขององค์การอาหารโลก (FAO Food Price Index) โดยภาพรวมช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 158-159 เนื้อสัตว์อยู่ที่ 145-147 น้ำตาลอยู่ที่ 117-121 น้ำมันพืชอยู่ที่ 237-251 ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์

หากดัชนีราคาอาหารสูงกว่า 100 คือ ราคาอาหารเพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ราคาอาหารทั่วโลกรวมทั้งไทยปรับตัวสูงขึ้น เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารและวิกฤตการณ์อาหารในบางประเทศ

ส่วนการยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าและยกเลิกมาตรการภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของรัฐบาลไทยจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ระดับหนึ่งในระยะสั้นเท่านั้น ขณะนี้มีปัญหาในทางปฏิบัติจากกลไกระบบราชการที่มีขั้นตอนล่าช้าไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์

ทั้งนี้คาดว่า วิกฤติอาหารโลกจะรุนแรงกว่ายาวนานกว่าวิกฤติพลังงาน และมีความเชื่อมโยงกัน ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกระดับหลายพันล้านคน แม้สงครามของระบอบปูตินอาจจะยุติลงปลายปีนี้ แต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องระยะยาว ภัยแล้ง และ อุทกภัยครั้งใหญ่จะทำลายพื้นที่ทางการเกษตรเป็นระยะๆ

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหารจึงมีความสำคัญมากต่อหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตร แม้ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารแต่ก็ไม่ควรประมาท ควรมียุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารไว้ด้วย นอกเหนือจากการมุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก”

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การระงับการส่งออกอาหารเกิดขึ้นในประเทศที่ผลิตอาหารไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ และต้องพึ่งพาการนำเข้า การระงับส่งออกอาหารและกักตุนอาหารจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีประเทศต่างๆ ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น การเปิดเสรีทางการค้าเกี่ยวกับสินค้าอาหารจะชะงักงันไประยะหนึ่ง การกำหนดโควต้าการส่งออก จนถึงการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าเกี่ยวเนื่องกันจะขยายวงเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป การสต๊อกอาหารและกักตุนอาหารก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และ สถานการณณ์น่าจะยืดเยื้อไปถึงกลางปี พ.ศ. 2567 (กรณีเลวร้าย)

กรณีพื้นฐานปลายปีนี้ก็น่าดีขึ้นแต่สงครามของระบอบปูตินต้องยุติ วิกฤติความมั่นคงทางอาหารครั้งนี้ต่างจากวิกฤติราคาอาหารโลกเมื่อปี พ.ศ. 2550-2551 ซึ่งวิกฤติคราวนั้นเป็นผลจากภัยแล้งรุนแรง และการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก รวมทั้งการใช้พลังงานชีวภาพที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างการค้าและการผลิตสินค้าเกษตรที่กระจุกตัวในประเทศหลักๆ ไม่กี่ประเทศ

สำหรับคราวนี้ สงครามยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะพื้นที่สงครามเป็นแหล่งผลิตธัญพืชส่งออกหลายตัว ตอนนี้ผลิตไม่ได้ เก็บเกี่ยวไม่ได้ กว่าจะทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตามปรกติคงต้องใช้เวลาอีกนานมากทีเดียว รอดูว่าสงครามและการหยุดยิงจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ส่วนการเก็งกำไรในตราสารอนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์มีผลต่อการพุ่งขึ้นของราคาอาหารน้อยมากเมื่อเทียบกับวิกฤติราคาอาหารเมื่อปี พ.ศ. 2550

ราคาอาหารของโลกโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 30-40% แล้วนับตั้งแต่สงครามยูเครนกับระบอบปูตินรัสเซียปะทุขึ้น กระทบผลผลิตเบื้องต้นไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10-20% ปัญหาวิกฤติอาหารอาจใหญ่กว่าวิกฤติพลังงานและอาจใช้เวลาแก้ไขนานกว่า เป็นภัยคุมคามต่อประเทศยากจนทั่วโลกและประเทศพัฒนาแล้ว และอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคมรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

มีการประเมินโดยองค์การอาหารโลก FAO และของธนาคารโลก พบว่า คนจนในประเทศยากจน 10 ล้านคนจะถูกผลักให้อยู่ในฐานะยากจนรุนแรง ทันทีจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น 1% เพราะรายจ่ายในการซื้ออาหารคิดเป็นมากกว่า 50-60% ของรายได้ของคนเหล่านี้ และในช่วง 2 ปี จากการแพร่ระบาดของโควิด คนกลุ่มนี้ก็มีรายได้ลดลง หรือว่างงานมากว่า 2 ปีแล้ว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์เช่นนี้เป็นโอกาสที่ดีของภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทย กรณีของไทยเราไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดโควตาหรือระงับการส่งออกในขณะนี้ แต่เราควรเร่งส่งออกหากผลิตเหลือใช้เหลือบริโภคจำนวนมาก และควรจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2566 เพิ่มเติมให้กับภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอาหารในการลงทุนวิจัย ลงทุนพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น

รวมทั้งเดินหน้าสู่การเป็นครัวของโลก เป็นศูนย์กลางภาคเกษตรกรรมคุณภาพสูงของโลก ถือเป็นการทำภารกิจเพื่อมนุษยชาติโดยรวม ไม่ได้ทำหยุดอยู่ที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแห่งชาติเท่านั้น นอกจากนี้ ไทยควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นในองค์การอาหารโลก (Food and Agricultural Organization of the United Nations) เพื่อขจัดความหิวโหยและการเข้าถึงอาหารอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์

ความต้องการสินค้าอาหารหลายชนิดจากไทยจะเพิ่มขึ้นทดแทนการส่งออกที่หายไปจากประเทศที่ระงับการส่งออก และจะขายได้ราคาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีธัญพืชบางตัว วัตถุดิบผลิตอาหารบางอย่างที่เราต้องนำเข้าก็จะได้รับผลกระทบของอาจแพงขึ้นมาก และอาจขาดแคลนได้เป็นปัญหาของโลกโดยรวม

ล่าสุด ทางธนาคารโลกได้ประกาศแผนรับมือวิกฤติความมั่งคงอาหารโลก โดยอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลลาร์ และได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพิ่มปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร การผลิตปุ๋ย การชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ผลิตที่เปราะบาง

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า โดยภาพรวมไทยได้ประโยชน์จากรายได้ส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงนี้ ขณะเดียวกันราคาอาหารและค่าครองชีพในประเทศจะแพงขึ้นไปจนถึงปลายปีนี้ คาดว่ารายได้จากภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐก็ควรไปหามาตรการหรือกลไกที่ทำให้รายได้เหล่านี้กระจายไปสู่ผู้ผลิตและเกษตรกรอย่างเป็นธรรม 

ส่วนผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอาหารแพง คือ คนจน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารจะคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของคนกลุ่มนี้ คนที่กระทบหนักสุด คือ คนจนเมือง รัฐอาจต้องจัดมาตรการสวัสดิการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนมาก เช่น คูปองอาหาร เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม เป็นต้น

รศ.ดร.อนุสรณ์  เปิดเผยอีกว่า ราว 1 ใน 4 ของแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตอาหารในยุโรปมาจากรัสเซีย การแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมเพื่อผลิตปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการในระยะเวลาที่สั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรจะพุ่งสูงขึ้น และผลผลิตจะมีปริมาณต่ำลงมากและดันให้ราคาอาหารทะยานสูงขึ้นทั่วโลก

จำนวนมนุษย์ครึ่งหนึ่งของโลกรวมทั้งปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงเพื่อนำมาบริโภคได้อาหารจากการใช้ปุ๋ย หากการขาดแคลนปุ๋ยเกิดขึ้นในเวลายาวนานจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 50%

