กดเงินเฟ้อ ดึงเศรษฐกิจ ช่วยคนตัวเล็ก ทำพร้อมกันได้ | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

กดเงินเฟ้อ ดึงเศรษฐกิจ ช่วยคนตัวเล็ก ทำพร้อมกันได้ | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

คราวที่แล้วผมเขียนเรื่อง “ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย ค่าเงิน รุมเร้าเศรษฐกิจไทย” ซึ่งทั้ง 3 ตัวแปรนี้มีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน และก่อนหน้านั้น ผมก็เขียนเรื่อง “แก้มลิงเงินเฟ้อกำลังจะหมดไป” เพราะรัฐบาลไม่ตรึงราคาน้ำมันหน้าปั๊มเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

วันนี้หลายคนมองว่า เศรษฐกิจจึงเดินมาถึงสามแยกที่ต้องเลือกว่าจะไปซ้ายหรือขวา ไปซ้ายคือเลือก “กดเงินเฟ้อ” หรือไปขวาคือเลือก “ดึงเศรษฐกิจ” ในมุมมองของผมไม่ต้องไปซ้ายหรือขวาครับ เราทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกันได้ เพื่อช่วย “คนตัวเล็ก” (คนจน ผู้มีรายได้น้อย และร้านค้ารายเล็กรายน้อย) ในระบบเศรษฐกิจ 

จากการประกาศตัวเลขล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งผมมักจะเรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภค” (การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค) ของเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 ปี 10 เดือน

หรือย้อนไปสมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์โน้นเลย ซึ่งตรงกับเดือนกรกฎาคม 2551 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทำสถิติสูงสุดถึงร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น

ในขณะที่ “อัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิต” (การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้ผลิต) ของเดือนพฤษภาคม 2565 ก็พุ่งทะลุปรอทแตกไปที่ร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่การปรับปรุงวิธีการคำนวณบนอนุกรมเวลาชุดใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม หากดูอนุกรมเวลาชุดเก่าเทียบเคียงก็จะพบว่าในเดือนที่อัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น อัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตก็สูงปรี๊ดถึงร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น เช่นกัน

ฉะนั้น สถานการณ์วันนี้ แม้จะยังไม่ร้ายแรงเท่า 10 กว่าปีก่อน แต่ก็มีแนวโน้มว่า อัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 ฝั่ง จะขยับเข้าไปใกล้จุดสูงสุดเดิมเมื่อ 10 กว่าปีก่อนมากขึ้นทุกที และมีโอกาสไม่น้อยที่จะทำลายสถิติเดิม ถ้าเลยจุดนั้นไป คนที่เจ็บที่สุดคงหนีไม่พ้นคนตัวเล็กในระบบเศรษฐกิจ 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งดำเนินการ 2 เรื่อง ได้แก่ 
1) ดึงเศรษฐกิจเป็นหลัก กดเงินเฟ้อเป็นรอง : เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าเงินอ่อนลง แต่ยังไม่ขึ้นอัตราดอกบี้ยเพื่อกดอัตราเงินเฟ้อ ที่ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะมุ่งหวังให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้สักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม

เมื่อเลือกช่วยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ก็คือการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง ประเด็นที่ไม่มีใครทราบ คือ ระดับอัตราเงินเฟ้อที่เท่าใด หรือการเติบโตที่เท่าใด จึงจะเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ย 

2) ขยายแก้มลิงเงินเฟ้อ (เพิ่มส่วนต่างของอัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตและฝั่งผู้บริโภค) : โดยการยื้อเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคเอาไว้ ดูจากการดึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้ขึ้นพรวดพราด พร้อมกับดูแลราคาสาธารณูปโภคพื้นฐานและสินค้าจำเป็นบางรายการ ในขณะที่เงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตซึ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากกว่า กลับเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง หากไม่ดึงและควบคุมเอาไว้ อัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้มาก 

แล้วมีอะไรที่คอยผลักไสให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกไหม คำตอบ คือมีอยู่ 2 ปัจจัยที่น่าจับตา ได้แก่
1) ค่าเงินบาท : ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนลงต่อเนื่องจาก 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาวันนี้อยู่ที่เกือบ ๆ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และยิ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอีก เพื่อพาตัวเองเข้าสู่ Neutral rate ที่ประมาณร้อยละ 2 - 3 (ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1)

และสมมติว่าเรายังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม ค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าลงไปอีก ฉะนั้น การซื้อน้ำมันดิบปริมาณเท่าเดิมแต่เราต้องจ่ายเงินมากขึ้น และถ้าน้ำมันดิบแพงขึ้นอีก ก็ต้องจ่ายค่านำเข้าน้ำมันดิบแพงขึ้นไปอีก ภาษาชาวบ้านเรียก โดน 2 ต่อ

2) อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ : แม้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะมีคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง และมีเงื่อนไขข้อหนึ่งระบุทำนองว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างต้องไม่ซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจ แต่ด้วยค่าครองชีพสูงขึ้น ลูกจ้างนับล้านคนในระบบเศรษฐกิจล้วนอยากได้ค่าจ้างเพิ่มเพื่อรับมือค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ฉะนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างจึงเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และแน่นอนว่าหากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจริง ย่อมส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้นในห้วงที่รายได้ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการผลักภาระราคาสินค้าและบริการให้ผู้บริโภคอีกรอบ เข้าทำนอง Wage Price Spiral ตามตำราเศรษฐศาสตร์เป๊ะ

แล้วระหว่างเงินเฟ้อกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ผมกังวลอะไรมากกว่ากัน แน่นอนว่าคำตอบคือ “เงินเฟ้อ” ครับ ด้วยเหตุผล 2 ประการ ได้แก่

1) เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวแน่นอนแล้ว ไม่ค่อยห่วง : ยืนยันโดยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และหน่วยงานวิเคราะห์วิจัยภาคเอกชน

แต่จะขยายตัวกี่มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมมติฐานในการประมาณการที่แตกต่างกัน แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนแต่คนก็เริ่มชินแล้ว เรื่องความกังวลต่อการที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยก็คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะรับมือไหว

2) รายได้คนตัวเล็กยังไม่ฟื้น แถมถูกซ้ำเติมด้วยค่าครองชีพสูงขึ้น : แม้ไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนถึงรายได้ แต่ถ้าดูโครงสร้างประชากรที่เชื่อมโยงกับอาชีพและรายได้แล้ว จะพบว่า คนต่างจังหวัด (ไม่นับกทม.และปริมณฑล) ที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และมีอาชีพทำการเกษตร อิสระ รับจ้าง ค้าขาย ให้บริการ ประกอบกิจการเล็ก ๆ ส่วนตัว น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด รายได้ลดลง รายได้ไม่แม่นอน ตกงาน ไม่มีเงินออม หนี้สินพอกพูน ค่าครองชีพต่าง ๆ แพงขึ้น ในขณะที่คนตัวโตกลับได้รับผลกระทบไม่มากนัก

แล้วเราจะเดินหมากเกมนี้อย่างไร ความเห็นส่วนตัว (ขีดเส้นใต้ 2 เส้น) ผมคิดว่ากดเงินเฟ้อต้องมาก่อน เพราะไม่ว่าคนตัวเล็กหรือตัวโตก็ได้ประโยชน์ทั้งหมด

และเพื่อไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด เราก็ต้องคอยเติมรายได้ให้แก่คนในระบบเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ซึ่งอ่อนแอ เปราะบาง และมีความเสี่ยงมากกว่า ผมจึงขอเสนอ 5 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ 

1) ทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย : เพื่อรักษาส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ให้ถ่างมากจนเกินไป เพื่อกดเงินเฟ้อและดึงไม่ให้เงินทุนไหลออก ซึ่งจะช่วยไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปมากกว่านี้ 

2) ออกโครงการคนละครึ่งเฟสใหม่ : เพื่อเติมเงินเข้ากระเป๋าผู้บริโภคไปอีก 3 เดือน เป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่คนตัวเล็ก รวมถึงร้านค้ารายเล็กรายน้อยที่เป็นร้านถุงเงิน ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น 

3) เติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในช่องวงเงินซื้อของในร้านธงฟ้าประชารัฐ : เพื่อพยุงกำลังซื้อให้ผู้มีรายได้น้อยไปอีก 3 เดือน เป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในการซื้อของใช้จำเป็นในครัวเรือน

4) ปรับเปลี่ยนวงเงินค่าโดยสารสาธารณะในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ : โดยการปรับระบบให้นำเงินที่เหลือ (แต่ต้องไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน) จากค่าโดยสารเดินทางสาธารณะในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปซื้อของใช้จำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐได้เป็นการชั่วคราว 3 เดือน 

5) คืนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดจากการซื้อสินค้าจำเป็นในร้านธงฟ้าเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ : เพื่อคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 กลับเข้ากระเป๋าผู้มีรายได้น้อยจากการใช้จ่ายตามข้อ 3 และ 4 ซึ่งจะช่วยพยุงกำลังซื้อได้ 

มาตรการที่ 1 คือ กดเงินเฟ้อ มาตรการที่ 2 – 5 คือ ดึงเศรษฐกิจผ่านการจับจ่ายใช้สอยของคนตัวเล็ก แต่ต้องดูแลอย่าให้มีการผลักภาระราคาสินค้าไปให้ผู้มีรายได้น้อยควบคู่ไปด้วย ฝากไว้พิจารณาครับ.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

คอลัมน์ ตีโจทย์เศรษฐกิจ 
พงศ์นคร โภชากรณ์
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  
[email protected]