มองโลก เมื่ออินเดียแซงจีนแผ่นดินใหญ่ | ไสว บุญมา

มองโลก เมื่ออินเดียแซงจีนแผ่นดินใหญ่ | ไสว บุญมา

องค์การสหประชาชาติเพิ่งรายงานผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนประชากรโลก รายงานชี้ให้เห็นตัวเลขและแนวโน้มหลายอย่าง เช่น จำนวนประชากรโลกยังเพิ่มขึ้น ปลายปีจะทะลุ 8 พันล้านคน ปีหน้าประชากรของอินเดียจะขึ้นไปถึง 1.4 พันล้านคน

ส่งผลให้อินเดียแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากสุด จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มจนถึง 10.4 พันล้านคนในราวอีก 60 ปี ก่อนที่จะทรงตัวหรือลดลงบ้างหลังจากนั้น การเพิ่มขึ้นของประชากรส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่ในประเทศก้าวหน้าจำนวนมาก ประชากรจะลดลงรวมทั้งในจีน ทั้งที่ประเทศเหล่านี้มีนโยบายจูงใจให้พลเมืองมีลูกมากขึ้น ตัวเลขและแนวโน้มดังกล่าวมีหลายนัย

เนื่องจากทุกคนอยู่ได้ด้วยการบริโภค ซึ่งใช้ทรัพยากรโลกเป็นปัจจัยพื้นฐาน ฉะนั้น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้นย่อมสร้างความกดดันเพิ่มขึ้นต่อระบบนิเวศ ซึ่งอยู่ในภาวะขาดสมดุลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ยิ่งกว่านั้นทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ก้าวหน้ามากแล้ว ต่างดำเนินนโยบายให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป เพื่อสนองความต้องการบริโภคของพลเมืองส่วนใหญ่ ที่เชื่อว่ายิ่งบริโภคมากขึ้นจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น ระบบนิเวศจึงนับวันจะยิ่งถูกกดดันให้ขาดสมดุลร้ายแรงขึ้นอีก 

มองโลก เมื่ออินเดียแซงจีนแผ่นดินใหญ่ | ไสว บุญมา

(ภาพถ่ายโดย Kai-Chieh Chan)

ท่ามกลางความกดดันอย่างหนักจาก 2 ทาง ทรัพยากรถูกทำลายด้วยผลของกิจกรรมที่มนุษย์ทำสะสมไว้โดยมิได้สนองความต้องการของมนุษย์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะจากความแห้งแล้งที่ร้ายแรงและกว้างขวางขึ้น หรือลมพายุใหญ่ที่แรงขึ้นและเกิดบ่อยขึ้น การเดินสวนทางกันระหว่างระดับของทรัพยากรที่ลดลงกับระดับของความต้องการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างเข้มข้นจากระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ

สงครามในยูเครนเป็นตัวอย่างสดของการแย่งชิงระดับประเทศ เนื่องจากยูเครนเป็นผืนดินขนาดใหญ่ที่ใช้ผลิตได้ทั้งอาหารและพลังงาน ซึ่งประเทศอื่นต้องการเข้าถึงและครอบครอง ประเทศกำลังพัฒนาที่จะทำให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย 3 ประเทศและในแอฟริกา 5 ประเทศ

ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ คองโก แทนซาเนีย ไนจีเรีย เอธิโอเปีย และอียิปต์ ประเทศก้าวหน้าที่ประชากรลดลง หรือใกล้คงที่นอกจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี แล้วส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป

มองโลก เมื่ออินเดียแซงจีนแผ่นดินใหญ่ | ไสว บุญมา

(ภาพถ่ายโดย Mehmet Turgut  Kirkgoz)

ในขณะเดียวกัน ทั้งในประเทศก้าวหน้าและประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่ง สัดส่วนของประชากรกำลังเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ ผู้สูงวัยมีสัดส่วนสูงขึ้น ความแตกต่างดังกล่าวนี้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ มองเห็นประเด็นปัญหาของโลกและทางแก้ไขต่างกัน ยกเว้นอย่างเดียวได้แก่ ความต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์แก้ไขปัญหาของโลกไม่ได้ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน หรือความขัดแย้งรุนแรงจนเป็นสงคราม ด้วยเหตุนี้โลกจะมีปัญหาสาหัสในแนวเดิมต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 60 ปี ยกเว้นในกรณีที่ธรรมชาติส่งปัจจัยจำพวกไวรัสโควิด-19 มาช่วยแก้ไขให้เสียก่อน

ปัญหาดังกล่าวมีผู้มองเห็นและพยายามแก้ไขในหลายระดับ สำหรับในระดับผู้บริหารประเทศ ประธานาธิบดีโฮเซ มูจิกา ของอุรุกวัย ในช่วงปี 2553-2558 ได้พยายามดำเนินนโยบายจำพวกจะไม่เพิ่มปัญหาให้แก่โลก พร้อมกับดำเนินชีวิตในแนวนั้นเพื่อเป็นตัวอย่างด้วย แต่เขาทำได้เพียง 5 ปีก่อนที่จะหมดอำนาจ เมื่อชาวอุรุกวัยส่วนใหญ่หันกลับไปเลือกผู้ที่ดำเนินนโยบายแบบทำลายโลกตามแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลัก ในปัจจุบันนี้ พระราชาธิบดีของภูฏานทรงกำลังพยายามดำเนินนโยบายในแนวนั้นเช่นกัน

นโยบายและการดำเนินชีวิตดังกล่าวนั้นอยู่ในแนวเดียวกันกับแนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งมีผู้สนใจและนำไปใช้อยู่บ้าง แต่ยังไม่มีผู้นำประเทศขนาดใหญ่นำไปใช้เป็นฐานของการบริหารประเทศของตน ทั้งนี้คงเพราะประชาชนส่วนใหญ่มองไม่เห็นปัญหา ไม่ใส่ใจ ไม่เข้าใจ และไม่เห็นด้วย 

สำหรับประเทศอื่นพอเข้าใจได้ แต่สำหรับเมืองไทยเข้าใจยากมาก เนื่องจากชาวไทยส่วนใหญ่แสดงตนเป็นพุทธมามกะ ซึ่งย่อมตระหนักดีว่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้นไปมิใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริง และแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงถือกำเนิดในเมืองไทย ซึ่งชาวไทยมักท่ององค์ประกอบทั้งห้าได้ไม่ต่างกับท่องศีลห้า

หรือว่าชาวไทยส่วนใหญ่มักง่ายซึ่งดำเนินชีวิตแบบหน้าไหว้หลังหลอก และรัฐบาลไทยมองแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ว่ามีค่าแค่นำมาห้อยโหนหลอกคนอื่นเท่านั้น?