จับตาผลกระทบเฟดขึ้นดอกเบี้ย คอมพิวเตอร์แฮงค์แก้ไม่ได้

จับตาผลกระทบเฟดขึ้นดอกเบี้ย คอมพิวเตอร์แฮงค์แก้ไม่ได้

หลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อยังหนักหน่วง ราคาพลังงานยังวิกฤติจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเกินกว่าไทยจะควบคุมได้ และถือเป็นงานใหญ่ระดับวัดฝีมือรัฐบาล ไม่ใช่อ้างว่า ทำงานหนักถ้าเปรียบเป็นคอมพิวเตอร์คงแฮงค์ไปแล้ว

เป็นไปตามคาด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50%-1.75% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 ตลาดหุ้นปรับขึ้นถ้วนหน้าตามตลาดหุ้นสหรัฐด้วยนักลงทุนเชื่อว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงหวังสกัดเงินเฟ้อก่อนจะปรับตัวลดลงมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

แต่ผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดไม่ได้มีแค่ในตลาดหุ้นยังส่งผลไปถึงเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ รวมทั้งในไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ​วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับดังกล่าวว่า จะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร และจะมีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

จะว่าไปแล้วปัญหาเงินเฟ้อที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่เกิดขึ้นลอยๆ แบบไม่มีที่มาที่ไป เงินเฟ้อเพราะราคาน้ำมันแพง สินค้าแพง อาหารแพง ชวนให้นึกย้อนไปถึงช่วงโควิด-19 ระบาด นานาประเทศต้องล็อกดาวน์กักประชาชนให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่จำเป็นไม่ต้องออกไปรับเชื้อหรือแพร่เชื้อ ชีวิตสโลว์ไลฟ์ไปโดยปริยายส่งผลกิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซา ราคาน้ำมันลดลงมาก

ครั้นโลกรู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดกลับมาเปิดประเทศดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ความต้องการทุกอย่างเพิ่มขึ้น ดีมานด์ฟื้น เศรษฐกิจฟื้น ฟังดูน่าจะดี แต่มาเจอรัสเซียบุกยูเครนเข้าส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหารโลก สภาพจึงเป็นอย่างที่เห็น

วานนี้ (16 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงกับเรียก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องประชุมด่วน เพื่อติดตามการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบของสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มาตรการช่วยประชาชนสู้วิกฤติพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เรียกได้ว่าต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเพราะวิกฤติครั้งนี้หนักมาก

ที่น่าห่วงคือ เศรษฐกิจในภาพรวม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับลดประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลงเหลือ 3.1% จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.2% เมื่อเดือนพ.ย. 64 ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจโลกเติบโต 2.9% จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.1 ล้านคน อัตราแลกเปลี่ยน 34.25 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากราคาพลังงานในตลาดโลกพุ่งสูงถึง 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลกระทบทำให้ GDP ของประเทศลดลงเหลือ2.3%

เห็นได้ว่าสมมติฐานที่กล่าวมาล้วนเป็นปัจจัยภายนอกเกินกว่าไทยจะควบคุมได้ การจะประคับประคองปากท้องประชาชนให้อยู่รอดได้ในช่วงเวลายากลำบากที่ไม่รู้ว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เมื่อใด

ถือเป็นงานใหญ่ระดับวัดฝีมือรัฐบาลกันจริงๆ ไม่ใช่อ้างว่า ทำงานหนักถ้าเปรียบเป็นคอมพิวเตอร์คงแฮงค์ไปแล้ว เพราะคอมพิวเตอร์เวอร์ชันเก่าที่ใช้งานมานานซ่อมไปก็ไม่คุ้ม เปลี่ยนเครื่องใหม่มาใช้งานกับสถานการณ์ใหม่ๆ น่าจะง่ายกว่า