ชินโซะ อาเบะ: จากวันนั้น ถึงวันนี้ | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ชินโซะ อาเบะ: จากวันนั้น ถึงวันนี้ | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าแม้ผมดูเหมือนจะมีผลงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐหรือยุโรปมากกว่าญี่ปุ่น ทว่ามีเพียงประเทศเดียวที่ได้ให้เกียรติเชิญผมไปร่วมถกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง นั่นคือ ญี่ปุ่น

นั่นอาจหมายความว่าความที่เป็นเอเชียด้วยกัน จึงอาจทำให้ทางการญี่ปุ่นจับตาความคิดเห็นของผู้คนในภาคพื้นอาเซียนเป็นพิเศษ แล้วถ้าถามว่า แนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ประเภทการนำเอาชื่อผู้นำทั้งปัจจุบันและในอดีตมาผูกติดกับคำว่า nomics ไม่ว่าจะ Reaganomics หรือ Thaksinomics ใดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด?

หากลองไป search กูเกิล ก็จะพบว่าจำนวนครั้งในการค้นหาอันดับหนึ่ง ได้แก่ Abenomics นอกจากนี้ ผมคิดว่าขอบเขตของ Abenomics ยังคลอบคลุมทั้งนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และการยกเครื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่ามีขอบเขตเชิงนโยบายกว้างขวางมากกว่าหลายแนวคิดสไตล์ nomics อื่นๆ รวมถึงผมยังเชื่อว่าแนวคิดของ Abenomics น่าจะมีผู้คนอยู่ไม่น้อยที่จดจำเนื้อหาบางส่วนได้

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า การถึงแก่อสัญกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ควรต้องนำมาพูดถึง ตั้งแต่อิทธิพล บทเรียน และผลกระทบต่างๆจากทั้งนัยยะทางการเมืองและเศรษฐกิจในอนาคตของญี่ปุ่น

  • อิทธิพล หากพิจารณานโยบายรัฐบาลปัจจุบันของญี่ปุ่น จะพบว่าประกอบด้วย
  1. นโยบายเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อันประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังและการเงิน ซึ่งจะยังคงอัตราภาษีการบริโภคให้ต่ำ และนโยบายเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 เอาไว้ รวมถึงนโยบาย Abenomics ยังใช้งานอยู่เหมือนเดิม และมาตรการการค้าเสรีกับสหรัฐและภูมิภาคเอเชีย
  2. นโยบายที่เน้นการเท่าเทียมกันของรายได้และความั่งคั่งสำหรับประชาชนชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ ประกอบด้วยมาตรการการขึ้นค่าจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเซกเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด19 และนโยบายด้านภาษีและงบประมาณที่จะเน้นการกระจายรายได้ให้ถึงประชาชนทุกกลุ่มรายได้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆต่อ SME
  3. นโยบายที่เน้นความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศไว้ก่อน โดยมีมาตรการโยกย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการกระทบกระเทือนจากห่วงโซ่อุปทาน กลับเข้ามาตั้งฐานการผลิตในญี่ปุ่นแทน รวมถึงดูแลการค้าต่างๆกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน

จะพบว่านโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบัน มีแนวคิดของอาเบ้ผสมอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือต่างๆต่อ SME และนโยบายที่เน้นความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศ

  • บทเรียน

แม้ว่า mission ของ Abenomics ที่จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมาเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับสหรัฐและยุโรปจะไม่สำเร็จ แต่ก็ยังทำให้ความหวังของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่จะกลับมายืนได้ในเวทีโลก ยังสามารถจุดติดได้

โดยหากไม่มีการนำ Abenomics มาใช้ในเศรษฐกิจญี่ปุ่น แล้วนั้น ภาพ Lost Decade ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น รวมถึงการติดกับดักสภาพคล่องและภาวะเงินฝืด ก็ยังคงอยู่ในใจของคนทั่วไปเหมือนดังเช่นก่อนปี 2012 ที่ยังไม่มีการนำ Abenomics มาใช้

  • ผลกระทบต่างๆ จากทั้งนัยยะทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ก่อนอื่น ต้องขอบอกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะยาว ยังคงมีจุดเด่นที่ภาคบริการและสินค้าเทคโนโลยีใน Niche Market สำหรับบางเซกเมนต์ อย่างไรก็ดีการจากไปของ ชินโซะ อาเบะ มีโอกาสทำให้ภาพในระยะสั้นและระยะกลางมีความผันผวน ดังนี้

เมื่อสภาของญี่ปุ่นไม่มีอาเบะ ขั้วการเมืองของทาโร อาโซ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีอิทธิพลต่อเสียงในสภามากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในขั้วการเมืองนี้ ไม่ค่อยที่จะหนุน Abenomics มากเท่าไหร่นัก จึงอาจเป็นไปได้ว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสุดๆ ของธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ

จากลูกศรแรกของ Abenomics ที่เน้นนโยบายดังกล่าว น่าจะลดความเข้มข้นลง แม้ว่านายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ จะสนับสนุนลูกศรแรกของ Abenomics อย่างเต็มที่ก็ตาม

นอกจากนี้ ด้วยผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาบน (upper house) ที่พรรค LDP ชนะแบบท่วมท้น ส่วนหนึ่งจากการถึงแก่อสัญกรรมของ อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ก่อนหน้าการเลือกตั้งเพียง 2 วัน จนทำให้จำนวนเสียงรวมกับพรรค Komeito เกินสองในสามของทั้งหมด จึงสามารถผ่านวาระที่ต้องการจากทั้ง 2 สภา ส่งผลต่อดัชนี Nikkei 225 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 ในวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2022

อย่างไรก็ดี ด้วยเสียงในสภาสูงและสภาล่างของญี่ปุ่นที่สามารถผ่านมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน Article 9 หมวด Pacifist Constitution ว่าด้วยการเพิ่มงบและกำลังทหาร ได้โดยอัตโนมัติ ผนวกกับโอกาสการปกป้องลูกศรแรกของ Abenomics หรือนโยบายการคงดอกเบี้ยต่ำที่ดูจะลดลงในอนาคต เนื่องจากการเสียชีวิตของอดีต นายกฯ อาเบะ 

รวมถึง นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอ คิชิดะ เน้นประเด็นความเท่าเทียมมากไม่แพ้ลูกศรแรกของ Abenomics ตรงนี้ ก็อาจทำให้บีโอเจมีโอกาสสูงขึ้นที่จะผ่อนคลายนโยบาย Yield Curve Control ในอนาคต และอาจจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตได้