"คนเดือนตุลา" ในวัยชรา

"คนเดือนตุลา" ในวัยชรา

ตุลาคม พ.ศ.นี้ เป็น "หมุดหมายทางกาลเวลา" ของการต่อสู้ 14 ตุลาคม ครบรอบ 41 ปี และกรณีสังหารหมู่ 6 ตุลาคม

ครบรอบ 38 ปี ซึ่งผู้ผ่านเหตุการณ์ทั้งสอง ล้วนมีอายุล่วงสู่ปากประตูของวัยชรา

000 ในวาระแห่งการรำลึกสองเหตุการณ์ดังกล่าว หนีไม่พ้น "คนรุ่นนี้" ที่จะต้องมาออกมาต่อปากต่อคำ อันเนื่องจากพวกเขามีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน อาการ "วัยทองทางการเมือง" ของคนรุ่นนี้ ปรากฏชัดมาตั้งแต่ "รัฐประหาร 2549" และมาถึง "รัฐประหาร 2557" ยิ่งมีปรากฏการณ์ "ผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ" มากขึ้นทบเท่าทวีคูณ ฉะนั้น กิจกรรมรำลึก 2 เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม จึงต้องแยกทางกันจัดงานเหมือนเดิม

000 ตุลาปีนี้ ผู้ที่จะกลายเป็นตำบลกระสุนตกคือ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีชื่อเล่นว่า "ตู่" เหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข่าวมาตั้งแต่ยึดอำนาจใหม่ๆ ว่า "อธิการบดีตู่" ได้เข้าไปช่วยงานด้านกฎหมาย คสช. และได้รับการแต่งตั้งเป็น "สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (สนช.)

000 จริงๆแล้ว "อธิการบดีตู่" ก็เป็นอดีตนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ที่เรียกกันว่า "คนรุ่นหลัง 6 ตุลา" อันหมายถึงนักศึกษาที่รวมตัวกันทำกิจกรรมทางการเมือง หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยในเวลานั้น "รุ่นพี่" (รุ่น 14 ตุลาและรุ่น 6 ตุลา) หนีภัยเผด็จการเข้าป่า จึงเหลือเพียง "รุ่นน้อง" ที่เข้ามหาวิทยาลัยปี 2521 เกาะกลุ่มทำกิจกรรมสืบสานอุดมการณ์ประชาธิปไตย

000 พ.ศ.นั้น "ดร.สมคิด" ทำกิจกรรมสภานักศึกษาฯ ประสานกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมรุ่นเดียวกันอาทิ สุรพล นิติไกรพจน์ , อภิชาติ ดำดี , วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ บุญสม อัครธรรมกุล (บุญสมเป็นนายก อมธ.ปี 2521 ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยอธิการบดี มธ.) ขับเคลื่อนงานการเมืองทั้งในรั้วและนอกรั้วมหาวิทยาลัย

000 ด้วยความเป็นคนรุ่นเดียวกัน เมื่อมีอุบัติการณ์ "ต้านกฎหมายนิรโทษกรรม" บรรดานักกิจกรรมรุ่นเดียวกับ "ดร.สมคิด" จึงจัดตั้ง "กลุ่มธรรมศาสตร์อภิวัฒน์ประเทศไทย" (ธอท.) สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยของ กปปส. และเป็นองค์กรแนวร่วมอันสำคัญของ "ปรากฏการณ์ลุงกำนัน" ตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงเกิดรัฐประหาร

000 ล่าสุด มีโผรายชื่อ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลุดออกมาผ่านสื่อ ในจำนวน สปช.ที่มาจาก 11 ด้าน ก็มีเพื่อนร่วมรุ่นของ "ดร.สมคิด" เป็นสมาชิก สปช.หลายคน และคาดหมายว่า น่าจะมีฝ่ายต้านรัฐประหารในรั้วธรรมศาสตร์ ออกโรงเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งเหมือนที่มีการประท้วง "อธิการบดีตู่" ไปก่อนหน้านั้น

000 เก็บตก "คนเดือนตุลา" ในเดือนตุลาคม 2557 ปรากฏว่า คนรุ่นนี้ที่ชักธงรบกับ "เผด็จการพี่น้อง 3 ป." ได้ใช้ "ธรรมศาสตร์" เป็นที่มั่น ขณะที่คนรุ่นนี้ที่ชูธงสูงเด่นเป็นปฏิปักษ์ต่อ "ระบอบทักษิณ" อย่างไม่เสื่อมคลายได้ใช้ "มหาวิทยาลัยรังสิต" และเตรียมสถาปนา "สถาบันปฏิรูปประเทศไทย" เป็นเรือธงที่จะเคลื่อนไหวคู่ขนานกับ สปช.

000 อย่างไรก็ดี คนเดือนตุลาปีกประชาธิปไตยจ๋าไม่วายเหน็บฝ่าย ม.รังสิต ว่าเป็น "ชมรมคนอกหัก" (พลาดตำแหน่ง สนช.) ไม่ได้ ส่วนคนเดือนตุลาปีกประชาธิปไตยไทย ก็สวนคืนฝ่าย มธ.ว่าเป็น "ทาสทุนนิยมสามานย์" ที่ปล่อยไม่ไป นี่เป็นปรากฏการณ์ปกติในรอบสิบปีนี้ของคนเดือนตุลาสองรุ่นดังกล่าว