“ค่า Ft” คืออะไร มีผลอย่างไร? กับราคาไฟฟ้าประชาชน

“ค่า Ft” คืออะไร มีผลอย่างไร? กับราคาไฟฟ้าประชาชน

ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา “กกพ.” มีมติปรับค่า “Ft” หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร ด้วยปัจจัยโควิด-19 เศรษฐกิจฟื้น เงินเฟื้อ ราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ค่า Ft ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้คิดคำนวณตามสูตรเพื่อเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งประกอบไปด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ภาษีมูลค่าเพิ่ม)

โดยค่าไฟฟ้าฐาน เป็นค่าไฟฟ้าที่สะท้อนรายจ่ายของ 3 การไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ใน 3 ส่วนหลักๆ คือ ต้นทุนทางการเงินที่การไฟฟ้าใช้ในการก่อสร้างขยายระบบผลิต ระบบส่งและระบบจำหน่ายในอนาคต

ค่า Ft ถือเป็นกลไกกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ที่ปรับทุก 4 เดือน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาค่าเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ  

สำหรับประโยชน์ของค่า Ft คือ หากในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าได้คาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงไว้สูง แต่ 4 เดือนต่อมาราคาค่าเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง หากไม่มีค่า Ft มาสะท้อนต้นทุนที่ลดลงนั้น ประชาชนก็อาจเสียประโยชน์เพราะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง

แต่ในทางกลับกัน หากคาดการณ์ค่าเชื้อเพลิงไว้ต่ำเกินไป และต่อมาราคาค่าเชื้อเพลิงปรับขึ้น หากไม่มีค่า Ft มาช่วย ก็อาจกระทบต่อรายได้ของการไฟฟ้าและการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในอนาคตและความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศ

ดังนั้น ค่า Ft จึงเป็นตัวสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกลไกที่สร้างความเป็นธรรมให้ทั้ง 2 ฝ่าย 

อย่างที่ทราบกันว่า เชื้อเพลิงเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น การปรับขึ้น-ลงของค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น การนำปัจจัยค่าเชื้อเพลิงมาคำนวณผ่านกลไกสูตร Ft ทุกๆ รอบ 4 เดือน จึงทำให้เกิดความคล่องตัวในการปรับราคาค่าไฟฟ้า เป็นการสะท้อนต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยสะท้อนราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรมทั้งสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ กกพ.ได้ปรับขึ้นค่า Ft ครั้งแรกในรอบ 2 ปี คือเดือนม.ค.-เม.ย.2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.63 จากงวดปัจจุบัน จากปัจจัยปัญหาโควิด-19 และความต้องการใช้พลังงานสูงและปริมาณการนำเข้าก๊าซในปริมาณมากและราคาสูงตามกลไกตลาดโลก รวมถึงปัญหาทางการเมืองรัสเซีย-ยูเครน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า มติ กกพ. เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ได้ปรับเพิ่มค่าFt เดือนพ.ค.- ส.ค. 2565 ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ ปัจจัยมาจากข้อเสนอของ กฟผ. ประกอบด้วย

1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้า ช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 ที่ราว 68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2565 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,325 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.21%

2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 55.11% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟที เดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.– เม.ย. 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ม.ค.– เม.ย. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่

4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1 – 31 ม.ค. 2565) เท่ากับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าเล็กน้อยจากประมาณการในงวดเดือนม.ค. – เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ หากประเทศไทยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติลงได้มากเท่าไหร่ ค่า Ft ก็จะลดลงมากขึ้นเท่านั้น โดยอนาคต ประเทศไทยได้วางเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งช่วยในเรื่องของพลังงานสีเขียวแล้วยังช่วยในเรื่องต้นทุนที่ถูกลง หวังเป็นอีกปัจจัยลดภาระค่าไฟประเทศชาติและประชาชน