อากาศรุนแรงสุดขั้วภัยใกล้ตัวมนุษยชาติ

อากาศรุนแรงสุดขั้วภัยใกล้ตัวมนุษยชาติ

ขณะที่กรุงเทพฯเจอน้อง“ฝน”มาตามนัดทุกเย็นตอนเลิกงาน หลายประเทศในภูมิภาคอื่นของโลกก็เจออากาศรุนแรงสุดขั้ว ที่ถือเป็นหายนะภัยทางธรรมชาติ เพราะผลพวงจากปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

ที่ใกล้ตัวหน่อยคือกรณีน้ำท่วมหนักในปากีสถาน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน  บ้านเรือนเกือบ1 ล้านหลังได้รับความเสียหาย ชาวปากีสถานกว่า 33 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน15% จากประชากรทั้งหมด 220 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ที่ส่งผลให้ท้องถนน พื้นที่เกษตร โครงสร้างพื้นฐานและสะพานหลายแห่งเสียหายอย่างหนัก

รัฐบาลปากีสถาน ระบุว่า มูลค่าความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ทั่วประเทศที่เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.อาจสูงกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากทั่วโลก รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)

“อาห์ซาน อิกบาล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการวางแผนของปากีสถาน บอกว่า ผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ ส่งผลให้ท้องถนน พื้นที่เกษตร โครงสร้างพื้นฐานและสะพานหลายแห่งเสียหายหนัก ปากีสถานอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5 ปี ในการสร้างเมืองใหม่และฟื้นฟูประเทศ 

ส่วนประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหารฉับพลันจากเหตุน้ำท่วมที่ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศให้อุทกภัยในปากีสถานเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้

ไอเอ็มเอฟ อนุมัติโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ปากีสถานเป็นเงิน 1,170 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังเผชิญวิกฤตน้ำท่วมหนัก รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ถือเป็นโครงการความช่วยเหลือทางการเงินของปากีสถานครั้งที่ 7 และ 8 และไอเอ็มเอฟยังตกลงที่จะขยายโครงการให้ความช่วยเหลือปากีสถานออกไปอีกหนึ่งปี และเพิ่มสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) อีก 1,000 ล้านดอลลาร์ด้วยความหวังว่าเงินนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ปากีสถานได้

น้ำท่วมหนักครั้งนี้ทำให้ชาวปากีสถานจำนวนมากต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องกางเต็นท์เป็นที่พักชั่วคราวและที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งน้ำที่ไหลท่วมเป็นน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากภูเขา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแคว้นบาลูจิสถานและสินธ์ โดยปริมาณฝนที่ตก คิดเป็นสัดส่วน 466%  ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยของฝนที่ตกเป็นเวลา 30 ปี

ส่วนจีนก็เจอปัญหาคลื่นความร้อนเช่นกัน ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งประเทศ แม้แต่ที่ราบสูงอย่างทิเบต ที่อากาศหนาวเย็นตลอดก็ไม่รอด และคาดว่าอากาศในหลายพื้นที่ของจีนจะยังคงร้อนระอุต่อเนื่องไปอีกหลายวัน

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือแม่น้ำแยงซีที่ไหลยาวตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงมณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มากกว่า 370 ล้านคน และเป็นพื้นที่สำคัญทางการเกษตรและมีนิคมอุตสาหกรรมสำคัญตั้งอยู่หลายแห่ง

สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ของทางการจีน รายงานว่าแม่น้ำ 66 สายใน 34 เขตทางตะวันตกเฉียงใต้ของฉงชิ่ง น้ำแห้งเหือด ปีนี้ฝนในฉงชิ่งตกน้อยลงกว่าปกติ 60% พื้นดินในหลายเขตขาดความชื้นอย่างรุนแรง

ขณะที่ไกลออกไปอีกซีกโลกคือฟากฝั่งยุโรปก็เผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปี โดยองค์กรเฝ้าสังเกตการณ์ภัยแล้งของยุโรป(อีดีโอ) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ล่าสุด เมื่อเดือนส.ค. ว่า พื้นที่ 47% ของทวีปยุโรป มีสัญญานบ่งบอกว่าขาดความชื้นในดินขั้นรุนแรง และ 17 ประเทศ กำลังเผชิญภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤต ผลผลิตทางการเกษตรในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ เช่น ข้าวโพดลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 16% เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน  ขณะที่ผลผลิตถั่วเหลือง และเมล็ดทานตะวัน ลดลง 15% และ 12 % ตามลำดับ

สมาคมเกษตรกรของเยอรมนี เปิดเผยว่า ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ อาจลดลง 30 -40% หากสถานการณ์ภัยแล้งยังคงยืดเยื้อ ขณะที่สมาคมเกษตรกรขนาดกลางและขนาดย่อมของอิตาลี บอกว่า จากภาวะแม่น้ำโป ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักแห้งขอด และมีระดับน้ำต่ำสุดในรอบ 70 ปี ส่งผลให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดลงถึง 30%

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในยุโรป ผลิตไฟฟ้าลดลง 20% เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ก็ผลิตพลังงานลดลง 12%

นอกจากนั้น การเกิดไฟป่าในยุโรป ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น โดยจากตัวเลขการเกิดไฟป่าของเดือนม.ค. -กลางเดือนส.ค. มีพื้นที่ป่าในยุโรปถูกเผาผลาญไปกว่า 4,620,000 ไร่ ซึ่งถือเป็นไฟป่ารุนแรงที่สุดในรอบ 16 ปี