เจาะลึก! ซีรีส์จีน วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีน ด้วยแว่นทฤษฎี Cultural Soft Power

เจาะลึก! ซีรีส์จีน วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีน ด้วยแว่นทฤษฎี Cultural Soft Power

เปิดรายงานการวิจัย เรื่อง การตอบรับซีรีส์โทรทัศน์กับการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีนในสังคมไทยร่วมสมัย โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคงใหม่ และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งน่าสนใจดังนี้

สำรวจกระแสนิยมซีรีส์จีนและการตอบรับความเป็นจีนในสังคมไทยร่วมสมัยก่อนจะสร้างบทสรุปเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีนอันเนื่องมาจากการบริโภคซีรีส์ ข้อค้นพบมาจากการสังเกตการณ์ทางสังคม เอกสารสถิติ ข่าวสาร และการสนทนากับกลุ่มแฟนคลับ โดยอ้างอิงทฤษฎีอิทธิพลของภาพยนตร์ร่วมกับทฤษฎี Cultural Soft Power

บทบาทจีน

หลังจากจีนประกาศแผนการเชื่อมโยงในปี พ.ศ.2556 การแสดงบทบาทของจีนเปล่งประกายผ่านโครงการใหญ่มากมาย เช่น การสร้างทางรถไฟสินค้าจากจีนไปเยอรมนีความยาว 14,000 กิโลเมตร การสานสัมพันธ์ทางการเงินผ่าน Asian Infrastructure Investment Bank ที่จีนก่อตั้งเพื่อการกู้ยืม หรือการผลักดันแผนความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนารอบบ้าน  แม้บทบาทเหล่านี้ทำให้จีนกลายเป็นที่ชื่นชมในบรรดาชาติพันธมิตรรวมทั้งไทย วาทกรรมต่อต้านจีนกลับถูกปล่อยออกมาควบคู่กับวาทกรรมสนับสนุนเพราะอิทธิพลที่ดูมากล้นเกินไป

 

ในประเทศไทยเสียงตอบรับจีนช่วงทศวรรษ 2550 แตกออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน การแบ่งปันข่าวสารเกี่ยวกับจีนมักปะปนกันระหว่างภาพของจีนในฐานะโอกาสทางเศรษฐกิจกับจีนที่พร้อมจะบดบังความเฉิดฉายของไทย ดังนั้นกรณีมากมายถูกยกขึ้นมาเพื่อวิพากษ์จีน เช่น กรณีการท่องเที่ยวไทยซึ่งซ่อนภาพความพยายามกินรวบธุรกิจท่องเที่ยวของนายทุนจีนผ่านทัวร์ศูนย์เหรียญ  หรือกรณีการทุ่มตลาดเกษตรกรและความพยายามควบรวมกิจการทางการศึกษาในไทยจนนำไปสู่การนิยามจีนให้เป็นมิตรที่ควรเฝ้าจับตา โลกวิชาการไทยเองก็ตื่นตัวไม่น้อยไปกว่าภาคส่วนใด เพราะสถาบันหลายแห่งเลือกเปิดทางให้แก่ความร่วมมือการศึกษาไทย-จีน กระทั่งสนับสนุนการขยายเครือข่ายของสถาบันขงจื่อจนมีจำนวนมากถึง 16 สาขา ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์อนุญาตให้จัดตั้งเพียงประเทศละ 4 สาขา  ภาควิชาการบางฝ่ายจึงเลือกที่จะระแวดระวังจีนมากกว่าแสวงหาความร่วมมือ

แต่ยามที่อคติกำลังแพร่กระจาย ซีรีส์โทรทัศน์จีนกลับแสดงบทบาทในฐานะตัวพลิกเกมในสังคมไทย งานหลายเรื่องเริ่มเป็นที่กล่าวขานในหมู่ผู้ชมเหมือนที่ซีรีส์เกาหลีใต้จุดกระแสเกาหลีนิยมหลังเริ่มสหัสวรรษใหม่เพียงไม่กี่ปี ในเวลานั้นธุรกิจความงามและแฟชั่นของเกาหลีใต้พุ่งทะยานไปเป็น 75.40% การท่องเที่ยว 33.30% อาหาร 31.80% ทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากซีรีส์โทรทัศน์บวกดนตรี การยอมรับตัวตนของเกาหลีใต้ก็ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปโดยอาศัยเสน่ห์เรื่องราวร่วมกับนักแสดงในซีรีส์ หากมองมุมนี้ ซีรีส์โทรทัศน์จีนย่อมส่งอิทธิพลในการชักนำสังคมไทยให้ตอบรับความเป็นจีนไม่ต่างกัน เพียงแต่ท่าทีดังกล่าวยังขาดความแน่ชัดด้วยไม่มีการศึกษาค้นคว้ายืนยัน


ความเข้าใจปรากฏการณ์ความนิยมซีรีส์จีนควบคู่กับความรู้เกี่ยวกับการตอบรับความเป็นจีนในหมู่ชาวไทยจึงเป็นจุดตั้งต้นสำหรับพยากรณ์แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย-จีน เนื่องจากข้อมูลทั้งสองจะช่วยเผยให้เห็นบทบาทและอิทธิพลของซีรีส์จีนในด้านความเชื่อมโยงดังปรากฏในกรณีเกาหลีใต้ รวมไปถึงญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ที่พึ่งพาสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับความบันเทิง (ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ และคณะ, 2564) การวิจัยครั้งนี้จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อไขโจทย์ดังกล่าวโดยคาดว่า ผลวิจัยจะช่วยเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีนและสร้างพื้นฐานสำหรับต่อยอดวิชาทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมบันเทิงไปพร้อมกัน

ฐานข้อมูลการศึกษา

การบริโภคซีรีส์จีนและการตอบรับความเป็นจีนในสังคมไทย ใช้ข้อมูลย้อนหลังซึ่งครอบคลุมระหว่างปี พ.ศ. 2562-2564 เพราะเป็นช่วงที่ความนิยมซีรีส์โทรทัศน์จีนกำลังแผ่ขยาย ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากบันทึกการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมเยาวชน บุคลากรทางราชการ และผู้ชมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกส่วนมาจากทัศนะและภาพสะท้อนแฟนคลับในโลกดิจิตอล เสริมด้วยข้อมูลจากกลุ่มผู้ชมตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 6 คนดังปรากฏรายละเอียดในระเบียบวิธีวิจัย

แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

ทฤษฎีหลักในการศึกษาวิจัยคืออิทธิพลของภาพยนตร์ (Film’s Influence) และ Cultural Soft Power ทั้งสองทฤษฎีถูกนำมาใช้รับรองผลการวิเคราะห์ช่วงท้าย

