มุมมองการลงทุนกลางปี : ก่อนสู่จุดพลิกเกม | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

มุมมองการลงทุนกลางปี : ก่อนสู่จุดพลิกเกม | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ภาพกลยุทธ์การลงทุนในเดือน มิ.ย.นั้น แรงขับเคลื่อนหลักยังคงเป็นประเด็น “เงินเฟ้อสหรัฐ" และ "ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจและตลาดเงินสหรัฐ” ที่เป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง

โดยยังเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด จะเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 0.5 ในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าจะเริ่มมีกระแสถึงความเสี่ยงอื่นๆ นอกจากเงินเฟ้อที่ตลาดมองว่าเฟดอาจจำเป็นต้องปรับโทนนโยบายการเงินก็ตามที

อันนี้ยังไม่นับมาตรการลดขนาดงบดุลของเฟด หรือ Quantitative Tightening หรือ QT ที่จะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนนี้ ซึ่งคงต้องมาดูว่าจะสามารถทำให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐยังทำงานได้แบบราบรื่นหรือเปล่า

อย่างไรก็ดี เฟดดูเหมือนจะมีความมั่นใจว่าการดำเนินนโยบายการเงินในครั้งนี้ จะสามารถจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อหลังโควิดได้ โดยจะพุ่งเป้าการแก้ปัญหาไปที่เซคเตอร์อสังหาริมทรัพย์ ทั้งผ่านการขึ้นดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลเฟดในส่วนของตราสารสินเชื่อบ้าน หรือตราสาร MBS 

รวมถึงการจัดการกับอุปสงค์และอุปทานของที่อยู่อาศัยให้มีความร้อนแรงของราคาน้อยลง และเซคเตอร์สินค้าคงทน โดยจะหาแนวทางในการบริหารจัดการของระดับราคาของสินค้าในส่วนนี้ให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

มุมมองการลงทุนในเดือน มิ.ย. ผมคิดว่าเราจะเข้าสู่จุดก่อนพลิกเกม (Inflection Point) โดยเป็นเดือนที่เรายังเห็นตลาดหุ้นโลกที่นำโดยตลาดสหรัฐ ยังเป็นตลาดที่ออกมาแบบ Wait & See หรือมีการขึ้นและลงแบบที่ไม่ได้ไปไหนไกลมาก

โดยยังมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงเป็นแนวโน้มขาลง ทว่าไม่มากมายเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจาก ณ ตรงนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐได้ลงมาถึงจุดที่ใกล้เคียงกับระดับที่เคยขึ้นดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง ในลักษณะที่ไม่ได้กระเทือนต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเท่าไรนัก

ขณะที่ตลาดหุ้นบ้านเรา ยังคงมีแนวโน้มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมาจากตลาดหุ้นสหรัฐ อย่างไรก็ดี ระดับผลกระทบจะน้อยกว่าหรือลดลงมากเหลือประมาณ 1 ใน 3 จากระดับที่เกิดขึ้นในสหรัฐ 

จุดดีของตลาดหุ้นบ้านเราคือ ยังคงได้ผลเชิงบวกจากการเปิดเมืองจากโควิด-19 ในสัดส่วนที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีรายได้จากการท่องเที่ยวต่อจีดีพีสูงเป็นอันดับสองของโลก รวมถึงนโยบายการเงินของแบงก์ชาติบ้านเรายังน่าจะผ่อนคลายมากกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนอีกด้วย

มุมมองการลงทุนกลางปี : ก่อนสู่จุดพลิกเกม | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

ในทางกลับกัน ความเสี่ยงของตลาดหุ้นบ้านเรา อาจจะมาจากอัตราเงินเฟ้อไทยที่ออกมาเกินคาดมากในอนาคต ซึ่งในตอนนี้ราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นมากนั้นได้เริ่มส่งผ่านมาถึงราคาอาหารสำเร็จรูป ที่สำคัญที่สุด ราคาน้ำมันดีเซลซึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐเริ่มลดน้อยลง จึงทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกหน้าปั๊มเริ่มที่จะสูงขึ้นเป็นขั้นบันได 

ภาคการขนส่งที่เป็นกุญแจหลักของเศรษฐกิจทุกเซคเตอร์จะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงมีแนวโน้มว่าจะค่อยๆ ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการต่างๆ ไปในวงกว้างขึ้น จนอาจจะทำให้จำเป็นต้องปรับค่าจ้าง ซึ่งหากถึงจุดนั้น อัตราเงินเฟ้อบ้านเราก็อาจจะสูงกว่าที่เราคาดในตอนนี้อยู่ไม่น้อย

สำหรับความน่าสนใจของตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกในเดือนนี้ ผมมองว่าในส่วนของตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ยังคงเป็นตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ดูแล้วยังน่าสนใจกว่าเพื่อน ด้วย 2 เหตุผล คือ

1) อานิสงส์เชิงบวกจากโมเมนตัมของบรรยากาศการเลือกตั้งในไตรมาสที่ 3 ส่วนหนึ่งมาจากเม็ดเงินงบประมาณของรัฐบาล

2) ยังมองว่าดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีช่องว่างที่จะลดลง (Downside Risk) ได้ไม่มากนัก ด้านตลาดหุ้นในฝั่งตลาดเกิดใหม่ ผมยังมองว่าตลาดหุ้นจีนน่าจะมีโอกาสที่จะมีผลตอบแทนเป็นบวกแม้จะไม่หวือหวามากก็ตามที เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย พร้อมกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ในเมืองใหญ่ของจีน

หากพิจารณาแบบรายเซคเตอร์ ยังคงชอบกองทุนรวมเซคเตอร์ธนาคารของสหรัฐ เนื่องจากจะได้อานิสงส์เชิงบวกจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังมีอยู่อีกหลายยก รวมถึงราคาหุ้นกลุ่มแบงก์สหรัฐก็ย่อลงมาในระดับหนึ่งแล้วในช่วงปีนี้ โดยกองทุนที่แนะนำ ได้แก่ TUSFIN-A และ KWI USBANK 

นอกจากนี้ กองทุนรวมในกลุ่มของสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทเกษตรกรรม และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ก็ยังเป็นที่น่าสนใจ โดยประเภทแรกจากมุมมองจากราคาของสินค้าประเภทนี้ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนประเภทที่สอง เพื่อป้องกันความผันผวนทั้งจากเงินเฟ้อที่แรงกว่าคาด รวมถึงความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยหากเริ่มก่อตัวขึ้นมา.

คอลัมน์ มุมคิดมหภาค
บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (WeAsset)