ติดตามร่างพ.ร.บ.งบปี 66 ยังแนะกระจายลง FIF บางส่วน

ติดตามร่างพ.ร.บ.งบปี 66 ยังแนะกระจายลง FIF บางส่วน

การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในเดือนที่ผ่านมา นับว่า สะท้อนภาพบรรยากาศการลงทุนโดยรวมได้ค่อนข้างไว โดย ดัชนีฯ ทรงตัวได้ในช่วงแรกของเดือน ก่อนที่จะปรับตัวลง โดยการทรงตัวในช่วงแรกเกิดจากปรากฏการณ์ ซื้อคืน ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการประชุม FOMC เสร็จสิ้นแบบไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในเชิงลบออกมา 

โดย Fed มีมติขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 สู่ระดับ ร้อยละ0.75 – 1.0 ซึ่งตรงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมประกาศรายละเอียดการลดขนาดงบดุล ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ โดยเริ่มจากเดือนละ 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ แบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และ MBS  หรือ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ และหลังจากผ่านพ้นไป 3 เดือนแล้ว ขนาดการลดงบดุลจะเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์  โดยแบ่งเป็น พันธบัตรรัฐบาล 6 หมื่นล้านดอลลาร์  และ MBS 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ 

ส่วนการปรับตัวลงของตลาดหุ้นหลังจากนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ธุรกรรม Short sales ที่เพิ่มสูงขึ้น และเงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่า รวมถึงปัจจัยลบใหม่ๆอย่างเช่น การปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีน และการปรับลดประมาณการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเกิดจากอัตรากำไรที่ลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้ ตลาดหุ้นไทยดูมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยยังสามารถทรงตัวออกด้านข้างได้ โดยปรับตัวขึ้นลงตามกระแสข่าว โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ บริเวณ 1,600 จุด บวกลบ ประมาณ 20 -30 จุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีการซื้อสุทธิหุ้นไทยในเดือนนี้ ภายหลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์ กลับมาปรับตัวอ่อนค่าอีกครั้ง นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ค.โดยมีสาเหตุหลักจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่ลดลง

คาดการณ์ว่าภาพการลงทุนในเดือนมิ.ย.ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งในไทย และต่างประเทศ ได้แสดงถึงจุด สูงสุด ไปหมดแล้วโดยเฉพาะตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์ยังเชื่อว่าความผันผวนจะยังคงอยู่แต่จะเป็นในวงจำกัด ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น หรือ ตลาดตราสารหนี้

ประเมินสินทรัพย์ที่น่าสนใจในช่วงถัดไปได้แก่พันธบัตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรระยะยาวที่มักจะเป็นสินทรัพย์ที่สามารถป้องกัน ต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยได้เป็นอย่างดี โดยมองว่า ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะ สหรัฐฯ รุ่นยาวมีโอกาสทยอยปรับลดลงเรื่อยๆตามความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็น่าจะทำให้ราคาพันธบัตรเหล่านี้ปรับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 ส่วนในตลาดหุ้นนั้น ผมแนะนำหุ้นกลุ่ม Defensive ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม โรงพยาบาล กลุ่มการบริโภคภายในประเทศ และ กลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีความน่าสนใจในเชิงที่มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกับพันธบัตรนอกจากนั้น สำหรับกลุ่ม Property Fund / REIT/ Infrastructure fund มองว่าค่อนข้างมีความมั่นคงในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ แนะนำจัดสรรน้ำหนักในพอร์ตโฟลิโอไปยังสินทรัพย์เหล่านี้มากขึ้นได้

อย่างไรก็ดีปัจจัยภายในประเทศที่ควรติดตาม คือ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 66 เพราะ หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 66 ถูกคว่ำลง ตามธรรมเนียมปฏิบัติ รัฐบาลจะต้องยุบสภาและอาจจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่เร็วขึ้นกว่าปีหน้า ซึ่งอาจจะช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ แต่ในมุมกลับกันตลาดอาจจะมองว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่สะดุดลงอาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นสำหรับผู้ลงทุนที่ยังสนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทยแนะนำซื้อสะสมเมื่อตลาดมีการแกว่งตัวลงในรายวัน ควบคู่กับการกระจายการลงทุนไปกองทุน FIF

ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศในเดือนมิ.ย.นี้ คงหนีไม่พ้นการประชุมของเหล่าธนาคารกลางทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของไทยในวันที่ 8 มิ.ย. ธนาคารกลาง ECB ในวันที่ 9 มิ.ย. Fed Meeting ในวันที่ 14 -15 มิ.ย. และ ธนาคารกลาง ญี่ปุ่น ในวันที่ 16-17 มิ.ย. โดยในส่วนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นั้น

คาดว่าจะยังคงแสดงจุดยืนถึงการคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำต่อไป จากสถานการณ์เงินบาทที่คลายตัวมากขึ้น ส่วนในรายของ Fed นั้น คาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 สู่ระดับ ร้อยละ1.25-1.50 แต่ก็เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ คาดการณ์ ไว้แล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าสร้างผลกระทบบรรยากาศการลงทุนมากนัก