อิทธิพลของภาพยนตร์ถูกพิสูจน์ในงานศึกษาหลายชิ้น เช่น งานของ Kubrak (2020) ซึ่งบ่งชี้อิทธิพลของภาพยนตร์ในการสร้างทัศนะเชิงบวกต่อคนชราหรืองานของ Zhao (2008) ซึ่งเผยอิทธิพลของภาพยนตร์ในการสร้างภาพอเมริกันชนในสังคมจีน ภาพยนตร์จึงถูกนำมาใช้ในภารกิจนอกเหนือความบันเทิงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะภารกิจจูงใจผู้ชมตามหลัก Soft Power ของ Nye (1990) ในภารกิจนี้ภาพยนตร์รวมทั้งสื่อภาพเคลื่อนไหวอื่น ๆ จะต้องสร้างแรงดึงดูดทางวัฒนธรรมให้มากที่สุดเพื่อโน้มน้าวผู้ชมเป้าหมายให้ยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

อย่างไรก็ดี Soft Power วิวัฒน์ตามกาลเวลาจนกลายมาเป็นทฤษฎีต่อยอด เรียกว่า “Cultural Soft Power” ซึ่งเน้นภารกิจการสร้างสรรค์สังคมพหุวัฒนธรรมมากกว่าอื่นใด องค์การ UNESCO (n.d.) นิยาม Cultural Soft Power ไว้ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อเรียนรู้กันและกันรวมทั้งนำไปสู่ความเข้าใจอันดี ต่างจาก Soft Power ซึ่งมีสาระในเชิงของการเอาผลประโยชน์ เช่น Soft Power สหรัฐฯ มีไว้สำหรับประกันบทบาทความมั่นคงตามจุดต่าง ๆ ด้วยสหรัฐฯ ต้องการรักษาเครือข่ายโลกาภิวัตน์ของตนเอง (Yavuzaslan & Çetin, 2016) หรือ Soft Power ญี่ปุ่นทำหน้าที่รักษาฐานการผลิตและตลาดในต่างประเทศ

เพราะหัวใจของญี่ปุ่นอยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอก (Ahlner, n.d.) จีนประกาศใช้ Cultural Soft Power ในปี พ.ศ. 2550 และ 2557 ตามลำดับโดยอ้างว่า ต้องการให้ชาวโลกเรียนรู้เรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับจีน (China's Soft Power Campaign, n.d.) นั่นจึงเป็นที่มาของการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับต่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากทฤษฎีทั้งสอง แนวคิดผลกระทบทางอ้อม (Indirect Impact) ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมคำอธิบายบางอย่าง Exter (2018) กล่าวว่า ผลกระทบทางอ้อมเป็นผลจากการปฏิบัติงานขององค์กรที่มีต่อผู้คนและสภาพแวดล้อมโดยที่องค์กรไม่ได้คาดหมาย (ในความหมายของ Exter มันคือองค์กรธุรกิจ) เช่น การค้าขายในชุมชนหนึ่งอาจทำให้เกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจหรือทำลายระบบนิเวศน์ เป็นต้น ในแง่นี้ผลกระทบทางอ้อมคือส่วนต่อยอดของผลกระทบทางตรงด้วยเชื่อมโยงต่อกันเป็นลูกโซ่ หากมองมาที่ซีรีส์จีน จะพบผลกระทบทางอ้อมในเชิงสังคม กล่าวคือกลุ่มผู้บริโภคยอมปรับเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับจีนตามแรงจูงใจจากการบริโภค แต่สังคมรอบข้างซึ่งไม่ได้ร่วมบริโภคก็อาจยอมปรับเปลี่ยนทัศนะตามโดยรับอิทธิพลมาจากกลุ่มผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง นี่เป็นหลักการซึ่งมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทั้งสองทฤษฎีด้วยมันชี้ให้เห็นกระบวนการกระจายอิทธิพลของสื่อบันเทิง

กระแสนิยมซีรีส์จีน

ปรากฏการณ์ความนิยมซีรีส์จีนเริ่มเด่นชัดในสังคมไทยช่วงต้นทศวรรษ 2560 เป็นต้นมา มีคำกล่าวในหมู่ผู้ชมว่า หากได้ริเริ่มเสพซีรีส์จีน อาจหลงลืมงานของเกาหลีใต้ตลอดไป หมายความว่า ซีรีส์จีนกำลังกลายเป็นคู่แข่งรายใหม่ของซีรีส์เกาหลีใต้ ฐานแฟนคลับคล้ายจะถูกแบ่งออกอย่างชัดเจนเช่นกันจนเกิดเป็นคำเรียกขานไม่เป็นทางการในภาษาไทย ได้แก่ ด้อมจีนและด้อมเกาหลี มาจาก Fandom ของจีนและ Fandom ของเกาหลีใต้ ซีรีส์จีนยอดนิยมสำหรับผู้ชมไทย ได้แก่ A Love So Beautiful (2017), Put Your Head on My Shoulder (2019), The Untamed (2019), Eternal Love of Dream (2019), I Will Find You a Better Home (2020), Held in the Lonely Castle (2020), The Oath of Love (2021)



แม้บางเรื่องผลิตก่อนหน้าปี พ.ศ. 2562 ความนิยมกลับไต่ระดับช่วงปี พ.ศ. 2562-2564 ตามกระแสการบริโภคเรื่องอื่นซึ่งถูกส่งต่อแบบปากต่อปาก ณ ช่วงดังกล่าว The Untamed ได้รับการจับตาเป็นพิเศษ เพราะเกิดความคลั่งไคล้ในหมู่แฟนชาวไทยโดยไม่ได้คาดหมาย รายงานหลายฉบับระบุตรงกันว่า The Untamed มีความพิเศษตรงที่สามารถดันยอดผู้ใช้บริการ WeTV Thailand สตรีมมิ่งจากประเทศจีนให้เติบโตในระยะเวลาอันรวดเร็ว คิดเป็นตัวเลขสูงถึง 250%



ขณะที่ยอดดาวน์โหลดซีรีส์เรื่องนี้พุ่งไปถึง 1 ล้านครั้งต่อเดือนโดยเฉลี่ย แฮชแท็ก #ปรมาจารย์ลัทธิมาร (ชื่อภาษาไทยของ The Untamed) ยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 นานติดต่อกัน 3 วันหลังจากที่มีการฉายครั้งแรก เมื่อจัดกิจกรรมพบปะแฟน ๆ ในชื่อ The Untamed Fan Meeting in Thailand ยอดจองบัตรร่วมงานมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคิว หลายคนจับกลุ่มรอรับนักแสดงตั้งแต่สนามบิน ความเป็นไปเหล่านี้ทำให้มองกันว่า The Untamed คือหัวหอกที่ช่วยจุดประกายความนิยมซีรีส์จีนในโซเชียลมีเดียไทย เพราะดึงความสนใจของผู้เล่นโซเชียลมีเดียให้หันมามองอุตสาหกรรมบันเทิงจีนมากขึ้น เหมือนที่ครั้งหนึ่ง Winter Sonata (2002) และ A Jewel in the Palace (2003) ปลุกกระแสซีรีส์เกาหลีใต้ในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย

ขณะที่ The Untamed นำร่อง I Will Find You a Better Home คือตัวอย่างงานที่รักษากระแสความชอบซีรีส์จีนในสังคมไทยได้ดี เสียงตอบรับ I Will Find You a Better Home อยู่ในเกณฑ์น่าประทับใจด้วยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสังคมร่วมสมัย เล่นกับประเด็นอสังหาริมทรัพย์ มีการเล่าเรื่องชวนให้ผู้ชมรู้สึกอบอุ่น คล้อยตาม และประทับใจในความสู้ชีวิตของชาวจีน ฝีมือการแสดงของผู้เล่นทุกคนสะดุดตา ส่วนใหญ่ให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า อยากติดตามไม่ให้พลาดแม้เพียงฉากเดียว และนี่คือเสียงสะท้อนที่สัมผัสได้บ่อยครั้งในกรณีของซีรีส์จีน การสื่อสารอารมณ์อาจเป็นเหตุผลหลักของการเลือกบริโภค แต่งานผลิตระดับอลังการหรืองานสร้างซึ่งสะท้อนความประณีตบรรจงก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญ

กรณีซีรีส์กำลังภายในเรื่อง Heavenly Sword and Dragon Slaying Sabre (2019) คือตัวอย่างยืนยัน ผู้ชมไทยจำนวนมากกล่าวขานเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่การลงทุนด้านฉาก จำนวนผู้แสดง ชุดเสื้อผ้า อุปกรณ์ประกอบฉาก/การแสดง การจัดแสง และอีกมากมาย นักแสดงสตรีเหมือนได้รับการคัดสรรมาเพื่อจับสายตาบุรุษเพศ นักแสดงชายก็มีท่วงท่าสง่างามสำหรับผู้ชมหญิง สถานที่ถ่ายทำดูวิจิตรงดงามดั่งในนิยายต้นฉบับ เหตุการณ์สู้รบไม่ว่าจะในการสงครามหรือการประลองสื่อความยิ่งใหญ่ตามตัวอักษรในบทประพันธ์ ทุกองค์ประกอบใน Heavenly Sword and Dragon Slaying Sabre จึงกลายเป็นความคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปสำหรับผู้ชม กระนั้นระดับความนิยมซีรีส์จีนสามารถสรุปได้จากเรตติ้งการชมทางโทรทัศน์บางชุด อย่างในปี พ.ศ. 2563 เรตติ้งความนิยมซีรีส์เอเชีย 10 อันดับแรกในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนเป็นของซีรีส์จีนมากถึง 5 เรื่อง ซีรีส์เกาหลีใต้ 3 เรื่องและซีรีส์อินเดีย 2 เรื่อง

เจาะลึก! ซีรีส์จีน วัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีน ด้วยแว่นทฤษฎี Cultural Soft Power

แม้ตัวเลขนี้ไม่สะท้อนนิสัยการเลือกบริโภคของผู้ชมกลุ่มสตรีมมิ่งหรือออนไลน์ แต่ก็สะท้อนความผูกพันระหว่างผู้ชมกลุ่มโทรทัศน์กับซีรีส์จีน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชมสูงอายุหรืออาศัยตามต่างจังหวัด

ในปีถัดมาความนิยมซีรีส์จีนทางโทรทัศน์ก็ยังคงเห็นได้ชัดจากการจัดผังรายการของ 10 ช่องโทรทัศน์หลัก ได้แก่ ช่อง Mono ช่อง 7 ช่องเวิร์คพอยท์ ช่อง 3 ช่อง 8 ช่อง 5 ช่อง JKN18 ช่องอมรินทร์ทีวี ช่องไทยรัฐทีวี และช่อง 9 ทุกช่องอาศัยความนิยมซีรีส์จีนเรียกยอดผู้ชม เรื่อง Heavenly Sword and Dragon Slaying Sabre ถูกนำกลับมาฉายซ้ำและได้เรตติ้งเฉลี่ยสูงที่สุดในบรรดาซีรีส์จีนทั้งหมด คิดเป็น 1.139 เพิ่มขึ้นจากการฉายในปีก่อนหน้าราว 61.1% ตามมาด้วยเรื่อง The Wolf, The Taoism Grandmaster และ Heroic Journey of Nezha ที่ 1.13, 1.095 และ 1.091 ตามลำดับ

ตัวเลขสูงกว่า 1 จัดอยู่ในเกณฑ์น่ายินดีสำหรับทางสถานี หากพิจารณายอดบริโภคในระบบสตรีมมิ่ง จะพบนัยสำคัญทางสถิติไม่ด้อยไปกว่าเรตติ้งโทรทัศน์ ยกตัวอย่างเช่น บริการของ WeTV Thailand ปี พ.ศ. 2564 สามารถสร้างยอดผู้ใช้งานต่อเดือนที่ 13 ล้านคน มีผู้ใช้งานต่อวันเพิ่มขึ้น 13% ราว 2 ใน 3 เป็นผู้ใช้งานเพศหญิง การชมคอนเทนต์จากประเทศจีนโดยเฉพาะซีรีส์เติบโตสูงถึง 137% บ่งบอกความนิยมซีรีส์จีนในหมู่ผู้ชมหญิง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการฉายเนื้อหาเกี่ยวกับความรักและ/หรือการเป็นคอนเทนต์แบบซีรีส์วาย แต่ผู้ชมชายจะเลือกบริโภคงานกลุ่มกำลังภายในโดยเฉพาะงานที่ดัดแปลงมาจากบทประพันธ์คลาสสิกของ Jin Yong และ Gu Long บทสนทนาในกลุ่มแฟนซีรีส์กำลังภายในมักเป็นเรื่องบทบาทตัวละคร ความเคารพต้นฉบับ รวมทั้งปรัชญาชีวิต เพราะนิยายเหล่านี้มีคุณค่าทางสังคมควบคู่ความบันเทิง ซีรีส์หลายเรื่องตีความหมายออกมาเป็นภาพได้ถูกอกถูกใจผู้ชม

การตอบรับความเป็นจีนในกลุ่มผู้ชม

ความนิยมดังอภิปรายในส่วนก่อนหน้านำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้ชมรวมไปถึงสังคมรอบข้าง ทั้งหมดจัดเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

ประการแรก ผู้ชมซีรีส์เริ่มถือมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับจีน เป็นมุมที่จีนกลายเป็นชาติอันงดงาม เต็มไปด้วยอารยธรรม มีความน่าเลื่อมใส มีความอบอุ่น มีความน่าประทับใจ ผู้ชมจำนวนไม่น้อยหันไปติดตามข่าวสารความก้าวหน้าเกี่ยวกับจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ พัฒนาการคอมพิวเตอร์ การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ การค้า/การลงทุน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ การมองจีนในมุมใหม่ยังมาจากเนื้อหาซีรีส์ที่พยายามสะท้อนความเป็นมืออาชีพของชาวจีนในการยกระดับตนเอง ทั้งยังนำเสนอความเป็นจีนในมิติอันสูงส่งอย่างการแสวงหาความก้าวหน้า การทำเพื่อสังคมโดยรวม ฯลฯ เช่น ใน Heavenly Sword and Dragon Slaying Sabre ตัวละครฝ่ายดีร่วมสงครามปลดแอกอาณาจักรจีน แต่เมื่อใกล้ถึงชัยชนะ ตัวละครกลับเลือกปฏิเสธอำนาจบนบัลลังก์ด้วยมองว่า ความสุขของประชาชนคือเป้าสำคัญ ไม่ใช่เกียรติยศของตนเอง

ในสายตาผู้ชมจุดเด่นของซีรีส์จีนขึ้นอยู่กับความงามเชิงเนื้อหาเช่นกันซึ่งส่งผลต่อการสร้างภาพจำที่งดงาม แบ่งเป็นความงามของรูปลักษณ์ตัวละคร ความงามของบทประพันธ์ ความงามของระเบียบประเพณี และความงามของสถานที่ ซีรีส์ The Untamed เป็นที่ชมชอบสำหรับผู้ชมไทยเพราะมีความงามพร้อมมูล กายภาพตัวละครดูสมสง่าราศี หน้าตาเรียบเนียนคมคาย บทประพันธ์นำเสนอความสัมพันธ์ได้อย่าง

หลากหลาย ครอบคลุมความสัมพันธ์ในครอบครัว มิตรภาพ หรือคู่รัก ขณะที่ฉากหลังฉายความวิจิตรทางธรรมชาติและอาคารบ้านเรือน แต่ละแห่งดูคล้ายงานออกแบบของจิตรกรและสะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมให้ดูน่าชื่นชม นี่คือความพิเศษที่มีเฉพาะในซีรีส์จีน

ประเด็นความรักกับศักยภาพมนุษย์ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ชมไทยกลับมุมมองต่อจีน เพราะความรักในซีรีส์ช่วยเติมเต็มภาพฝันของผู้ชมด้วยความหวานซึ้งกินใจหรืออบอวลด้วยความมั่นคงทางความรู้สึก You Are My Glory (2021) คือหนึ่งในตัวอย่างความโรแมนติกของจีน ซีรีส์นี้ฉายภาพความสัมพันธ์ตัวละครในแบบที่ฝ่ายชายแสดงความรักกับฝ่ายหญิงดังที่กลุ่มผู้ชมหญิงปรารถนา เพราะไร้ซึ่งความรุนแรง แต่แน่วแน่และอ่อนโยน ทั้งคู่พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นพลัง คอยผลักดันให้อีกฝ่ายก้าวไปสู่ฝันของตัวเอง สำหรับศักยภาพมนุษย์ซีรีส์จีนจำนวนมากเลือกวาดภาพให้ตัวละครรู้จักต่อสู้ดิ้นรน เอาชนะอุปสรรคแม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม นี่ตรงกับความเชื่อในยุคสมัยใหม่ที่ชมชอบให้ตัวละครพึ่งพาความสามารถของตัวเองและไม่จำนนต่อชะตากรรม หลายครั้ง ตัวละครหลักในซีรีส์จีนจึงไม่ใช่ผู้มากบารมีหรือได้เปรียบจากวรรณะสูงศักดิ์ ทว่ารู้จักกัดฟันสู้ในฐานะคนธรรมดา เมื่อผู้ชมบริโภคเนื้อหาเหล่านี้มากขึ้นเพราะตรงกับจริตตัวเอง การรับรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับจีนก็ผุดขึ้นตามระดับการรับชม

กระนั้นความถี่ในการชมไม่ใช่เหตุผลเดียวของการเปลี่ยนภาพจำ แต่รวมความผูกพันกับตัวละครและความเป็นไปทางสังคมในซีรีส์แต่ละเรื่อง เพราะความผูกพันทำให้ผู้ชมเลือกมองจีนจากอีกมุมพร้อมกระตุ้นความสนใจในเอกลักษณ์สังคมวัฒนธรรมจีน
ในภาพรวม ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในกรณีซีรีส์จีนเห็นได้จากพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคล แบ่งเป็นการแสดงออกทางรสนิยมและการบริโภค เช่น

- ผู้ชมพูดคุยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนพร้อมเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกซึ่งทำให้ผู้ร่วมสนทนาได้เห็นวิถีความเป็นจีนชัดขึ้น
- มีการแบ่งปันภาพทางสังคมวัฒนธรรมทั้งในแบบจารีตนิยมและทันสมัย
- หลายคนนำบทประพันธ์คลาสสิกมาถกเถียงในกลุ่มแฟนวรรณกรรม
- บางคนแบ่งปันความเห็นหลังการชมซีรีส์และ/หรือภาพยนตร์ที่ตนประทับใจในรูปรีวิว
- ผู้ชมอีกจำนวนหนึ่งเลือกบริโภคสินค้าแฟชั่นตามอย่างผู้แสดงซีรีส์

อย่างไรก็ดีความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านมุมมองและพฤติกรรมมีประเด็นให้วิเคราะห์ 2 ข้อ แต่ละข้อคือกุญแจสู่ความเข้าใจวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีน


ข้อแรก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคซีรีส์จีนเท่านั้น แต่สามารถกระจายไปยังกลุ่มสังคมอื่นตามที่แนวคิดผลกระทบทางอ้อมได้อธิบายไว้ว่า สิ่งใด ๆ ก็ตามอาจไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่สร้างผลต่อไปยังสภาพแวดล้อมรอบข้าง ในกรณีของซีรีส์จีน อาจจะเป็นเพื่อน คนรัก ครอบครัว หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของกลุ่มเป้าหมายเอง ยิ่งในโลกปัจจุบันการสร้างผลกระทบเป็นไปได้ง่ายขึ้นโดยใช้เพียงโซเชียลมีเดีย ด้วยผู้คนมักวางตัวเป็นผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารรวมทั้งสร้างข่าวสารไปพร้อมกัน



แล้วใช้ช่องทาง Instagram, Facebook, YouTube, Twitter จูงใจผู้คน (Freberg et al, 2010; Duffy, 2020) ภาพจำเชิงบวกเกี่ยวกับจีนจึงถูกส่งต่ออย่างรวดเร็ว

ข้อสอง ความเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้ชมสวนทางกับแนวโน้มการต่อต้านบทบาทจีนในทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุคก่อนหน้า หมายความว่าซีรีส์จีนช่วยสร้างกระแสสังคมอันเป็นคุณต่อความสัมพันธ์ไทย-จีนทั้งที่จีนมีภาพไม่พึงประสงค์มากมาย เพราะนับตั้งแต่รัฐบาลจีนเริ่มแผนการเชื่อมโยง สหรัฐฯ ก็ประกาศหวนคืนสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในนามนโยบาย The Asia Pivot หรือการถ่วงดุลอำนาจกับจีน  คาดว่า สหรัฐฯ ต้องการดักทางไม่ให้จีนแผ่อิทธิพลมากเกินไปจนคุกคามระบบการค้าของสหรัฐฯ นโยบายดังกล่าวทวีความเข้มข้นเมื่อจีนเดินหน้าประกาศโครงการ One Belt One Road ในปี พ.ศ. 2556 (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Belt and Road Initiative) จากนั้นมีการกระจายข่าวสารเกี่ยวกับจีนในเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมเพื่อเร้ากระแสต่อต้านจีน ข่าวดังกล่าวถูกส่งต่อกันทั้งทางวาจาและโซเชียลมีเดีย เช่น ชาวจีนเป็นชาติไร้อารยธรรมเพราะไม่ให้ความสำคัญแก่มารยาทสังคม ชาวจีนต้องการถือครองพื้นที่ในไทย จึงไม่ควรให้จีนทะลักเข้ามาในประเทศมากเกินไป หรือธุรกิจจีนมีแต่ความละโมภ หากไม่ระวังธุรกิจจีนจะทำลายพ่อค้าแม่ค้าไทย เป็นต้น

นักวิชาการบางสำนักมองสิ่งเหล่านี้เป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operation) เพราะมีการย้ำเนื้อหาข่าวในเชิงวิพากษ์สังคมการเมืองจีนตลอดเวลา ในทางตรงข้ามข่าวสารคล้ายกันของชาติอื่นกลับไม่ได้ถูกตอกย้ำซ้ำ ๆ กัน ข่าวความรุนแรงในสังคมสหรัฐฯ หรือข่าวการทำสงครามของสหรัฐกับพันธมิตรคือตัวอย่างที่ดี ข่าวแรกสะท้อนในงานวิจัยของ Summer et al (2015) ที่ระบุว่า อัตราการทำร้ายร่างกายในสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษ 2550 มีจำนวนน่ากังวล แต่ละปีเป็นการทำร้ายถึงชีวิต 16,000 ราย ทำร้ายจนบาดเจ็บ 1.6 ล้านราย ทำร้ายคู่สมรสมากกว่า 12 ล้านราย และทำร้ายเยาวชนมากกว่า 10 ล้านราย อย่างหลังสรุปรายละเอียดได้จากเอกสารของ Department of Veterans Affairs (2021) ที่ทำรายการการสู้รบของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาใต้ เอเชียแปซิฟิก หรือแทบจะรอบโลกจนกล่าวได้ว่า สหรัฐฯ กับสงครามคือของคู่กัน แต่หลายคนกลับเลือกมองข้ามด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการยอมสยบต่อแรงโน้มน้าวความบันเทิงตามที่รายงาน อิทธิพลสื่อภาพยนตร์ฮอลลีวูด: ความสัมพันธ์กับกิจการโลก โดยจงเดือน สุทธิรัตน์ (2552) ได้วิเคราะห์ไว้

ฉันใดฉันนั้นทันทีที่แฟนซีรีส์ตอบรับความเป็นจีนมากขึ้นจนความรู้สึกไม่เป็นมิตรเริ่มถูกกลืน กระแสความนิยมสังคมจีนจึงเริ่มเข้ามาแทนที่และทำให้ภาพจำเกี่ยวกับจีนปรับทิศทาง ความเปลี่ยนแปลงด้านมุมมองและพฤติกรรมของผู้ชมซีรีส์จึงไม่ต่างจากจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ เพราะมันช่วยกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีนตามนโยบาย Cultural Soft Power ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลมากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการแข่งขันของซีรีส์จีน ผลวิจัยส่วนถัดไปว่าด้วยสังคมไทยกับการตอบรับจีนหลังพลังความนิยมซีรีส์เติบโต

สังคมไทยกับการตอบรับความเป็นจีน

ณ วันนี้ตัวเลขประมาณการผู้นิยมซีรีส์จีนยังไม่ปรากฏ แต่หากพิจารณาตัวเลขสมมติจากประชากรไทยทั้งหมด จะพบความเป็นไปได้อย่างหนึ่ง ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน เดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เผยว่า ประชากรไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 66,171,439 คน แบ่งเป็นเพศชาย 32,339,118 คน เพศหญิง 33,832,321 คน (เปิดข้อมูลจำนวนประชากรในประเทศไทย อัพเดตล่าสุด จากกรมการปกครอง, 2565) ถ้า 1 ใน 4 ของประชากรหญิงและ 1 ใน 5 ของประชากรชายเลือกบริโภคซีรีส์จีน จะได้ตัวเลข 8,458,080 และ 6,467,823 คนตามลำดับ คิดเป็น 14,925,903 คน ถ้าทุกคนส่งต่อกระแสความชอบซีรีส์จีนรวมทั้งความใคร่รู้เกี่ยวกับจีนไปยังบุคคลรอบข้างในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ครองทัศนคติต่อจีนแบบค่อนไปทางบวก 44,777,709 คน หรือราว 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด มากเพียงพอที่จะทัดทานปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม

ตัวเลขสมมติเกี่ยวกับผู้ชมไม่ถือว่าเกินเลยแต่อย่างใด ยอดผู้ชมความบันเทิงแต่ละปีมีจำนวนมหาศาล อย่างผู้ชมโทรทัศน์ปี พ.ศ. 2563 สามารถขึ้นไปถึงระดับ 31,864,000 คนในระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม ยังไม่นับผู้ชมระบบสตรีมมิ่งที่มีทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ หากเป็นสตรีมมิ่งจากจีน จะได้รับการพูดถึงในกลุ่มผู้ใช้บริการรุ่นใหม่ และซีรีส์เรื่องใดที่เป็นกระแสจะถูกเลือกออกอากาศโดยช่องโทรทัศน์ในเวลาต่อมา หลายเรื่องได้ลงตารางฉายช่วงเวลาสำคัญอย่างเช้าวันเสาร์-อาทิตย์จากเดิมที่มักฉายรอบดึกเวลาเที่ยงคืนหรือตี 1 ตี 2 หมายความว่าโอกาสที่ซีรีส์จีนได้ประชาสัมพันธ์ความเป็นจีนในสังคมไทยมีมากกว่า 50%

แม้ตัวเลขนี้เป็นการคาดการณ์ การตอบรับจีนในทางสร้างสรรค์ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดจากตัวบ่งชี้ทางสังคมซึ่งผุดขึ้นมามากมายท่ามกลางกระแสนิยมซีรีส์จีน

เริ่มจากตัวบ่งชี้แรก ความต้องการเรียนภาษาวัฒนธรรมจีนในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่เป็นไปด้วยความสนใจใคร่รู้มากกว่าจะจำกัดแค่ความเชื่อว่า ภาษาจีนคือโอกาสทางเศรษฐกิจ ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างเด่นชัดคล้อยหลังความเติบโตของการบริโภคซีรีส์ในปี พ.ศ. 2562 เพราะแหล่งข้อมูลกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหลายคนให้คำตอบในทางเดียวกัน การสอนหลักสูตรภาษาจีนในปัจจุบันจึงได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย หลักสูตรดังกล่าวหาได้ในระดับอุดมศึกษาจำนวน 47 แห่ง คิดเป็น 130 หลักสูตร (พรนภา สวัสดี, 2564) การเปิดห้องเรียนขงจื่อในระดับประถม-มัธยมศึกษาอย่างน้อย 12 แห่งร่วมกับการดำเนินกิจกรรมในนามสถาบันขงจื่ออีก 16 แห่งก็ได้รับการตอบรับที่เป็นกันเอง ขณะที่ประชากรรุ่นใหม่สมัครเข้าเรียนสถาบันสอนภาษาเอกชนหรือกับครูสอนภาษาส่วนบุคคลจนเป็นเรื่องธรรมดา

น่าสนใจที่ผู้เรียนภาษาพยายามแบ่งปันแนวการเรียนโดยอาศัยซีรีส์จีน Unrequited Love, Go Go Squid 2: Dt.Appledog’sTime, You Are My Hero, The Long March of Princess Changge, Go ahead ฯลฯ คือกลุ่มงานที่ถูกแนะนำในปี พ.ศ. 2564 เพื่อใช้ประกอบการฝึกหัดภาษาจีน ส่วนใหญ่เป็นการฝึกทักษะการฟังและพูด โดยพยายามจับความในบทสนทนาให้รู้ว่า ตัวละครกล่าวคำไหน และหมายถึงอะไร หลายคนมองว่า การพึ่งพาซีรีส์จะทำให้การเรียนสนุกขึ้นรวมทั้งกลายเป็นเรื่องง่ายเพราะตัวละครใช้คำศัพท์ซ้ำกัน ทั้งช่วยย่นเวลาในการท่องคำแปล

การแสดงออกขององค์กรการศึกษา การค้า สมาคมหลายแห่งก็เต็มไปด้วยจุดยืนในการสานสัมพันธ์วัฒนธรรมไทย-จีนโดยไม่สะทกสะท้านต่อกระแสต่อต้านดังปรากฏในข่าวสารปี พ.ศ. 2564 เช่น สมาคมการค้าไทยและเศรษฐกิจเอเชียร่วมมือกับกลุ่มบุคลากรการแพทย์จิตอาสาให้ความช่วยเหลือคนจีนที่ประสบปัญหาเชื้อโควิดในประเทศไทยและต้องการความช่วยเหลือ (สมาคมการค้าไทยฯ จับมือกลุ่มบุคลากรการแพทย์ จิตอาสาช่วยคนจีนติดโควิดในไทย, 2564) หรือการสร้างห้องปฏิบัติการร่วมด้านการแพทย์แผนไทย-จีนเพื่อจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรไทย-จีนระหว่างมหาวิทยาลัยการแพทย์ในประเทศไทยและจีน (ความร่วมมือไทย-จีน (1), 2564)

กิจกรรมดังกล่าวชี้ว่า การยอมรับจีนมีความเข้มแข็งมากขึ้นจนทำให้ปฏิสัมพันธ์กับจีนเพิ่มความเข้มข้นแม้มีความพยายามกระจายข่าวว่า ประเทศจีนคือต้นกำเนิดโควิดก็ตาม อิทธิพลทางเศรษฐกิจอาจเป็นเหตุผลของการดำเนินกิจกรรม แต่ความเปิดกว้างทางสังคมคืออีกแรงขับดันที่ทำให้กิจกรรมเดินหน้าโดยไม่สนข้อครหาเกี่ยวกับจีน



ตัวบ่งชี้ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าข้างต้นยังมีอีกมากมาย ส่วนใหญ่คือมุมมองต่อจีนทั้งในเชิงกายภาพและวัฒนธรรม คนไทยบางกลุ่มเสนอว่า รูปลักษณ์แบบจีนคือความน่าใฝ่ฝัน ต่างจากในอดีตซึ่งรูปลักษณ์อย่างตะวันตกเป็นที่นิยมมากกว่าจนนักแสดงสายเลือดตะวันตกได้รับโอกาสในวงการบันเทิงไทย บางรายถึงขั้นสรุปว่า ใบหน้าแบบจีนมีเสน่ห์กว่าชาวเกาหลีใต้แม้ว่ากระแสนิยมเกาหลีใต้จะยังรุนแรงในหมู่ผู้ชมไทย สำหรับมิติทางวัฒนธรรม ชาวจีนเคยถูกค่อนขอดว่า ขาดมารยาทสากล ไร้วินัย แต่เมื่อเวลาผ่านไป การสนทนาในหลายฟอรั่มเริ่มเจือพื้นที่ให้กับความแปลกใหม่ด้านศิลปวัฒนธรรม บางรายชื่นชมความแกร่งทางสังคมโดยยกความสำเร็จของลูกหลานจีนในการรักษาธรรมเนียมปฏิบัติ ความชื่นชมอีกส่วนมุ่งมาทางสาระปรัชญา มีการแบ่งปันคำคมจีนเสมอเพราะดูเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก หลายอย่างเป็นคำคมที่หาได้จากในนวนิยายหรือซีรีส์ เช่น ชนะใจคนผู้หนึ่งอาจใช้เวลาครึ่งปี แต่ทำลายน้ำใจคนผู้หนึ่งใช้เพียงครึ่งประโยคเท่านั้น หรือ ใช้จิตใจที่ชอบตำหนิผู้อื่นมาตำหนิตัวเอง ใช้จิตใจที่ชอบอภัยตัวเองไปให้อภัยผู้อื่น เป็นต้น



เหนืออื่นใดการเผยแพร่ข่าวสารด้านลบเกี่ยวกับจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือแทบจะไม่ส่งผลต่อการกระจายความกลัวจีนอย่างที่แล้วมา ข้อค้นพบนี้มาจากการเปรียบเทียบความเป็นไปในโลกโซเชียลมีเดียช่วงก่อนและหลังปี พ.ศ. 2562 ข่าวคนจีนก่อความเดือดร้อนเคยเป็นกระทู้ที่หาได้บ่อยในหลายเว็บไซต์ เช่น การใช้ห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะที่วัดร่องขุ่น ทัวร์จีนแย่งตักอาหารบุฟเฟต์กุ้งจนไม่เหลือให้ผู้มาทีหลัง ฯลฯ แต่ข่าวลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นนิยมอีกต่อไป หรือไม่ก็ขาดการตอกย้ำ สิ่งที่เพิ่มเข้ามาเป็นเรื่องราวการพัฒนาของจีนอย่างการขจัดความยากจน การสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ การต่อยอดเทคโนโลยีพลังงาน ฯลฯ ความต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนก็สามารถพบเห็นได้ทั้งในกลุ่มผู้บริโภคซีรีส์และกลุ่มประชากรทั่วไป เยาวชนรุ่นใหม่ตามติดข่าวสารบันเทิงจีนบ่อยครั้ง เลือกคบค้าสมาคมกับเพื่อนชาวจีนโดยไม่ถืออคติ ผู้คนจำนวนไม่น้อยพยายามเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับจีนมากกว่าจะหาข้อด้อยมาติฉินนินทา และความพยายามเผยแพร่ความรู้ด้านจีนก็ได้รับการตอบสนองตามอัตราความต้องการของคนรุ่นใหม่ อย่างเพจอ้ายจงมีผู้ติดตาม 266,981 คน

China Xinhua News มีผู้ติดตาม 91,966,810 คน ตัวเลขทั้งสองมาจากยอดในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กรณีของ China Xinhua News อาจรวมผู้ติดตามในต่างประเทศหรือเป็นบัญชีผู้ใช้งานคนเดียวกัน แต่เปิดมากกว่า 1 บัญชี
คำอธิบายข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สื่อความเกี่ยวกับการลดช่องว่างระหว่างไทย-จีนอย่างต่อเนื่อง อาจมีข้อโต้แย้งว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้สัมพันธ์กับการบริโภคซีรีส์ แต่สามารถเกิดขึ้นเองตามกาลเวลาด้วยจีนเปิดเกมรุกทางความสัมพันธ์หลายช่องทางอยู่แล้ว และซีรีส์เองก็ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านทางความคิดเสมอไป ข้อโต้แย้งนี้มีความเป็นไปได้ แต่ยังไม่มากพอจะปฏิเสธบทบาทของซีรีส์ เพราะถ้าพิจารณาหลักการบางอย่างร่วมด้วย จะพบว่า ซีรีส์จีนมีผลในด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-จีนระดับสูงถึงสูงมาก

เริ่มจากหลักการแรก ทฤษฎีอิทธิพลของภาพยนตร์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สื่อภาพยนตร์ทรงอำนาจในการโน้มน้าวความคิดจิตใจบุคคลด้วยภาพยนตร์ส่งผลทางจิตวิทยา ในทำนองเดียวกันทฤษฎี Cultural Soft Power ยอมรับการเชื่อมสัมพันธ์ด้วยวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมคือสายพานความรู้สึกที่มีประสิทธิภาพ ซีรีส์จีนคือช่องทางสื่อสารวัฒนธรรม ทั้งยังเสนอเรื่องราวน่าติดตาม บ่อยครั้งเสียงสะท้อนเกี่ยวกับซีรีส์จีนเต็มไปด้วยความยินดีเนื่องจากมีแนวงานหลากหลายบวกคุณภาพบทประพันธ์ การแสดง และการผลิต บทสนทนาเกี่ยวกับซีรีส์จีนจึงมักลงเอยด้วยคำแนะนำให้ลองรับชมแบบปากต่อปาก เสียงวิจารณ์อีกส่วนบอกว่า ซีรีส์จีนทำให้ผู้ชมไทยเข้าใจมนุษย์ ทั้งเห็นความงดงามของสังคมคนจีน

ดังนั้นซีรีส์จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนทัศนะและพฤติกรรมอันเกี่ยวข้องกับจีนไม่มากก็น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าซีรีส์นั้นมุ่งสร้างภาพความเป็นจีนในแบบที่น่าสรรเสริญ

หลักการถัดมา แม้ช่องทางสานสัมพันธ์ไทย-จีนปรากฏอย่างดาษดื่น จะสังเกตได้ว่า ทุกช่องทางไม่สามารถกระชับสัมพันธ์ในภาพรวมได้ด้วยจำกัดการเข้าถึงเกินไป หากเป็นการเชื่อมโยงในแบบการค้าการลงทุน กลุ่มเป้าหมายคือนักธุรกิจ หากเป็นการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา กลุ่มเป้าหมายคือนักวิชาการและนักศึกษาบางคน หากเป็นความร่วมมือระดับราชการ กลุ่มเป้าหมายย่อมหนีไม่พ้นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางตรงข้ามซีรีส์เป็นความบันเทิงซึ่งผู้คนเข้าถึงได้กว้าง ยอดตัวเลขที่ยกมาในช่วงก่อนหน้าคือหลักฐานหนึ่ง ยังมีตัวเลขสนับสนุนอื่น ๆ เช่น เรตติ้ง ณ ปัจจุบันของเรื่อง Douluo Continent (2021) ซึ่งคว้าอันดับหนึ่งเทรนด์ไทยพ่วงด้วยเรตติ้งทั่วประเทศสูงถึง 2.0 ขณะที่เรตติ้งในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 2.9 (สุดปัง!!! 'ตำนานจอมยุทธ์ภูตถังซาน' ฉายตอนแรก แฟน 'เซียวจ้าน' ดันกระแสสนั่นโซเชียล, 2565)

ความนิยมส่วนใหญ่มาจากความไว้วางใจมาตรฐานของจีน ทำให้ซีรีส์จีนอยู่ในกลุ่มตัวเลือกแรก ๆ สำหรับผู้ชมไทย ซีรีส์ยอดนิยมจึงเป็นช่องทางสร้างความผูกพันกับผู้ชมอย่างเหนียวแน่น ไม่เหมือนการศึกษา การบริโภคข่าวสาร การทำกิจกรรมระยะสั้น ฯลฯ ด้วยช่องทางเหล่านี้ขาดเรื่องราว ไร้ความสะเทือนอารมณ์ และไม่สามารถปลูกฝังความซาบซึ้งได้เข้มข้นเท่าซีรีส์