เวลานี้ รัฐบาลรัสเซียได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตระงับการส่งออกปุ๋ย เราจะเห็นคนอดตายจากการขาดอาหารเพิ่มขึ้น รัสเซียเป็นผู้ผลิตสารอาหารสำหรับพืชรายใหญ่ เช่น แร่โปแตช (potash) และฟอสเฟต (phosphate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยที่ช่วยให้พืชผลมีผลผลิตตามเป้าหมาย บรรษัทข้ามชาติสัญชาตินอร์เวย์ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนอย่าง ยารา อินเตอร์เนชันแนล (Yara International) ซึ่งดำเนินธุรกิจปุ๋ยในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซื้อวัตถุดิบดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยจากรัสเซียและมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในยูเครนที่เป็นพื้นที่สงคราม

ก่อนหน้านี้ราคาปุ๋ยได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้วจากราคาก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น สำหรับไทยซึ่งต้องนำเข้าปุ๋ยจำนวนมากจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย การเตรียมการเพื่อจัดซื้อล่วงหน้าเพื่อสต๊อกของเอาไว้มีความจำเป็นเร่งด่วน และคาดว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนปุ๋ยอย่างแน่นอน ในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยควรต้องมีการลงทุนโครงการทางด้านผลิตปุ๋ยใช้เองเพื่อให้เกิดความมั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งอาจมีความจำเป็นในการรื้อฟื้นโครงการปุ๋ยของอาเซียน

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังควรเดินหน้าเก็บภาษีการเก็งกำไรในตลาดคริปโทฯ และการลงทุนในตลาดการเงิน โดยเก็บเฉพาะส่วนต่างหากมีกำไร ไม่ควรเก็บจากฐานธุรกรรม การเก็บภาษีดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งรายได้เพิ่มขึ้นของรัฐ ลดการขาดดุลงบประมาณ การปรับโครงสร้างภาษีให้เก็บจากฐานทรัพย์สินมากขึ้น ลดการเก็งกำไรเกินขนาดอันจะนำมาสู่ฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ

การเลื่อนเก็บจะทำให้รัฐต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มอีก เพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศ ส่วนวิกฤติอาหารโลก บริษัทกลุ่มอาหารและเกษตรไทยได้อานิสงส์ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีฐานรายได้การส่งออกในสัดส่วนสูงได้ประโยชน์เต็มที่ คาดราคาหุ้นอาจปรับตัวเพิ่มได้อีก

โดย 4 บริษัทใหญ่ทางด้านอาหารและเกษตร บริษัทที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก คือ บมจ.ไทยยูเนียนกรุ๊ป (TU) คิดเป็นส่งออก 90% ของผลผลิต ส่วน บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) มีธุรกิจในต่างประเทศกว่า 60% สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายได้

ส่วน บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) มีการส่งออก 22% และบมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) มีสัดส่วนการส่งออก 39% ของผลผลิต อย่างไรก็ตาม แม้ยอดส่งออกเพิ่มขึ้น แต่บริษัทเหล่านี้เผชิญต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งอาหารสัตว์ (ราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองสูงขึ้น) ทั้งต้นทุนขนส่ง

อย่างกรณี การระงับส่งออกไก่ของมาเลเซีย จะทำให้บริษัทอย่าง CPF, GFPT, TFG ส่งออกไก่ได้มากขึ้นโดยเฉพาะตลาดสิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยปีที่ผ่านมา ไทยผลิตไก่ได้ 3.3 ล้านต้น บริโภคภายในเพียง 2.3 ล้านตัน เหลือส่งออก 1 ล้านตัน

หากไทยสามารถเพิ่มการผลิตในปีนี้เป็น 3.5-3.6 ตันทำให้ยอดส่งออกเพิ่มเป็น 1.2-1.3 ล้านตัน ส่งออกเพิ่มขึ้นได้อีก 20-30% และมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาภายในไม่มากนัก ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดโควต้าส่งออก หากสามารถเพิ่มผลผลิตได้