กับดักสำหรับผู้นำ (ผู้ว่าฯ) คนใหม่ | พสุ เดชะรินทร์

กับดักสำหรับผู้นำ (ผู้ว่าฯ) คนใหม่ | พสุ เดชะรินทร์

 ถึงตอนนี้คงทราบกันแล้วว่าผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ ของชาวกรุงเทพคือใคร ถ้าเปรียบเทียบในเชิงการบริหารแล้ว ผู้ว่าฯ คนใหม่สำหรับชาวกรุงเทพก็เปรียบซีอีโอใหม่สำหรับองค์กรทั่วไป

เป็นที่ยอมรับกันว่า ช่วง 90 วันแรกในตำแหน่งซีอีโอหรือผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นช่วงที่สำคัญมาก สำหรับผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่

    ผู้จุดประกายเกี่ยวกับความสำคัญของ 90 วันแรกในตำแหน่งใหม่ คือ Michael Watkins ซึ่งเขียนหนังสือขายดีมากเล่มหนึ่ง ชื่อ The First 90 Days ขึ้นมาในปี 2003 และหลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงและพิมพ์ใหม่มาเรื่อยๆ (ถือเป็นหนังสือแนะนำสำหรับผู้บริหาร หรือ ผู้ว่าฯ ที่จะรับตำแหน่งใหม่) 

คุณ Watkins ได้ระบุเลยว่าช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ตำแหน่งใหม่นั้นเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มาใหม่ในองค์กรใหม่ เนื่องจากผู้มาใหม่ (เช่น ซีอีโอที่มารับตำแหน่งจากองค์กรอื่น หรือ ผู้ว่าฯ คนใหม่) จะขาดความสัมพันธ์และคุ้นเคยกับคนทำงานเดิม รวมทั้งความเข้าใจที่ชัดเจนในบริบท บทบาท หน้าที่ ที่ต้องทำ 

ดังนั้น ช่วง 90 วันแรกของการรับตำแหน่งใหม่ ผู้มาใหม่จะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ การสร้างความสำเร็จในระยะสั้นให้เกิดขึ้น รวมทั้งการสร้างพันธมิตรและเครือข่าย

    เมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานใหม่ สิ่งที่ทำในช่วงเดือนแรกๆ ของการรับตำแหน่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากภาพลักษณ์และความประทับใจที่เกิดขึ้นในครั้งแรก จะติดตรึงใจและความรู้สึกของคนทั้งองค์กร และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากว่าผู้นำคนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในตำแหน่งและองค์กรใหม่หรือไม่ 

การตัดสินใจในช่วงแรกๆ สำหรับผู้นำคนใหม่ถือเป็นเรื่องสำคัญเลย ถ้าตัดสินใจผิดพลาด ย่อมนำไปสู่ความน่าเชื่อถือที่ลดลง และนำไปสู่ความไว้วางใจที่ลดลง ทำให้คนที่ทำงานด้วยไม่อยากจะร่วมมือ ให้ข้อมูล และทุ่มเททำงานให้อย่างเต็มที่

    ผู้นำคนใหม่จะต้องตระหนักถึงกับดักสำคัญ สำหรับการเข้ามาเป็นผู้นำคนใหม่ในองค์กรใหม่ และรู้จักระวังและหลบเลี่ยงจากกับดักเหล่านี้

โดยกับดักที่คุณ Watkins ได้เสนอไว้ประกอบไปด้วย

1. การยึดติดกับความรู้ ความคิด ความเข้าใจเดิม ไม่พร้อมที่จะเรียนรู้และยอมรับสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดติดว่าสิ่งที่ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จจนสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้นั้น จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ต่อไป

2. การละเลยการสร้างเครือข่ายทางสังคม เมื่อก้าวสู่ตำแหน่งใหม่ ผู้นำอาจจะให้ความสำคัญกับการอ่านเอกสารข้อมูล การวางแผน คิดยุทธศาสตร์ และใช้เวลาอยู่กับโต๊ะทำงานหรือห้องประชุมที่แวดล้อมด้วยคนกลุ่มเดิมๆ จนละเลยการสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายกับบุคคลอื่น 

ผู้นำคนใหม่ควรจะใช้เวลาในการลงพื้นที่ เยี่ยมเยียนหน่วยงานต่างๆ พบปะและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ทั้งเพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และแสดงถึงความเป็นคนที่เข้าถึงได้ง่าย

3. การมีคำตอบพร้อมสำหรับทุกๆ เรื่อง ถ้าผู้นำคนใหม่เข้าสู่ตำแหน่งพร้อมความเชื่อว่าตนเองมีคำตอบสำหรับทุกๆ ปัญหาในองค์กรใหม่แล้ว กลายเป็นการแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วผู้นำนั้นรู้ปัญหาเพียงผิวเผินและไม่ทราบถึงรากหรือสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง 

การรู้คำตอบของปัญหาจากมุมมองของคนภายนอ จะทราบแค่ผิดของปัญหา ทำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่ดีและเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับคนทำงานที่รู้ปัญหาจริงๆ

4. การพยายามมากเกินไป ยิ่งเมื่อผู้นำคนใหม่พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาเดียวกัน นอกเหนือจากการไม่สามารถมุ่งเน้นในสิ่งที่จะทำให้ชัดเจนแล้ว การพยายามทำหลายสิ่งมากเกินไป ยิ่งทำให้คนรอบตัวเกิดความสับสน

5. การสร้างความคาดหวังที่เกินความเป็นจริง แม้ก่อนรับตำแหน่งจะตั้งเป้าไว้อย่างไร แต่เมื่อรับตำแหน่งและเรียนรู้งานจริงๆ ก็ควรปรับเปลี่ยนเป้าและความคาดหวังให้เหมาะสมกับสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้จริงๆ ไม่ใช่สร้างความหวังที่สูงไป จนปฏิบัติไม่ได้และเป็นที่ขบขันของคนทำงานจริง

    กับดักข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของหลายคำแนะนำ จากหนังสือ The First 90 Days ครับ สนใจลองหาอ่านดูได้ และขอให้ผู้นำใหม่ผ่านพ้นช่วง 90 วันแรกด้วยดี.

คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]