เราควรตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

เราควรตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้ามีความเป็นไปไดัมาก จากที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลง 

ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอ ซึ่งจะส่งผลกว้างขวางต่อเศรษฐกิจโลก ผ่านอัตราดอกเบี้ยในเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาสินทรัพย์ที่ปรับลดลง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศจากประเทศตลาดเกิดใหม่

คําถามคือ เราควรตั้งรับภาวะถดถอยในเศรษฐกิจโลกอย่างไร เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเราเกิดปัญหาตามไปด้วย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ประเทศเราเป็นเศรษฐกิจเปิด พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพึ่งการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมาก การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานที่แพง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงในต่างประเทศ จึงกระทบเศรษฐกิจเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผ่านห้าช่องทาง

หนึ่ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกระทบการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยว 

สอง ราคานํ้ามันที่แพงและราคาสินค้านําเข้าที่สูงกระทบราคาสินค้า ต้นทุนการผลิต และอัตราเงินเฟ้อในประเทศ 

สาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกระทบอัตราดอกเบี้ยในประเทศ กระทบการใช้จ่ายและสร้างภาระมากขึ้นให้กับผู้ที่มีหนี้ในการชำระหนี้ 

สี่ การไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศกระทบราคาสินทรัพย์ ค่าเงินบาทและสภาพคล่องในประเทศ 

ห้า ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลง

เราควรตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

เห็นได้ว่าผลกระทบทั้งหมดเป็นด้านลบ จะมากหรือน้อยและจะทําให้เศรษฐกิจเกิดปัญหาใหญ่ตามมาหรือไม่ขึ้นอยู่ความเข้มแข็งของพื้นฐานเศรษฐกิจและคุณภาพของการทํานโยบายที่จะตั้งรับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก

ในแง่พื้นฐานเศรษฐกิจ ต้องยอมรับเศรษฐกิจเรายังเปราะบางเพราะขยายตัวได้ในอัตราที่ไม่สูง ครัวเรือนมีกําลังซื้อตํ่าและมีหนี้มาก ภาครัฐก็มีข้อจำกัดในการหารายได้ทําให้การขยายตัวของเศรษฐกิจต้องพึ่งต่างประเทศมาก 

ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เศรษฐกิจเราก็จะถูกกระทบทั้งในแง่การขยายตัวและเงินเฟ้อ ทําให้นโยบายที่จะช่วยเศรษฐกิจให้สามารถตั้งรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอยจึงสำคัญ

"และเราก็มีตัวช่วยที่ดีสองตัวที่จะลดความเสี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจเกิดปัญหาเสถียรภาพรุนแรงเทียบกับประเทศอื่น"

คือ ระดับหนี้ต่างประเทศที่ไม่สูงและปริมาณทุนสำรองทางการที่เพียงพอ ล่าสุดอยู่ที่ 229.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม

เราควรตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

ในการตั้งรับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ประเด็นสำคัญคือความสามารถของเศรษฐกิจที่จะปรับตัวในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกไม่เอื้ออำนวย ถ้าปรับตัวได้ ผลกระทบที่จะมีก็จะผ่อนจากหนักเป็นเบา และเศรษฐกิจจะสามารถไปต่อได้แม้ภาวะแวดล้อมในเศรษฐกิจโลกจะยากขึ้น 

การปรับตัวจึงเป็นคําตอบ และนโยบายเศรษฐกิจต้องช่วยให้เศรษฐกิจทั้งระบบสามารถปรับตัวแม้จะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ หลักคือ อย่าฝืนกระแส

เพราะปัจจัยที่ทําให้เศรษฐกิจโลกถดถอยอยู่เหนือการควบคุมของเรา และประเทศเราก็ไม่มีทรัพยากรมากที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องกู้ยืมซึ่งจะสร้างภาระมากให้กับประเทศ ที่สำคัญประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐเองก็เป็นปัญหา

เราควรตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

ดังนั้น การช่วยเศรษฐกิจปรับตัวจึงสำคัญ และสิ่งที่ทางการควรทำคือ

หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ คือ ลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศลงเพราะเงินเฟ้อที่สูงทำให้ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศลําบาก ใช้กลไกราคาเป็นตัวนําการปรับตัว 

เช่นขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น ลดการบิดเบือนในกระบวนการตั้งราคาของสินค้าที่สำคัญ และลดส่วนต่างที่ทําให้เกิดกําไรส่วนเกินและราคาที่สูงเกินควร เป็นต้น

สอง พยายามไม่ควบคุมราคา เพราะการควบคุมราคาคือการสร้างความบิดเบือน ทําให้สินค้าที่ราคาถูกควบคุมจะหายไปจากตลาดไม่สามารถหาซื้อได้

ตรงข้าม ถ้าไม่ควบคุม สินค้าจะมีให้ซื้อแม้ราคาจะแพง และที่ควรทําคือ ลดข้อจำกัดที่มาจากมาตรการทางการเพื่อให้สินค้าและวัตถุดิบสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การผลิตขยายตัวและลดแรงจูงใจที่จะขึ้นราคาสินค้า

สาม ทางการต้องทําให้ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะช่วยภาคธุรกิจในการปรับตัว ลดภาระการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ดูแลให้ค่าเงินบาทปรับตัวตามกลไกตลาดและไม่ผันผวนมากจนกระทบความสามารถของธุรกิจที่จะปรับตัว

สี่ ภาครัฐต้องปรับตัวด้วยการประหยัด ทําเป็นตัวอย่างโดยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และจัดความสำคัญของการใช้จ่ายใหม่โดยมุ่งไปที่การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนในประเทศเพื่อช่วยในการปรับตัว เช่นสร้างงานให้คนมีรายได้ และใช้จ่ายเพื่อเพิ่มการผลิตและรายได้ในภาคเกษตร

ห้า ลดกฎระเบียบของภาครัฐที่ไม่จำเป็นเพื่อให้เกิดการแข่งขัน การเพิ่มการแข่งขันคือการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนในประเทศ ทําให้คนในประเทศมีช่องทางในการหารายได้และมีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับตัว เป็นการใช้พลังของคนส่วนใหญ่สู้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยเปิดให้คนในประเทศมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น

นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้.

เราควรตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]