เศรษฐกิจการเงินโลกปั่นป่วนจากแรงกระเพื่อมของ Fed 

เศรษฐกิจการเงินโลกปั่นป่วนจากแรงกระเพื่อมของ Fed 

อาจกล่าวได้ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ประชุมมีมติปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 75 bps ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 สู่ระดับ 1.5-1.75% (ค่ากลาง 1.63%)

นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจและปรับเพิ่มการคาดการณ์การว่างงานและเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ และจากการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ย (Dot Plot) ของ FOMC จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกมาก (โดยจะปรับขึ้นเป็น 3.38% ณ สิ้นปีนี้ และ 3.75% ณ สิ้นปีหน้า) เพื่อควบคุมความคาดหวังเงินเฟ้อ

เราเชื่อว่าภาพเช่นนี้จะสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลก และอาจจะก่อให้เกิดวิกฤติการเงิน และ/หรือ ภาวะถดถอยในสหรัฐ ยุโรป และตลาดเกิดใหม่ ซึ่งระดับการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเงินเฟ้อเป็นหลัก ดังนั้น คำถามสำคัญคือ เงินเฟ้อสหรัฐจะเข้าสู่จุดสูงสุดเมื่อไร และที่ระดับใด รวมถึงเป็นไปได้หรือไม่ที่เงินเฟ้อในปัจจุบันจะขึ้นไปสู่ระดับเดียวกับช่วงวิกฤติ Stagflation ในช่วงปี 1970s 

จากการศึกษาพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ ในทศวรรษ 1970 กับปัจจุบัน เราพบว่าภาวะ stagflation ในครั้งนี้แตกต่างจากทศวรรษ 1970 ใน 3 ประการ คือ

1.รัฐบาลสหรัฐยุคปัจจุบันไม่ได้เข้าแทรกแซงธนาคารกลางรุนแรงเหมือนสมัยปี 1970 (ในยุครัฐบาลนิกสัน)

2.รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้านอุปทานโดยเฉพาะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน

3.ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มุ่งเน้นไปที่การต่อสู้กับเงินเฟ้อ ต่างกับในช่วงแรกของวิกฤติ Stagflation ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่ทางการเน้นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ซึ่งทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น

 

เราจึงสรุปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้ไม่น่าจะทำจุดสูงสุดที่ระดับเดียวกัน (12-14%) กับในช่วงทศวรรษ 1970 อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐจะสูงและทรงตัวอยู่ในระดับสูงตลอดปีนี้ในระดับประมาณ 8% ก่อนจะลดลงในปีหน้า

ด้วยภาพการขยายตัวเงินเฟ้อดังกล่าว ทำให้เราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ จะสูงสุดที่ประมาณ 3-4% ในไตรมาสแรกของปีหน้าและหลังจากนั้น ในกลางปี 2024 เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ตาม เรามองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐจะกดดันทำให้เศรษฐกิจที่อื่นชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะยุโรป ที่เรามองว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งหลังของปีนี้ต่อเนื่องไปจนปีหน้า จากเหตุผล 3 ประการ คือ :

1.ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อยาวนาน

2.เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางต่อการปรับขึ้นของราคาน้ำมันมากกว่าเศรษฐกิจอื่นๆ

3.ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไป

ด้วยภาพดังกล่าว ทำให้เป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจยุโรปจะหดตัวในครึ่งปีหลัง ต่อเนื่องไปในต้นปีหน้า ทำให้เศรษฐกิจยุโรปในภาพรวมขยายตัวลดลงมาก นอกจากนั้น ผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยุโรปใต้ เช่น อิตาลีและกรีซ ทำให้ ECB ต้องเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรเพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ย ผ่านมาตรการที่เพิ่งออกใหม่ในวันที่ 15 มิ.ย. (ซึ่งก็คือการกลับมาทำ QE โดยพฤตินัย) ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงต่อระบบการเงินของยุโรปมีมากขึ้น

ในส่วนของเศรษฐกิจจีน เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวบ้างในเดือนพ.ค. หลังจากรัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายข้อจำกัดในการควบคุม COVID บางส่วนในเซี่ยงไฮ้ในเดือนพ.ค. อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ยังค่อนข้างเข้มงวดและอาจมีการปิด-เปิดเศรษฐกิจเป็นช่วง ๆ จะยังคงเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมทั่วประเทศ จนกว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะสาบานตนรับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ในเดือนพ.ย.

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้เริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลัง เช่น การปรับลดอัตราการกันสํารองธนาคารพาณิชย์ (RRR) และออกมาตรการ 23 มาตรการเพื่อผ่อนคลายสภาพคล่องที่ตึงตัว ควบคู่กับการออกมาตรการทางการคลัง 33 มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ทางการจีนยังยอมให้หยวนอ่อนค่าลง ซึ่งเราเชื่อว่าผลกระทบจะลดลงและจะรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ในปีนี้ไว้ให้อยู่ภายในระดับ 4%

จากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกของเรา เราเชื่อว่ายูโรโซนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเกิดภาวะถดถอยในปีนี้ โดย GDP จะหดตัวในครึ่งหลังของปีนี้ และต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกปีหน้า โดยมีสาเหตุมาจากจุดอ่อนที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ปรับตัวแย่ลง แต่จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้หรือปีหน้า แต่มีโอกาสหดตัวในปี 2024 

ในแง่ของอัตราเงินเฟ้อ เราปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศจะทำจุดสูงสุดในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยเฉพาะสหรัฐ ยูโรโซน และประเทศไทย โดยเป็นผลจากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่ผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีแรกจะกดดันทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงในไตรมาสสุดท้ายปีนี้และต่อเนื่องไปยังปีหน้า อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อสูงจะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ 

ในแง่ของนโยบายการเงิน เราเชื่อว่า Fed จะเป็นธนาคารกลางที่มีท่าทีเป็นสายเหยี่ยว (hawkish) มากที่สุดในการศึกษาของเรา โดยที่เราคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 175 bps นับจากนี้จนถึงสิ้นปี 

โดยจะปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นระดับเดียวกับที่ ECB จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 175 bps นับจากนี้ไป แต่ด้วยฐานที่สูงกว่าของ Fed ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ECB ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ประมาณ 1.25% ต่างจาก Fed ที่อยู่ที่ 3.4% ซึ่งจะยังเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์และยูโรต่อไป

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น น่าจะยังคงดอกเบี้ยต่ำและมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่อง ส่วนธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อยในอัตรา 10 bps จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 50bps นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 

ซึ่งการที่ธนาคารกลางต่างๆ ขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่า (หรือลดดอกเบี้ยในกรณีจีน) จะยังกดดันให้เงินเยน หยวน และบาทอ่อนค่า และความผันผวนจะมีมากขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ Fed

เศรษฐกิจตกต่ำ การเงินผันผวน เงินเฟ้อลากยาว เหล่านี้เป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ช้าและน้อยเกินไปในช่วงก่อนหน้า จึงต้องมาแก้ตัวในครึ่งปีหลัง