ความผิดที่ไม่ต้องรับโทษในเด็ก | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

ความผิดที่ไม่ต้องรับโทษในเด็ก | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

เราต่างทราบดีว่า การกระทำความผิดทางอาญาที่กฎหมายบัญญัติไว้ในขณะที่กระทำความผิด ย่อมเป็นเหตุให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา

ซึ่งในมาตรา 18 ได้กำหนดขอบเขตบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน 5 ประเภท คือ 1.ประหารชีวิต 2.จำคุก 3.กักขัง 4.ปรับ และ 5.ริบทรัพย์สิน 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บุคคลที่กระทำความผิดจะต้องรับโทษตามประเภทดังกล่าวในทุกกรณีหรือไม่? คำตอบ สามารถหาได้จาก “อิทธิพลทางแนวคิดของสำนักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาต่อกระบวนการยุติธรรม” (Criminology and Penology for Justice) และการประกันสิทธิเสรีภาพของเด็กที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้หลักการสากล ว่าด้วย “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” (Convention on the Rights of the Child : CRC)

แนวคิดในการมีบทลงโทษ หรือทัณฑวิทยานั้นมีมาอย่างช้านาน นานพอ ๆ กับการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นหน่วยทางสังคมของมนุษย์ กล่าวคือ มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์ที่เรียกว่า “บทลงโทษ” เพื่อดำรงไว้ซึ่งหน่วยทางสังคม โดยมีบทลงโทษอันเป็นพื้นฐานทาง “ทัณฑวิทยา” เป็นเครื่องมือ 

 

ความผิดที่ไม่ต้องรับโทษในเด็ก | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

(ภาพถ่ายโดย Guduru Ajay bhargav)

 

ในทางกลับกันอาจนำมาซึ่งความเป็นปฏิปักษ์ต่อคำว่า “ความยุติธรรม” เช่นนี้ แนวคิดทาง “อาชญาวิทยาสมัยใหม่” จึงเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณปี 1915 โดยยึดหลักการ “สาเหตุแห่งการกระทำความผิดนั้นอาจเกิดจากสาเหตุในทางร่างกายและจิตใจของผู้กระทำความผิด รวมทั้งสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมในสังคมด้วย

ดังนั้น การจะค้นคว้าหาสาเหตุ (Causes) แห่งการกระทำความผิด จึงจำต้องศึกษาถึงบุคลิกภาพ (Personality) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ในทางสังคมรอบ ๆ ตัวผู้กระทำความผิดเช่นกัน อธิบายสองประการได้ดังนี้ 

  1. บุคลิกภาพ คือ ลักษณะทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องอาศัยอ้างอิงหลักวิชาทางชีววิทยา และจิตวิทยามาอธิบาย เช่นนี้ จึงประกอบไปด้วยเรื่องของอายุ เพศ และความบกพร่องทางจิตใจ 
  2. สิ่งแวดล้อมทางสังคมหรือสภาพแวดล้อม คือ หลักการที่ต้องอาศัยหลักวิชาทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา จิตวิทยาทางสังคม และสถิติอาชญากรรม ประกอบร่วมเป็นองค์ประกอบในการศึกษา

ทั้งนี้ จึงสรุปได้ว่าหากเราไม่ทำความเข้าใจในสาเหตุทั้งสองประการข้างต้น ก็จะไม่สามารถเข้าใจความเคลื่อนไหวในลักษณะของอาชญากรที่ก่ออาชญากรรมได้ เพราะอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมในทางสังคมนั้นเป็นเครื่องย้อมบุคลิกภาพของคน

 

ความผิดที่ไม่ต้องรับโทษในเด็ก | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

(ภาพถ่ายโดย Pixabay)

 

จึงเป็นเหตุผลที่สอดรับว่า บทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้กระทำความผิดโดยไม่สนต่อบริบทอื่นใด นอกจากความหวาดกลัวที่จะไม่กระทำความผิดซ้ำอีกไม่ก่อผลดีต่อสังคม

