ส.อ.ท. วอนรัฐเร่งเจรจากัมพูชา หวั่นคุมเข้มชายแดนฉุดการค้าวันละ 500 ล้าน

ส.อ.ท. เผยมาตรการคุมเข้มชายแดน "ไทย-กัมพูชา" แม้สถานการณ์คลี่คลาย กระทบการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คาดเสียหายถึง 500 ล้านบาทต่อวัน วอนเร่งเจรจา หวังสถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็ว
แม้สถานการณ์ชายแดน "ไทย-กัมพูชา" จะดูเหมือนเริ่มคลี่คลาย แต่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา กองทัพบกยังคงดำเนินมาตรการปรับเวลาเปิด-ปิด และกำหนดเงื่อนไขการเข้า-ออกจุดผ่านแดนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
จากการเลื่อนเวลาเปิดปิดด่านชายแดน “เปิดช้า-ปิดเร็ว” คุมเข้มคนเข้าออก โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกลุ่มคนไปบ่อน-ทำเรื่องผิดกฎหมาย ให้มีผลทันที
สำหรับมาตรการเหล่านี้ได้รับการกำกับดูแลโดยกองทัพภาคที่ 1, กองทัพภาคที่ 2 และกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ซึ่งได้มอบอำนาจให้ผู้บังคับหมวดทหารในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ซึ่งเน้นความยืดหยุ่นและเป็นไปตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
- จำกัดการผ่านแดน เฉพาะผู้ที่มีเหตุจำเป็น เช่น การค้าขาย การขนส่งสินค้า และแรงงาน พร้อมเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง
- ปรับลดช่วงเวลา ในการเปิด-ปิดจุดผ่านแดน เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหว
- ปิดจุดผ่านแดนบางจุด ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีข้อมูลด้านความมั่นคง
- ปิดจุดผ่านแดนตลอดแนวชายแดน ในกรณีที่เกิดสถานการณ์วิกฤติหรือการรุกรานอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ประชุมวันที่ 14 มิ.ย. 2568 นี้ ขณะที่ทางกัมพูชายังคงยืนยันจะแก้ปัญหาเขตแดนด้วยกลไกของศาลโลก
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การปิด-เปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา ตามเวลาที่กำหนดโดยกองทัพบกนั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการขนส่งสินค้าและการค้าชายแดนโดยรวม
นายเกรียงไกร ยอมรับว่า สมาชิกของ ส.อ.ท. เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว แม้จะยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้อย่างชัดเจนในขณะนี้ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างรอสรุปตัวเลขที่แน่นอน แต่หากพิจารณาจากมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 1.7 แสนล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะด่านอรัญประเทศที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดถึง 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 64% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด ดังนั้น การหยุดชะงักของการค้าจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล
"เวลานี้ยังประเมินไม่ได้ว่ากระทบเท่าไหร่ แต่หากคำนวณด้วยวิธีการหารจากยอดส่งออกทั้งหมดต่อวัน ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อวัน อย่างไรก็ตาม ยอดการค้ามูลค่า 500 ล้านบาทต่อวันดังกล่าว อาจไม่ได้ถูกกระทบไปทั้งหมด แต่มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น
"วิกฤติชั่วคราว" หวังสถานการณ์คลี่คลาย
นายเกรียงไกร กล่าวว่า แม้ว่ามาตรฐานเปิด-ปิดด่านเป็นเวลาจะเกิดผลกระทบต่อการค้าชายแดน แต่ ส.อ.ท. ยังคงหวังว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ยืดเยื้อ เพราะยิ่งนานเท่าไหร่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
"การที่มีมาตรการไม่ปกติ ย่อมทำให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เข้าใจได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปเพื่อนำไปสู่การเจรจาหาข้อสรุปอย่างสันติวิธี"
ทั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่า เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างกัน ก็จะทำให้ทั้งไทยและกัมพูชาได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบด้านดุลการค้าจากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเครื่อง เครื่องยนต์ และเครื่องจักร ซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังเชื่อว่า ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องการให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การปิดด่านชั่วคราวก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดการเจรจาบนโต๊ะเพื่อความเป็นธรรมของทั้ง 2 ฝ่าย
ไร้มาตรการรองรับ เน้นเจรจาเพื่อสันติ
สำหรับการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบนั้น นายเกรียงไกร กล่าวว่า เอกชนยังยังไม่มีมาตรการในขณะนี้ เพราะเท่าที่ทราบดูเหมือนสถานการณ์จะดีขึ้นมา ต้องก็รอผลการเจรจาก่อน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มองว่าการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่ดี และถือว่าโชคดีที่ไม่เกิดการสู้รบ หรือเกิดสงคราม
"จากการผ่อนคลายของการถอยไปยังจุดเดิม ทำให้เอกชนก็โล่งใจลงไปบ้าง ที่สถานการณ์ไม่บานปลายไปสู่ความรุนแรง โดยมองว่าเป็นการ "ถอดสลัก" หรือ "ถอดชนวน" ได้ทันเวลาของทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะเกิดการปะทะ เพราะการเกิดสงครามย่อมสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อทั้งสองประเทศ ไม่เพียงแต่กระทบต่อการดำรงชีวิต แต่ยังรวมถึงการค้าขาย ซึ่งไม่เป็นผลดีกับใครเลย"
ทั้งนี้ ส.อ.ท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเจรจาจะนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน และทำให้ด่านชายแดนต่าง ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝั่งไม่ได้รับผลกระทบ และการค้าขายสามารถสร้างมูลค้าให้กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศไทย
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา โดยปี 2567 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 174,530 - 175,530 ล้านบาท โดยด่านอรัญประเทศ (สระแก้ว) มีมูลค่าการค้าสูงสุดที่ 110,718 ล้านบาท หรือคิดเป็น 63.4% ของทั้งหมด
ส่วน 4 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-เม.ย. 68) มีมูลค่าการค้าชายแดนรวมอยู่ที่ 344,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% ซึ่งเฉพาะเดือนเมษายน 2568 เดือนเดียว มีมูลค่าการค้ารวม 15,800 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าที่ไทยได้รับ (เกินดุล) ปี 2567 ไทยเกินดุลการค้า 109,163 ล้านบาท ส่วนปี 2568 (จากข้อมูลบางส่วน) เดือนเมษายน 2568 ไทยได้ดุลการค้า 8,490 ล้านบาท 4 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-เม.ย. 68) ไทยเกินดุล 89,300 ล้านบาท
สำหรับปี 2568 (ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิ.ย. 68) ไทยได้ดุลการค้า 35,838 ล้านบาท (มูลค่าการส่งออก 50,225 ล้านบาท และการนำเข้า 14,387 ล้านบาท)