House of Gucci ‘จุดจบธุรกิจครอบครัว’ | หนังเล่าโลก

House of Gucci ‘จุดจบธุรกิจครอบครัว’ | หนังเล่าโลก

ขึ้นชื่อว่าแบรนด์ “กุชชี่” ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นนิสต้าหรือไม่ก็ต้องเคยได้ยินชื่อ ครั้นได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ House of Gucci ยิ่งชวนให้เศร้าใจไปกับโศกนาฏกรรมของตระกูลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นราชนิกูลแห่งอาณาจักรแฟชั่นอิตาลี

House of Gucci ผลงานกำกับของ ริดลีย์ สก็อตต์ สร้างจากหนังสือชื่อ The House of Gucci: A Sensational Story of Murder, Madness, Glamour, and Greed (2001) ของซารา เกย์ ฟอร์เดน ตัวหนังบอกเล่าเรื่องราวของ“แพทริเซีย เร็จเจียนี่”  สาวสวยผู้ได้พบกับ “เมาริซิโอ กุชชี่” ทายาทตระกูลแฟชั่นดังโดยบังเอิญ จุดประกายให้เธอใฝ่ฝันอยากเป็นสะใภ้ตระกูลนี้ และต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ครอบครองเขาซึ่งหมายถึงการที่เธอได้เข้าไปมีบทบาทในแบรนด์ชื่อดังระดับโลกนี้ด้วย  

นับตั้งแต่แพทริเซียแต่งงานกับเมาริซิโอ ผู้ยอมถูกพ่อตัดออกจากกองมรดกเพราะแต่งงานกับผู้หญิงที่พ่อไม่เห็นชอบ ผู้ชมก็ได้เห็นความเป็นมาเป็นไปในตระกูลกุชชี่ ความขัดแย้งระหว่าง พ่อ-ลูก สามี-ภรรยา เครือญาติ นายจ้าง-ลูกจ้าง การชิงไหวชิงพริบในเกมธุรกิจของบรรดาหุ้นส่วน จนสุดท้ายแล้วแบรนด์ที่เป็นตำนานของตระกูลกลับหลุดลอยไปอยู่ในมือของคนอื่นชนิดที่ลูกหลานกุชชี่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกต่อไป แถมทายาทผู้แบกนามสกุล “กุชชี่” เอาไว้ กลับเผชิญชะตากรรมอย่างที่มหาเศรษฐีไม่ควรจะเจอ 

ไหนๆ ดูหนังกันแล้วก็อยากเล่าประวัติกันสักนิด กุชชี่ก่อตั้งโดย กุชชิโอ กุุชชี เมื่อปี 1921 (พ.ศ.2464) ที่เมืองฟลอเรนซ์ของอิตาลี ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นเก่าแก่สุดของอิตาลีที่ดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ บริษัทเริ่มต้นจากการผลิตกระเป๋าเดินทางและอุปกรณ์ขี่ม้าสำหรับผู้มั่งคั่ง หลังการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันในครอบครัวอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ กุชชี่กลายเป็นบริษัทมหาชนที่คนนอกเข้ามาบริหารอย่างมืออาชีพ ปัจจุบันอยู่ภายใต้ Kering Group บริษัทแบรนด์เนมจากฝรั่งเศส ที่มีแบรนด์  Yves Saint Laurent, Balenciaga  และ Alexander McQueen อยู่ในมือด้วย ซีอีโอกุชชี่คนปัจจุบันคือ Marco Bizzarri รายได้บริษัทอยู่ที่ 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ 

ตัวหนังเปิดเรื่องที่มิลานในปี 1978 จบลงด้วยเหตุการณ์ในปี 1998 รวมเวลาสองทศวรรษ ที่มีบางฉากในหนังสะท้อนเศรษฐกิจการเมืองโลกได้ดีทีเดียว นั่นคือในช่วงทศวรรษ 80 กลุ่มลูกค้าสำคัญของกุชชี่คือชาวญี่ปุ่น มีฉากนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นกลุ่มใหญ่เข้ามาเยี่ยมร้านกุชชี่ในนิวยอร์ก ถึงขนาดผู้บริหารต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นต้อนรับลูกค้ากลุ่มนี้ ถ้าตัดภาพไปในอนาคตสัก 20 ปี ลูกค้าแบรนด์หรูคนสำคัญหนีไม่พ้นนักท่องเที่ยวชาวจีน (ก่อนโควิดระบาด)

อีกหนึ่งฉากที่น่าประทับใจคือ ตอนที่ เมาริซิโอ หนีเรื่องวุ่นวายในอิตาลีมาหลบพักใจในสวิตเซอร์แลนด์ ก็แค่ขี่จักรยานยนต์ฝ่าหิมะข้ามเขามาเท่านั้น ถึงจุดตรวจพรมแดนเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวขอดูหนังสือเดินทางแล้วก็ข้ามไปอีกประเทศหนึ่งได้เลย ดูแล้วก็ได้แต่อิจฉาว่าทำไมการเป็นคนยุโรปถึงง่ายแบบนี้! 

สำหรับ House of Gucci ดูจบแล้วได้ข้อคิดว่า ธุรกิจครอบครัวต่อให้เคยมีอดีตรุ่งเรืองแค่ไหน ถ้าลูกหลานบริหารไม่เป็นก็ยากที่จะสืบสานตำนานต้นตระกูลไว้ได้ กรณีกุชชี่รอดด้วยมือของคนอื่นแล้วปรับตัวไปตามยุคตามสมัย ยิ่งเข้าสู่เมตาเวิร์สกุชชี่ก็ไม่น้อยหน้าเหมือนกัน ไม่กี่วันก่อนเปิดตัว Vault พื้นที่ออนไลน์ซื้อขายเอ็นเอฟทีผ่านแบรนด์ Supergucci ด้วยความร่วมมือกับศิลปิน Superplastic  กุชชี่ระบุว่า Vault เป็นคอนเซ็ปต์สโตร์ออนไลน์ ชื่อร้านชวนให้นึกถึง “บรรยากาศแห่งความขลัง” ที่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่ร่วมกันได้ด้วยพลังแห่งจินตนาการ 

 นั่นคือเรื่องราวของกุชชี่จากอดีตสู่ปัจจุบัน จากโลกจริงสู่เมตาเวิร์ส แม้หลายคนไม่ได้ใช้แบรนด์นี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่การชม House of Gucci ก็ทำให้ได้สัมผัสความงามแบบอิตาลี อย่างน้อยๆ ก็ช่วยยาใจได้ในช่วงที่โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังไม่จบ