ปัจจุบันแนวคิดทางอาชญาวิทยาสมัยใหม่จึงปรับปรุงให้มีการใช้ที่เหมาะสมกับสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง โดยมุ่งแก้ที่ต้นเหตุแห่งอาชญากรรม ทั้งจากฝ่าย “ผู้กระทำผิด” และจากฝ่าย “ผู้เสียหาย” โดยศึกษาสาเหตุแห่งการเกิดอาชญากรรมด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยในการก่ออาชญากรรม มุ่งเน้นให้ตัวผู้กระทำความผิดกลับตัวเป็นพลเมืองดี 

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ จึงทำให้ “ประมวลกฎหมายอาญา” กำหนดโครงสร้างความรับผิดทางอาญาที่สอดรับกับแนวคิดทางอาชญาวิทยา อันต้องพิจารณาถึง “อายุ” ของผู้กระทำความผิดก่อนการพิจารณาบทลงโทษ อันอาจส่งผลเสีย ขัดกับหลักการการให้โอกาสกลับตัวกลับใจ

 

ความผิดที่ไม่ต้องรับโทษในเด็ก | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

(ภาพจาก unicef)

 

เมื่อนำมาประกอบกับหลักสากลตาม “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child : CRC)” ที่ประเทศไทยได้ตอบรับ และให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ที่ต้องมุ่งเน้นบทลงโทษที่ต้องสอดคล้องกับช่วงอายุ พัฒนาการด้านความคิด สติปัญญา จริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของผู้กระทำความผิดที่ยังเป็นเด็ก 

จึงเป็นบรรทัดฐานทางแนวคิดอันประกอบกับทฤษฎีอาชญาวิทยาสมัยใหม่ได้ว่า ผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กนั้น ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ

ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล อันอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้นๆ จนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 73 และ 74 (ก่อนมีการแก้ไขฉบับที่ 29 พ.ศ.2565) จึงบัญญัติให้เด็กที่กระทำความผิดแต่มีอายุยังไม่เกินสิบปีไม่ต้องรับโทษ แต่หากเด็กผู้กระทำความผิดนั้นอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี แม้เด็กจะไม่ต้องรับโทษ ก็ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินมาตรการควบคุมเพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีคืนสู่สังคมต่อไป โดยไม่จำเป็นจะต้องส่งเด็กไปรับโทษยัง “หน่วยงานราชทัณฑ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปรับเปลี่ยนแก้ไขอายุของเด็ก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตราที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กให้ได้รับผลดียิ่งขึ้น

อันเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญทางอายุ จากเดิมยังไม่เกินสิบปี เป็น “ยังไม่เกินสิบสองปี” ด้วยเหตุผลข้อมูลทางการแพทย์ที่พบว่า เด็กอายุสิบสองปีกับเด็กอายุสิบปีไม่มีความแตกต่างกันมากนักในวุฒิภาวะทางการตัดสินใจ อีกทั้งเด็กอายุไม่เกินสิบสองปียังอยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา 

จึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิสวัสดิภาพของเด็กอายุไม่เกินสิบสองปีเพื่อรับผลดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

และในกรณีเด็กอายุกว่าสิบสองปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี ก็ยังให้อำนาจศาลที่จะดำเนินมาตรการควบคุมให้เด็กกลับมามีความประพฤติที่เหมาะสม แต่สภาพทางจิตใจ ครอบครัว และสิ่งแวดล้อมของเด็กผู้กระทำผิดคนดังกล่าวนั้นเป็นกรณีไป

สุดท้ายนี้ บทความนี้แสดงให้เห็นว่า “กฎหมายที่ดีนั้นไม่ควรยึดอยู่กับบทลงโทษเพียงเท่านั้น แต่ควรยึดโยงกับพลวัตแห่งสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดบทลงโทษที่เหมาะสม อันควบคู่ไปกับคำว่าความยุติธรรมที่จะส่งผลดีต่อสังคมในอนาคตนั่นเอง