ทอท.จ่อ PPP 'คลังสินค้าสุวรรณภูมิ' 1.5 หมื่นล้าน คาดลงนาม มี.ค.นี้

ทอท.เตรียมเปิดพีพีพี ดึงเอกชนร่วมทุน "คลังสินค้าสุวรรณภูมิ" มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หลัง ครม.อนุมัติเดินหน้าโครงการ คาดคัดเลือกแล้วเสร็จพร้อมลงนามภายใน มี.ค.นี้ พร้อมผลักดันเอกชนลงทุนระบบ AI หวังบริหารขีดความสามารถเพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (10 มิ.ย.68) ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ในโครงการให้บริการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 เพื่อทดแทนเอกชนสัญญาเดิมที่กำลังจะครบกำหนดสัญญาในเดือนต.ค.2569
อย่างไรก็ดี หลังจาก ครม.มีมติอนุมัติแล้ว ทอท.จะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนพีพีพี ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หลังจากนั้นกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 5 - 6 เดือนนับจากนี้ ได้ตัวเอกชนคู่สัญญาเสนอ ครม. หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาในราวเดือน ก.พ. - มี.ค.2569
นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.จะเร่งดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้ เนื่องจากบริการคลังสินค้าถือเป็นส่วนสำคัญที่ต้องรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าที่กำลังขยายตัวอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่ง ทอท.ประเมินว่ากรอบการดำเนินงานนั้นจะแล้วเสร็จทันต่อการบริหารงานในสัญญาเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดลง
“หากได้เอกชนรายใหม่ เมื่อประมูลแล้วเสร็จเอกชนก็จะมีเวลาในการเตรียมพร้อมประมาณ 6 เดือน เพื่อเริ่มดำเนินการต่อจากเอกชนรายเดิม แต่หากประมูลแล้วเอกชนรายเดิมเป็นผู้ชนะ ก็จะสามารถบริหารงานต่อได้ทันที โดย ทอท.ยังคาดหวังว่าสัญญาใหม่นี้ จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยี ระบบ AI เข้ามาบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับสินค้ามากขึ้นเป็นเท่าตัว”
ทั้งนี้ ปัจจุบันคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีขีดความสามารถรองรับสินค้าอยู่ที่ 2.2 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะส่วนของผู้ประกอบการรายที่ 2 มีขีดความสามารถรองรับอยู่ที่ 5 แสนตันต่อปี ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายที่ 2 นำระบบ AI เข้ามาบริหารจัดการคลังสินค้า ก็จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถเป็นเท่าตัว หรือราว 1 ล้านตันต่อปี และทำให้ขีดความสามารถคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเป็น 2.7 ล้านตัวต่อปี
สำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนให้บริการคลังสินค้า ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของผู้ประกอบการรายที่ 2 ก่อนหน้านี้ ทอท.ศึกษารูปแบบ PPP Net Cost โดยมีมูลค่าของโครงการรวม 15,253 ล้านบาท ซึ่งจะคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุนทดแทนผู้ประกอบการรายเดิม คือ บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด ซึ่งอายุสัญญาจะสิ้นสุดในเดือนต.ค.2569
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์