ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ รองรับระดมทุนทางอิเล็กทรอนิกส์

ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ รองรับหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์รับสินทรัพย์ทุกประเภทผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล สร้าง Ecosystem การลงทุนอนาคต
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ประชุมครม.) วันนี้ (10 มิ.ย.) เห็นชอบเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์) และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยถือเป็นการวางรากฐานให้ตลาดทุนไทยเข้าสู่ยุคดิจิตอลได้เต็มรูปแบบ และเพื่อให้การซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น ตลาสารทุน หน่วยลงทุน ตราสารหนี้ ได้ง่ายขึ้น และทำให้ผู้ซื้อรายย่อยสามารถเข้ามาลงทุนและเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น โดยสามารถที่จะคุ้มครองนักลงทุนได้เป็นอย่างดี
"กำหนดการซื้อขยหลักทรัพย์ตั้งแต่ต้นจนจบเป็นอิเล็กทรอนิกส์ 100% เช่น การบันทึกข้อมูล การโอน การค้ำประกัน เป็นต้น แตกต่างจากสคริปเลทซึ่งเป็นระบบไร้ใบหุ้นหรือระบบที่บันทึกหลักทรัพย์โดยไม่ต้องใช้ใบหุ้นจริงโดยพยายามเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ ผู้ที่ประสงค์จะขอใบจริงเป็นกระดาษสามารถขอได้ แต่ระบบใหม่นี้สามารถขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และเป็นต้นฉบับได้เลย ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไปจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปโดยหวังว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ทันในปีนี้"
ทั้งนี้หลังร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ ประกาศออกมาเป็นกฎหมาย ประกาศตัวรองของสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) มาเอื้อให้การขอใบหุ้นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้เป็นต้นฉบับได้ด้วย
สำหรับเรื่องการออกพันธบัตรในรูปแบบ G token ที่รัฐบาลเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ สำนักบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง เป็นผู้ออกจำหน่ายเลือกก่อหนี้ในรูปแบบการขาย ซึ่งเป็นรูปแบบของโทเคนไนเซชั่นเข้านิยามหนึ่งของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ในเชิงประโยชน์ในลักษณะของ Tokenization ที่เป็นเป็นประโยชน์สำหรับการหมุนเปลี่ยนมือของผู้ลงทุน สามารถตอบสนองนักลงทุนได้อย่างครบวงจร
ทั้งนี้กระทรวงการคลัง แจ้งว่า ในการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับตลาดทุนนั้น ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ ประกอบด้วย
ร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ร่างพ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ร่างพ.ร.บ.ทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 พ.ศ. ....
โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการรองรับการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการธุรกรรมต่าง ๆ ในตลาดทุน สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแล และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายโดยในส่วนของ ร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นฉบับแรกได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญ รวม 6 ประเด็น ได้แก่
1.เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน
2. แก้ไขเพิ่มเติมการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้มีความสอดคล้องกันและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
3. เพิ่มการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการ การประกอบวิชาชีพ หรือการให้บริการตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.)
4. เพิ่มบทบัญญัติโทษปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
5. เพิ่มมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่
6. เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนในความผิดบางประเภท
ต่อมาในชั้นการตรวจพิจารณาร่างพ.ร.บ.รวม 4 ฉบับดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. มีความประสงค์ให้นำบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามประเด็นการเพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุนตามข้อ 1 แยกมาตราออกมาเป็นร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (หลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์) เพื่อให้ใช้บังคับได้ก่อน
ทั้งนี้เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้ในการออกผลิตภัณฑ์และการทำธุรกรรมในตลาดทุนได้ รวมทั้งจะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจในการดำเนินกิจกรรมในตลาดทุนได้มากยิ่ง