ผู้นำกับการทำลายประชาธิปไตยในอเมริกา | ไสว บุญมา

ผู้นำกับการทำลายประชาธิปไตยในอเมริกา | ไสว บุญมา

ก่อนลงจากเก้าอี้ ประธานาธิบดีอเมริกัน มักฝากความหวังและความห่วงใยในอนาคตของประเทศ ไว้ในแนวที่พระพุทธองค์ทรงอ้างถึงความไม่ประมาทในปัจฉิมวาจา

ในบรรดาความห่วงใยที่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ผู้แสดงความห่วงใยที่โดดเด่นเป็นพิเศษได้แก่ ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ และ จอร์จ วอชิงตัน 

    ก่อนลงจากเก้าอี้เมื่อต้นปี 2504 ประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ กล่าวถึงอิทธิพลชนิดล้นฟ้าของกองทัพกับนายทุนในนามของความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนที่เขาเรียกว่า “military-industrial complex”

คงเป็นที่ทราบกันดี ก่อนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ เป็นนายพลห้าดาวผู้นำกองทัพอเมริกันและพันธมิตรเข้าปราบกองทัพนาซีเยอรมนีในยุโรป  ฉะนั้น เขาเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์อันเกิดจากการสมประโยชน์กันของกองทัพกับนายทุนผู้มุ่งหวังสร้างกำไรจากการขายอาวุธยุทโธปกรณ์  

ฝ่ายกองทัพต้องการอาวุธใหม่ที่มีอานุภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนั้น ยังว่ากันว่านายพลบางคนต้องการให้เกิดสงคราม ทั้งนี้เพราะพวกตนจะได้มีโอกาสเลื่อนยศจนถึงขั้นเป็นวีรบุรุษห้าดาวเช่นนายพลไอเซนฮาวร์ด้วย  สำหรับฝ่ายนายทุนผู้แสวงหากำไรจากการขายอาวุธเป็นที่ตั้ง ยิ่งเกิดสงครามขนาดใหญ่ยิ่งขายได้มาก  

  ดังเป็นที่ทราบกันดี นายทุนโดยทั่วไปรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามสายกิจการของตนเพื่อสร้างอิทธิพลทางการเมือง  แม้จะไม่ได้ให้เงินแก่นักการเมืองโดยตรงเพื่อซื้อเสียงเช่นในบางประเทศ

แต่นายทุนเหล่านี้มีทุนสนับสนุนด้านการหาเสียงของนักการเมืองที่พร้อมจะเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มของตน ส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ หากเป็นกึ่งเผด็จการตามคำบงการของนายทุนเป็นหลัก 

 ปัญหานี้กำลังเป็นที่ประจักษ์อีกครั้งดังที่คอลัมนี้อ้างถึงแล้ว นั่นคือ นายทุนที่ผลิตและค้าอาวุธปืนมีอิทธิพลเหนือนักการเมืองส่งผลให้รัฐบาลไม่สามารถห้ามการมีอาวุธสงครามไว้ในครอบครองได้  การสังหารหมู่จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้กระทั่งในโรงเรียนอนุบาล

ย้อนไปเมื่อปี 2339 ในคำปราศรัยเนื่องในโอกาสอำลาจากตำแหน่ง จอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐกล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยนั้นเปราะบาง  ฉะนั้น ควรระวังเรื่องจะถูกทำลายด้วย “คนเจ้าเล่ห์ มักใหญ่ใฝ่สูง ไร้ศีลธรรมที่ได้รับการสนับสนุนให้ล้มล้างอำนาจของประชาชนเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐไปเป็นของตนเอง”  

ในบทความตีพิมพ์ใน นสพ. วอชิงตันโพสต์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังจากงานการสืบสวนสอบสวน บอบ วูดเวิร์ด และ คาร์ล เบิร์นสตีนได้นำเรื่องราวของประธานาธิบดี 2 คนซึ่งมีลักษณะตรงกับคำเตือนของ จอร์จ วอชิงตัน มาเสนอไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง นั่นคือ ริชาร์ด นิกสัน และ โดนัลด์ ทรัมป์  

นักหนังสือพิมพ์คู่นี้ติดตามพฤติกรรมของประธานาธิบดีนิกสันมา ตั้งแต่ครั้งก่อนวันเขาชิงลาออกจากตำแหน่งเพราะเป็นที่แน่นอนว่าจะถูกรัฐสภาปลด  

พวกเขาสรุปว่า นายนิกสันทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการล้มล้างกระบวนการเลืองตั้ง อันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตย โดยการใช้ทั้งการจารกรรม การก่อวินาศกรรม และการบิดเบือนข้อมูลอย่างกว้างขวางเพื่อทำลายคู่ต่อสู้  

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของนายนิกสันที่พวกเขาเคยคิดว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐแล้วนั้น ยังไม่เท่าของนายทรัมป์ ซึ่งถูกสภาผู้แทนราษฎรฟ้องถึง 2 ครั้งแต่รอดมาได้เพราะฝ่ายของเขาคุมเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา  นอกจากการบิดเบือนข้อมูล หรือโกหกอย่างโจ่งแจ้งแล้ว นายทรัมป์ยังใช้การข่มขู่เจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลการเลือกตั้งอีกด้วย  

ซ้ำร้าย นายทรัมป์ได้พยายามขัดขวางการถ่ายโอนอำนาจจากตนไปสู่ผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วยวิธีต่างๆ นานา ซึ่งรวมกันแล้วเป็นการปลุกระดมประชาชนให้ก่อกบฏ  การปลุกระดมนั้นนำไปสู่การรวมตัวกันของชาวอเมริกันจำนวนมากพังประตูหน้าต่างเข้าไปในอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางการประชุมรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่นายทรัมป์พ่ายแพ้

แม้การขัดขวางการถ่ายโอนอำนาจครั้งนั้นจะไม่สำเร็จ แต่นายทรัมป์ยังไม่ละความพยายามที่จะใช้ความเท็จและวิธีเลวร้ายอื่น ๆ ต่อไป  วิธีของเขาได้ผลเพราะคนอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่าเขาถูกโกงการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ผ่านมา  

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปได้สูงว่าเขาจะลงสนามเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2567  ถ้าเขาชนะ ระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐคงพบจุดจบแบบแทบสมบูรณ์.