ธรรมาภิบาลสำหรับผู้ที่มีทรัพย์และร่ำรวยในสังคม | บัณฑิต นิจถาวร

ธรรมาภิบาลสำหรับผู้ที่มีทรัพย์และร่ำรวยในสังคม | บัณฑิต นิจถาวร

สองอาทิตย์ก่อนผมได้รับเอกสารจาก The Caux Roundtable for Moral Capitalism (CRT) หรือกลุ่มสนทนาโต๊ะกลมคลุ๊สว่าด้วยศีลธรรมระบบทุนนิยม เขียนเกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านธรรมาภิบาลของรัฐบาล สถาบันภาคประชาสังคม และผู้ที่เป็นเจ้าของทุนซึ่งน่าสนใจมาก

วันนี้เลยจะขยายความเรื่องธรรมาภิบาลสำหรับเจ้าของทุนซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่มีทรัพย์และร่ำรวยในสังคม สรุปจากแนวคิดในเอกสาร CRT เขียนโดยนายสตีฟ ยัง(Steve Young) กรรมการบริหาร CRT เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญนี้

เจ้าของทุนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสังคม เพราะความมั่งคั่งที่มีในฐานะผู้ที่ครอบครองหรือเป็นเจ้าของทุนหรือปัจจัยการผลิตสามารถชี้นำการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศได้ ทำให้การใช้ทุนอย่างเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคม

เอกสาร CRT ชี้ว่าความมั่งคั่ง (Wealth) ก็คือทุนที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างความคิดริเริ่มของปัจเจกบุคคลกับการสนองตอบของสังคมต่อความคิดริเริ่มดังกล่าว นำมาสู่ความมั่งคั่งให้กับผู้ที่มีความคิดริเริ่มหรือเจ้าของทุน ดังนั้น ความมั่งคั่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากความคิดริเริ่มของเจ้าของทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาจากการสนับสนุนของคนในสังคมด้วย 

ทำให้การอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกันระหว่างสังคมและเจ้าของทุนจึงสำคัญ ทั้งต่อความยั่งยืนของความมั่งคั่งของเจ้าของทุนและความยั่งยืนของสังคม นี่คือประเด็นแรกที่ผู้ที่เป็นเจ้าของทุนต้องตระหนัก

2.ทุนควรถูกนำไปใช้ประโยชน์สร้างทุนให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ดังนั้น การบริโภคหรือการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยจึงไม่ใช่การใช้ทุนอย่างเป็นประโยชน์ 

การใช้ทุนอย่างเป็นประโยชน์ที่นำไปสู่เงื่อนไขที่ทำให้คนในสังคมดีขึ้นจำเป็นและสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพและความสงบสุขในสังคม เพราะความมั่งคั่งมักเป็นที่อิจฉาของคนอื่น ความเหลื่อมล้ำที่มากจะนำไปสู่ความไม่พอใจ ความแปลกแยก และความขัดแย้งทางการเมือง

3.การใช้ทุนหรือความมั่งคั่งที่นำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิด (Abuse of power) ที่ละเมิดสิทธิและใช้อำนาจเหนือผู้อื่นเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะไม่เคารพในความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีของผู้อื่น

ธรรมาภิบาลสำหรับผู้ที่มีทรัพย์และร่ำรวยในสังคม | บัณฑิต นิจถาวร

จากแนวคิดดังกล่าวเห็นได้ว่า การใช้ทุนหรือความมั่งคั่งที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจึงสำคัญ ทั้งต่อความยั่งยืนของเจ้าของทุนในแง่ความมั่งคั่งและความยั่งยืนของสังคม ในอดีตเราจึงเห็นตัวอย่างในหลายประเทศของระบบทุนนิยมสุดโต่ง ที่การใช้ประโยชน์ของทุนขาดความเหมาะสม ไม่สนใจบทบาทหน้าที่ที่การใช้ประโยชน์ทุนควรมีต่อสังคมและส่วนรวม 

นำมาสู่การใช้ความมั่งคั่งหรืออำนาจทางเศรษฐกิจในทางที่ผิด เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง นำไปสู่ความขัดแย้งของคนในสังคม และการล่มสลายของระบบทุนนิยมและประเทศในที่สุด

แต่สิ่งเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าผู้ที่เป็นเจ้าของทุนเข้าใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น และมุ่งสร้างสมดุลในการใช้ประโยชน์ทุนระหว่างการเติบโตของทุนเพื่อประโยชน์ส่วนตนและเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ในเรื่องนี้ เอกสาร CRT ได้สรุปธรรมาภิบาลสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของทุนไว้อย่างน่าสนใจ ภายใต้หลักการว่าอำนาจต้องมากับความรับผิดชอบ กล่าวคือผู้ที่เป็นเจ้าของทุนมีหน้าที่ที่ต้องรักษาและดูแลการใช้ประโยชน์ของทุนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม (Fiduciary duties) 

ธรรมาภิบาลสำหรับผู้ที่มีทรัพย์และร่ำรวยในสังคม | บัณฑิต นิจถาวร

ซึ่งประโยชน์ในที่นี้หมายถึง การใช้ทุนหรือความมั่งคั่งเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ตอบสนองความจำเป็นที่เกิดขึ้นในสังคม และช่วยสังคมเผชิญกับความท้าทายต่างๆ สรุปคือ ความมั่งคั่งควรมีหรือควรใช้เพื่อประโยชน์ของสังคม และหลักการสำคัญของการใช้ประโยชน์ทุนหรือความมั่งคั่ง คือ

1.ความมั่งคั่งควรถูกนำไปใช้เพื่อสร้างทุนใหม่ให้เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ทุนในแง่ความมั่งคั่งที่เป็นตัวเงิน ทุนในแง่คุณภาพและความเข้มแข็งของสังคม ทุนในแง่คุณภาพการศึกษาความรู้ความสามารถของประชากร ทุนในแง่โครงสร้างพื้นฐานของสังคมที่เข้มแข็งทั้งทางกายภาพ จิตใจ และความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคม 

ทุนหรือความมั่งคั่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถสร้างและสะสมได้ นำไปสู่อนาคตที่ดีของสังคมพร้อมความมั่งคั่งที่จะมีมากขึ้น

2.การช่วยเหลือสังคมด้วยการบริจาคถือเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีทรัพย์หรือมีความมั่งคั่ง หน้าที่ทางสาธารณะของความมั่งคั่งหรือ Wealth คือสนับสนุนให้สิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคมเกิดขึ้น 

ที่สำคัญผู้ที่รับช่วงต่อในฐานะเจ้าของทุนหรือได้รับความมั่งคั่งเป็นมรดกจำเป็นต้องตระหนักในหน้าที่นี้เช่นกัน เพราะเป็นการคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นทุนและความมั่งคั่งที่สะสมมาในระบบเศรษฐกิจได้รับการรักษาและดูแลเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

3.ความมั่งคั่งควรถูกนำไปใช้เพื่อสร้างทุนสังคม (Social capital) หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในสังคม เช่น การบังคับใช้กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพคนในสังคม วัฒนธรรม ธรรมาภิบาล ที่จะสนับสนุนการสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นในอนาคตที่เป็นประโยชน์ต่อคนในสังคม 

ทุนสังคมนี้เป็นผลสะสมของสิ่งที่รัฐบาลและคนในสังคมทำ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เป็นเจ้าของทุนที่ต้องทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เช่นเสียภาษีครบถ้วน

4.ความมั่งคั่งควรถูกนำไปลงทุนในสถาบันที่สร้างทุนมนุษย์ (Human capital) ทำให้ประชากรของประเทศมีคุณภาพเพื่อสนับสนุนการเติบโตและความเข้มแข็งของสังคม รวมถึงใช้ความมั่งคั่งของภาคเอกชนเสริมการใช้จ่ายของภาครัฐ ผ่านการบริจาคและองค์กรการกุศลช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาสในด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ

5.ผู้ที่ได้ความมั่งคั่งหรือร่ำรวยมาโดยการทำผิดกฎหมาย การฉ้อโกง จากการใช้อำนาจในทางที่ผิด การทุจริตคอร์รัปชันไม่ควรมีโอกาสที่จะใช้ความมั่งคั่งที่ได้มาโดยมิชอบหาความสุข บุคคลเหล่านี้ควรคืนความมั่งคั่งที่มีให้กับสังคม และไม่สามารถอ้างสิทธิส่วนบุคคลเพื่อปกป้องทรัพย์สินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย

แนวคิดเหล่านี้ลึกซึ้งและน่าสนใจ เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นเจ้าของทุนว่าควรมองการใช้ประโยชน์ความมั่งคั่งที่มีอยู่อย่างไร เป็นประโยชน์ต่อภาคทางการในการวางนโยบายเพื่อสร้างสังคมที่สมดุลมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม.

ธรรมาภิบาลสำหรับผู้ที่มีทรัพย์และร่ำรวยในสังคม | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]