ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย ค่าเงิน รุมเร้าเศรษฐกิจไทย  | พงศ์นคร โภชากรณ์

ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย ค่าเงิน รุมเร้าเศรษฐกิจไทย  | พงศ์นคร โภชากรณ์

ข่าวที่น่าติดตามช่วงนี้นอกจากเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนแล้ว ยังมีเรื่องราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย ค่าเงิน  ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้ ได้จับมือกันปั่นป่วนเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ไม่ให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ตั้งเป้าไว้ได้อย่างสะดวก 

เช้าวันที่ 10 พฤษภาคม ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 103.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถ้าดูราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 98.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 33.7 การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีสงครามความขัดแย้ง

 ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในปั๊มน้ำมันในทุกประเทศทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ (Inflation rate) นั่นเอง 

ในของประเทศไทยเองอัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตเพิ่มแรงกว่าเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภค เพราะรัฐบาลสร้าง “แก้มลิงเงินเฟ้อ” เอาไว้ ซึ่งได้เขียนเป็นบทความในครั้งที่แล้วว่าแก้มลิงเงินเฟ้อกำลังจะหมดไปเพราะรัฐบาลผ่อนคลายการตรึงราคาน้ำมันบ้างแล้ว รวมถึงเราเริ่มเห็นการทยอยปรับราคาสินค้าขึ้นแล้ว 

เมื่อราคาน้ำมันหน้าปั๊มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่รู้ว่าจะไปจบตรงไหน ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐ ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ดังนั้น สหรัฐจำเป็นต้องกดอัตราเงินเฟ้อลงให้ได้ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้น 

ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 แต่ยังไม่พอที่จะกดอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงได้ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ต้องมีการปรับขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ

จนถึงระดับที่สามารถกดเงินเฟ้อได้อยู่หมัดและไม่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วจนเกินไป หรือที่เรียกว่า Neutral rate ประมาณร้อยละ 2.0 – 3.0 ถ้าขึ้นแรงครั้งละ ร้อยละ 0.5 ก็จะขึ้นอีก 4 ครั้ง แต่ถ้าขึ้นแรงบ้างเบาบ้าง น่าจะตกอยู่ประมาณ 6 – 7 ครั้ง

เมื่ออัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินจากทุกมุมโลกไหลเข้าไปในสหรัฐ เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ ในทางกลับกันค่าเงินสกุลอื่น ๆ นั้น ก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง 

ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย ค่าเงิน รุมเร้าเศรษฐกิจไทย  | พงศ์นคร โภชากรณ์

ในส่วนของค่าเงินบาทของไทยก็อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 34.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 4-5 ปี

ถึงแม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า เพราะต้องจ่ายค่าสินค้าในมูลค่าที่สูงขึ้นเมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาท แปลว่า ถ้าค่าเงินบาทอ่อนลง เราจะจ่ายค่าน้ำมันดิบแพงขึ้น 

สิ่งที่เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมาก ๆ เพราะ ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย และค่าเงิน เป็น 3 สิ่งที่ผูกโยงกันอย่างใกล้ชิด เพราะยิ่งราคาน้ำมันสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐ ต้องขึ้นดอกเบี้ยไล่ตาม ค่าเงินดอลลาร์ ก็จะแข็งค่าขึ้น ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ก็จะอ่อนค่าลง ทำให้การนำเข้าน้ำมันดิบรวมสินค้าทุนและวัตถุดิบต่าง ๆ ต้องจ่ายเงินมากขึ้น เงินเฟ้อของแต่ละประเทศจะสูงขึ้น 

ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย ค่าเงิน รุมเร้าเศรษฐกิจไทย  | พงศ์นคร โภชากรณ์

ถ้าสถานการณ์ปกติ ธนาคารกลางแต่ละประเทศก็จะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และชะลอการอ่อนค่าของเงินสกุลตัวเอง ทำให้ซื้อน้ำมันได้ด้วยมูลค่าที่ไม่แพงมากนัก 

แต่ทว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะไม่สามารถทำได้ในระยะเวลานี้ เนื่องจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเกิดขึ้นไม่เต็มที่ เพราะผลพวงจากวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 ได้ทำให้โครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมช่วงล่างของพีระมิด ซึ่งประกอบด้วยผู้มีรายได้น้อย อาชีพอิสระค้าขาย ร้านค้ารายเล็กรายน้อยเปราะบางมากขึ้นและเลื่อนการฟื้นตัวออกไปอีก ทำให้ต้นทุนในการกอบกู้เศรษฐกิจสูงขึ้น

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ความเห็นส่วนตัวมองว่าผู้กำหนดนโยบายอาจจะต้องรอให้เศรษฐกิจตั้งตัวได้สักระยะหนึ่ง เช่น เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเร่งต่อเนื่อง 2 – 3 ไตรมาส จึงพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อย่นระยะห่างระหว่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ ไม่ให้ถ่างมากจนเกินไป จนส่งผลต่อการอ่อนค่าของเงินบาทและนำเข้าน้ำมันดิบในราคาที่แพงขึ้น

ฉะนั้น ในระหว่างที่รอจังหวะเวลาในการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม จำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังไปก่อน โดยเฉพาะด้านรายจ่ายเพื่อพยุงหรือประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้เกิดการทรุดตัวรอบใหม่ ซึ่งทำได้ 2 แนวทาง ได้แก่ 

1) รายจ่ายเพื่อไปบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เป็นต้น 

2) รายจ่ายเพื่อไปเติมรายได้ให้คนในระบบเศรษฐกิจ เช่น เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เติมเงินหมุนเวียนให้ร้านค้ารายเล็กรายน้อย เป็นต้น โดยส่วนตัวคิดว่าต้องทำพร้อมกันทั้ง 2 อย่าง บรรเทาด้วย เติมเงินให้ประชาชนด้วย

เพราะอย่างลืมว่า ราคาข้าวของต่าง ๆ แพงขึ้น ผู้มีรายได้น้อยที่มีลูกกำลังจะเปิดเทอม ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในขณะที่รายได้ของผู้บริโภคและร้านค้ารายเล็กรายน้อยยังกลับมาเท่าเดิมก่อนโควิด-19 

สถานการณ์แบบนี้เข้าทำนอง “ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้” อย่างแท้จริง

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

ราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย ค่าเงิน รุมเร้าเศรษฐกิจไทย  | พงศ์นคร โภชากรณ์

คอลัมน์ ตีโจทย์เศรษฐกิจ 
พงศ์นคร โภชากรณ์
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  
[email protected]