สรุป

ความเติบโตของกระแสนิยมซีรีส์จีนในสังคมไทยช่วงปี พ.ศ. 2562-2564 คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงดังสะท้อนในสถิติการชมร่วมกับการแสดงออกของกลุ่มแฟน ๆ เมื่อวิเคราะห์ความเป็นไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า การชมซีรีส์จีนนำไปสู่ความซาบซึ้งตามมาด้วยความประทับใจสังคมวัฒนธรรมจีนโดยรวม


น่าสนใจที่การตอบรับความเป็นจีนในสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงจนน่าจับตา เพราะการวาดภาพจีนในฐานะผู้ควรเฝ้าระวังลดหายไปจากวาทกรรมประจำวัน แต่การเรียนรู้จีนในทางสร้างสรรค์กลับปรากฏบ่อยครั้งขึ้น นี่ต่างจากการตอบรับในช่วงทศวรรษ 2550 ที่เจืออคติเพราะข่าวสารทางการเมืองรวมไปถึงพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของชาวจีนเอง ประกอบกับการตอบรับดังกล่าวเป็นไปด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Force) มากกว่าความชอบ แต่เมื่อกระแสนิยมซีรีส์ก่อเกิด สัญญาณการตอบรับจีนมีลักษณะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก อย่างน้อยกลุ่มคนในการสำรวจมีท่าทีสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับจีนในฐานะชาติที่มีศักยภาพและพร้อมก้าวข้ามข่าวสารด้านลบ จึงกล่าวได้ว่า ซีรีส์จีนช่วยเสริมอำนาจทางวัฒนธรรม (Cultural Force) ซึ่งส่งผลให้บุคคลเปิดใจรับด้วยความรู้สึกยินดี


อย่างไรก็ตาม การวิจัยไม่สามารถระบุได้ว่า การตอบรับเชิงสร้างสรรค์ในสังคมไทยมาจากการชมซีรีส์เป็นหลัก เนื่องจากช่องทางสานสัมพันธ์ไทย-จีนมีอย่างมากมาย แต่ละช่องทางส่งผลต่อความรู้สึกผู้คนแตกต่างกันจนยากจะระบุสัดส่วน กระนั้นการวิจัยยืนยันได้ว่า ปรากฏการณ์สองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน หนึ่งคือความนิยมซีรีส์สัญชาติจีน สองคือแนวทางที่สังคมไทยหลายส่วนเริ่มมองจีนในทางบวก เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ซีรีส์จีนทำให้เกิดความรู้สึกฉันมิตรในกลุ่มผู้ชมรวมไปถึงสังคมรอบข้างซึ่งได้รับอิทธิพลจากผู้ชม ซีรีส์จีนจึงมีแนวโน้มเป็นเครื่องมือกระชับไมตรีชิ้นสำคัญ ทั้งยังอาจแทนที่ความระแวงในหมู่คนไทยด้วยความแน่นแฟ้นตามอย่างซีรีส์เกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น

บทสรุปข้างต้นเป็นไปตามหลักอุปนัยเพราะอาศัยหลักฐานบางส่วน แต่หากใช้หลักนิรนัยโดยอ้างอิงทฤษฎีอิทธิพลของภาพยนตร์และ Cultural Soft Power ข้อสรุปนี้จะมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะทฤษฎีแรกยืนยันว่า ภาพยนตร์คือเครื่องมือโน้มน้าวสังคม ชาติมหาอำนาจจึงเลือกส่งออกภาพยนตร์เพื่อสร้างแนวร่วมทางความคิด ทฤษฎีหลังอธิบายเรื่องการส่งออกวัฒนธรรมเพื่อเสริมความเข้าใจระหว่างกัน ทันทีที่ผู้ส่งออกสามารถสื่อสารวัฒนธรรมได้ชัดเจนและสวยงาม การเปิดกว้างทางวัฒนธรรมในกลุ่มเป้าหมายจะเป็นไปอย่างราบรื่น บทบาทของซีรีส์จีนในการสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมพร้อมกับป้อนทัศนะเชิงบวกตามหลักทฤษฎีอิทธิพลของภาพยนตร์และ Cultural Soft Power จึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่มันคือการร่วมละลายกำแพงความชังระหว่างไทย-จีนโดยเฉพาะในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 ซึ่งหลายฝ่ายพยายามใส่ความจีนเรื่องการเป็นต้นตอของวิกฤตโควิด-19 ในทางตรงข้ามซีรีส์ช่วยสร้างภาพจำใหม่ ๆ ผ่านองค์ประกอบอย่างความงามทางวัฒนธรรม บทประพันธ์ และความน่าหลงใหลของตัวละคร ภาพจำดังกล่าวทำให้เกิดภูมิคุ้มกันปฏิบัติการข่าวสารโจมตีและสร้างความยินดีที่จะเปิดทางให้แก่ความเชื่อมโยงไทย-จีนในมิติอื่น เมื่อรวมกับความร่วมมือ เช่น การศึกษา ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การค้า ฯลฯ ความสัมพันธ์ไทย-จีนจึงฝ่ากระแสต่อต้านได้สำเร็จ

สิ่งนี้ไม่ใคร่เกิดขึ้นยามที่จีนตั้งเป้าการสื่อสารวัฒนธรรมผ่านขนบธรรมเนียมชั้นสูงอย่างศิลปะ การแสดง การคัดลายมือ การท่องบทกลอน ฯลฯ อาจเพราะธรรมเนียมชั้นสูงเข้าถึงประชากรเฉพาะกลุ่ม แต่ความบันเทิงสายภาพยนตร์ได้รับความสนใจแพร่หลายกว่า เพราะฉะนั้นภาพเคลื่อนไหวทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ สารคดี แอนิเมชัน ภาพยนตร์เรื่องยาว ฯลฯ ควรถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ทรัพยากรยุทธศาสตร์ ด้วยสื่อกลุ่มนี้ทรงศักยภาพในการรักษาความรู้สึกภาคประชาชน

ผลวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปประกอบความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทยจีนในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านพร้อมกับใช้สนับสนุนประเด็นอำนาจของสื่อบันเทิงกลุ่มภาพยนตร์ในการโน้มน้าวสังคม กระนั้นควรมีการศึกษาต่อยอดเพื่อไขความอย่างละเอียดว่า ทำไมซีรีส์จีนจึงก่อผลดังกล่าวทั้งที่คู่แข่งอย่างซีรีส์เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยังคงครองตลาดอยู่ มีความพิเศษอะไรซ่อนอยู่ในเนื้อหาซีรีส์ของจีน เป็นต้น ข้อค้นพบจะไม่เพียงเติมเต็มความเข้าใจพลังของซีรีส์ แต่ยังเป็นบทเรียนชั้นดีในการรังสรรค์งานเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน