"จุรินทร์"กางแผนลดคาร์บอน หนุนส่งออกสินค้า BCG รับมือกติกาโลกเปลี่ยน

"จุรินทร์"กางแผนลดคาร์บอน หนุนส่งออกสินค้า BCG รับมือกติกาโลกเปลี่ยน

"จุรินทร์"รับภาคส่งออกไทยเผชิญแรงท้าทาย 2 ประการทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ กติการใหม่ส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชี้ 2 ตลาดใหญ่ EU สหรัฐฯ กำหนดกติกาเข้มงวด กระทบสินค้าส่งออกไทยอย่างน้อย 5 กลุ่ม กางแผนหนุนผู้ประกอบการ เน้นกลุ่ม BCG โชว์ส่งออกแล้ว 3.8 พันล้าน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Thailand’s Strategy สู่ความยั่งยืนในเวทีโลก” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ วันนี้ (11 พ.ค.) ว่าปัจจุบันการส่งออกจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่จะมีความท้าทายใหม่ๆที่จะเข้ามาทำให้การส่งออกยากมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยความท้าทายใน 2 เรื่องที่มาจากผลกระทบภายนอกประเทศ ได้แก่

 1.การแบ่งขั้วของการเมืองและการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในโลก ที่ทำให้โลกที่จะถูกบังคับแบ่งขั้วแบ่งค่ายมากขึ้น และจะกระทบกับการส่งออก และการค้าระหว่างประเทศ จากผลกระทบของสงครามในยูเครน และการที่เริ่มเข้ามามีบทบาทของหลายประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว

ทั้งนี้ต้องจับตา“ภูมิภาคชินเดีย” คือจีน (China) และอินเดีย (India) เนื่องจากมีประชากรสองประเทศจำนวนมาก และจะมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้นในเวทีโลก ประเด็นนี้จะมองข้ามไม่ได้ และประเทศไทยต้องอยู่รอดในการแบ่งฝักฝ่ายทั้งสองข้าง ประเทศไทยต้องเดินให้ถูกและเป็นจับมือผนึกกับอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

 

2.เงื่อนไขการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี  จะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการออกกฎกติกาในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประกาศแผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป (EU)  หรือ European Green Deal ทำให้เกิดกลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งประเทศที่ทำการค้า ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปต้องผ่านกฎข้อนี้ และ EU ประกาศว่าอีก 4 ปี 2026 ข้างหน้าจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน อย่างน้อย 5 รายการ ได้แก่ เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม ปุ๋ย และบริการไฟฟ้า โดยเหล็กเราส่งออกไปยุโรปถึง 68% และอะลูมิเนียมนั้นไทยส่งออกไปถึง 32% ในยุโรป นอกจากนั้นอนาคตยุโรปจะมีการเก็บเพิ่มอีก 2 – 3 ชนิด ได้แก่ เม็ดพลาสติกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น แอมโนเนีย เป็นต้น   

นอกจากนั้นตลาดการค้าขนาดใหญ่ของไทยอีกแห่ง เช่น สหรัฐฯจะมีการเก็บภาษีคาร์บอน ในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงในการผลิต เช่น ปิโตรเคมี เหล็ก ซีเมนต์ และ สินค้าในหมวดก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหิน ซึ่งจะกระทบกับการผลิตทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร  การผลิตในอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคการบริการ ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมที่จะรับการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์นี้ และเป็นกติกาการค้าโลกใหม่ที่การส่งออกต้องเผชิญ

ทั้งนี้ประเทศไทยได้ประกาศจุดหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (ซีโร่คาร์บอน)ในปี 2065 ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มกลางๆในการประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไม่ช้าแต่ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อไปสู่เป้าหมาย