ไปศาลตามหาคริปโท (ตอน 1) | พิเศษ เสตเสถียร

ไปศาลตามหาคริปโท (ตอน 1) | พิเศษ เสตเสถียร

ในระบบของคริปโทเคอร์เรนซี จะไม่มีการระบุชื่อผู้เป็นเจ้าของ มีแต่รหัสเป็นตัวเลขอาศัยระบบบล็อกเชนที่แก้ไขไม่ได้เป็นตัวยืนยันในการทำรายการ

แต่ถ้ามีคนเข้าถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) ของเราแล้วยักยอกเงินคริปโทของเราไปได้ เราจะตามหาคนที่เอาไปได้อย่างไร?

    ในคดี CLM v CLN [2022] SGHC 46 ศาลของประเทศสิงคโปร์ได้มีคำพิพากษาในคดีของคริปโทเคอร์เรนซีไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง โจทก์เป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัล เงินทั้งหมดอยู่ในกระเป๋าเงินดิจิทัล เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว โจทก์กับลูกน้อง 7 คนไปพักผ่อนที่ประเทศเม็กซิโก 

ในคืนวันหนึ่งขณะที่โจทก์ออกไปข้างนอก ไม่ได้อยู่ที่ที่พัก เกิดมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินบางส่วนขึ้นมา จึงโทรศัพท์บอกให้ลูกน้องที่อยู่ที่พักไปถอนเงินจากกระเป๋าเงินดิจิทัลให้ แต่โชคร้ายลูกน้องไม่ระวังตัวทวนรหัสที่เขาบอกให้นั้นด้วยเสียงอันดัง จึงมีคนได้ยิน

ในวันรุ่งขึ้น โจทก์ก็พบว่าถูกขโมยเงินดิจิทัลไปหมดเหลือไว้แต่กระเป๋าเงินเปล่า ๆ ทรัพย์สินที่สูญหายประกอบด้วย Bitcoin 109.83 เหรียญและ Ethereum 1497.54 เหรียญ คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 7 ล้านเหรียญสหรัฐ 

จากการติดตามของโจทก์ มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกันหลายคน นอกจากจำเลยซึ่งไม่ทราบตัวตนว่าเป็นใคร เพราะในระบบการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดถูกออกแบบมาให้ไม่แสดงตัวตนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวตนของทุกคนเป็นรหัสหมด

เพียงแต่ทราบว่าบุคคลที่แสดงด้วยรหัสนั้นได้ทำธุรกรรมอะไรบ้าง ที่ไหนอย่างไร แล้วก็ยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอีก 6 คน ซึ่งมีทั้งศูนย์กลางการซื้อขายทรัพย์สินดิจิทัล ผู้ทำหน้าที่การชำระเงินดิจิทัล รวมเป็น 7 คน

โจทก์ได้มาฟ้องรวมกันเป็นจำเลยในคดีนี้ เพื่อขอคำบังคับคดีชั่วคราว เหตุที่โจทก์มาฟ้องในศาลสิงคโปร์ก็เพราะว่า มีจำเลยบางคนประกอบกิจการอยู่ในประเทศสิงคโปร์ คดีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นซึ่งศาลของประเทศสิงคโปร์ได้ตัดสินและให้เหตุผลไว้ว่า

ประเด็นแรก ศาลมีเขตอำนาจที่จะออกคำสั่งบังคับคดีชั่วคราวหรือไม่? ถึงแม้จะยังไม่สามารถระบุตัวตนของจำเลยได้ แต่ก็ไม่มีกฎหมายที่ระบุว่าต้องระบุชื่อของจำเลยไว้ชัดแจ้ง

แต่ทว่ารายละเอียดของบุคคลซึ่งยังไม่อาจระบุชื่อได้นั้นต้องมีความชัดเจนถึงระดับหนึ่ง ไม่ใช่ไม่มีตัวตน ซึ่งในคดีนี้คงเป็นเลขรหัสประจำตัวในระบบเงินดิจิทัล ศาลได้เทียบเคียงคำพิพากษาภายใต้กฎหมายอังกฤษและมาเลเซียแล้วก็เห็นว่า เป็นไปในทำนองเดียวกัน

คดีในศาลของมาเลเซียคือคดี  Zschimmer & Schwarz BmbH & Co KG Chemische Fabriken v Persons Unknown & Anor [2021] 7 MLJ 178. 

ศาลจึงเห็นว่า ศาลมีอำนาจที่จะออกคำบังคับคดีชั่วคราวได้ ในประเด็นนี้ ถ้าว่ากันตามกฎหมายไทยแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ไม่มีบทบัญญัติให้ฟ้องจำเลยที่ระบุตัวตนไม่ได้ ในมาตรา 67 ก็บัญญัติว่า “เมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติว่า เอกสารใดจะต้องส่งให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง 

(เช่น คำคู่ความที่นำโดยคำฟ้อง คำให้การ หรือคำร้อง หรือคำขอโดยทำเป็นคำร้อง หมายเรียก หรือหมายอื่น ๆ สำเนา คำแถลงการณ์ หรือสำเนาพยานเอกสาร ฯลฯ)

เอกสารนั้นต้องทำขึ้นให้ปรากฏข้อความ แน่ชัดถึงด้วยบุคคลและมีรายการต่อไปนี้
    (1) ชื่อศาลที่จะรับคำฟ้อง หรือถ้าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาชื่อของศาลนั้นและ เลขหมายคดี
    (2) ชื่อคู่ความในคดี
    (3) ชื่อคู่ความหรือบุคคล ซึ่งจะเป็นผู้รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้น
    ………………………………………………….”

ในแบบฟอร์มคำฟ้องก็ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ถูกฟ้อง ถ้าไม่รู้ชื่อที่อยู่ จะระบุเลขรหัสประจำตัวในระบบเงินดิจิทัลแทนนั้น ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถทำได้.