จุฬาฯ ตั้งเป้า Carbon Neutrality 2040 พัฒนาสู่ "ความยั่งยืน" ทุกมิติ

จุฬาฯ ตั้งเป้า Carbon Neutrality 2040 พัฒนาสู่ "ความยั่งยืน" ทุกมิติ

ปัญหา "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ที่ส่งผลกระทบต่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ในทุกมิติ จุฬาฯ ในฐานะภาคการศึกษา มุ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน ตั้งเป้า Carbon Neutrality ปี 2040 และ Net zero ในปี 2050

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และการจะแก้ปัญหาโลกร้อน ลด ก๊าซเรือนกระจก ได้ ไม่ใช่เพียงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะรับผิดชอบ แต่ทุกหน่วยงาน รวมถึงภาคการศึกษาต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะต้นเหตุของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์

 

“Chula Sustainability Fest 2022” กิจกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ผ่านงานเสวนา Workshop นิทรรศการให้ความรู้ ศิลปะบำบัด ดนตรีในสวน ตลาดนัดสีเขียว Greenery Market และ Chula SDGs Market การฉายหนังกลางแปลง ฯลฯ

 

"ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์" อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า จุฬาฯ เป็นส่วนหนึ่งของประเทศซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน

 

“จุฬาฯ ขอร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการตั้งเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของมหาวิทยาลัยภายในปี ค.ศ.2040 และปล่อย คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2050 โดยดำเนินการผ่านนโยบายการบริหารจัดการด้านการวิจัยและนวัตกรรม การเรียนการสอน ตลอดจนการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งมุ่งหวังให้ประชาคมจุฬาฯ ร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในฐานะพลเมืองโลก” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

รถป๊อปจุฬาฯ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานการจัดงาน Chula Sustainability Fest 2022 กล่าวว่า สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ ซึ่งทุกคนล้วนได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดี และสิ่งแวดล้อมให้ลูกหลานในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม โลกจะมีอนาคต เมื่อปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผู้คน และสรรพสิ่งอยู่ร่วมกันแบบสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้นำรถบัสไฟฟ้า NEX (Golden Dragon) XML6805JEV ซึ่งเป็นรถ EV Bus สีชมพู มาวิ่งให้บริการเต็มรูปแบบเป็นวันแรก โดยรถ EV Bus ถือเป็น “รถป๊อปจุฬาฯ” โฉมใหม่ ที่นำมาให้บริการแทนที่รถแก๊สสีขาว Kinglong XMQ6106CNG ซึ่งหมดหน้าที่ในการวิ่งรับ-ส่งภายในรั้ว จุฬาฯ

 

ตัว รถป๊อปจุฬา โฉมใหม่เป็นรถบัสพลังงานไฟฟ้าที่ต่อขึ้นใหม่ มีขนาดความยาว 8 เมตร ที่บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานจ้างเดินรถภายในจุฬาฯ ได้นำมาให้บริการสำหรับนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรของจุฬาฯ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ได้รับสัมปทานจนถึงปี 2568

 

สำหรับเส้นทางเดินรถในจุฬาฯ ที่รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าจะวิ่งให้บริการ มีทั้งหมด 5 เส้นทาง ได้แก่ สาย 1 วงกลมศาลาพระเกี้ยวไป BTS สยาม สาย 2 วงกลมศาลาพระเกี้ยว ไป BTS สนามกีฬาแห่งชาติ สาย 3 วงกลมศาลาพระเกี้ยว ไปคณะแพทยศาสตร์ มาบุญครอง สาย 4 วงกลมศาลาพระเกี้ยว ไปสามย่านมิตรทาวน์ และสาย 5 วงกลมศาลาพระเกี้ยว ไประเบียงจามจุรี

โดยเริ่มเดินรถตั้งแต่ 06.30 น. และจะเพิ่มรอบวิ่งถี่ขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วนรวมทั้งจำนวนรถที่มากขึ้น คาดว่าน่าจะเพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งหลังออกมาให้บริการก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้โดยสาร โดยเฉพาะนิสิตเพราะสีชมพูสดใสซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็น รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ที่ไม่สร้างมลพิษและ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ดึงเอกชนร่วมตั้ง CCUS Consortium

 

อนึ่งก่อนหน้านี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์ BCGeTEC ภาควิชาวิศวกรรมเคมีได้ร่วมมือกับผู้ผลิต และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สร้าง CO2 จัดตั้ง CCUS Technology Development Consortium (CCUS Consortium)ขึ้นโดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน รวบรวมข้อมูลตลอดจนร่วมวางแผน และพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ให้กับประเทศไทย

 

โดยมีหน่วยงานเอกชนระดับแนวหน้าของประเทศ 5 กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม 8 บริษัท เข้าเป็นสมาชิกร่วมจัดตั้งศึกษาแนวทางการพัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับ และใช้ประโยชน์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และจุฬาฯ จะเริ่มต้นโครงการการสาธิตเทคโนโลยีการดักจับ และการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ผ่านความร่วมมือกับสมาชิกในลำดับต่อไป

 

“Zero Waste Cup”ไร้ถุงพลาสติก

 

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รณรงค์การใช้แก้วกระดาษที่สามารถย่อยสลายได้ 100% หรือ Zero Waste Cup ภายในมหาวิทยาลัยเมื่อต้นเดือนส.ค. 2561 ทดแทนการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไปได้แล้วมากกว่า 95%ใน 11 โรงอาหาร จากทั้งหมด 17 โรงอาหารทั่วมหาวิทยาลัย และตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2562 ทุกโรงอาหาร ร้านกาแฟ ศูนย์หนังสือ ตลาดนัด ร้านสะดวกซื้อ และร้านสหกรณ์ต่างๆ ในเขตพื้นที่การศึกษา จะต้องใช้เพียงแก้วที่ล้างได้ หรือแก้วที่สามารถย่อยสลายได้ 100% เท่านั้นจำหน่ายเฉพาะถุงที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% หรือถุงที่สามารถย่อยสลายได้ 100%

 

DROP POINT รับขยะรีไซเคิลที่บล็อก 28

 

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ร่วมกับ RECYCLE DAY THAILANDเปิดจุดให้บริการ DROP POINT รีไซเคิลเดย์จุดบริการรับขยะรีไซเคิล ที่บล็อก 28 ใกล้ตลาดสามย่านสนับสนุนการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อการจัดทางปลายทางอย่างถูกวิธี โดยใช้บริการจุดรับขยะด้วยตนเอง หรือนัดหมายรับ-ส่งขยะรีไซเคิล (ขั้นต่ำ 30 กิโลกรัม ในระยะทาง 5 กิโลเมตร จากบล็อก 28) ดูรายละเอียดได้ที่ www.recycledaythailand.com โทร.09-5090-8899 (Admin & Operation) หรือ 09-5971-0727 (Drop Point : Block 28)

 

รีไซเคิลมือถือ-แท็บเล็ตให้ถูกวิธี

 

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสาร และของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินโครงการจุฬาฯ รักษ์โลก โดยร่วมกับบริษัท Total Environmental Solutions จำกัด เปิดรับบริจาคโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริมเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีโดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชน และหน่วยงานที่สนใจ ส่งต่อให้บริษัทรับกำจัด และดำเนินการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกวิธีโดยการบริจาคโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต 1 เครื่อง จะเปลี่ยนเป็นเงิน 10 บาท บริจาคเข้ากองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสนับสนุน การวิจัยด้านการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน

 

ตู้ Refun เปลี่ยนขยะเป็นเงิน

 

แนวคิดของ "อนน เชาวกุล" นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน Startup ที่มีจุดเด่นในการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยจัดการขยะรีไซเคิลเพียงนำขยะรีไซเคิล (ในระยะแรกเป็นขวดพลาสติกเท่านั้น) หยอดลงไปในตู้ เครื่องก็จะคำนวณมูลค่าพร้อมพิมพ์คูปองออกมาซึ่งสามารถใช้แทนเงินสดหรือใช้ได้ตามเงื่อนไขตามที่แต่ละองค์กรต้องการ ล่าสุดได้มีการนำตู้ Refun มาตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอนาคตจะสามารถนำไปแลกซื้อสินค้าที่ร้านสหกรณ์จุฬาฯ ได้ปัจจุบันได้มีการนำตู้ Refun ไปตั้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่าย

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์