ธุรกิจเพื่อสังคม ในประเทศที่พัฒนาแล้วทำอะไรกัน ไทยใช้ได้ไหม

ธุรกิจเพื่อสังคม ในประเทศที่พัฒนาแล้วทำอะไรกัน ไทยใช้ได้ไหม

ในประเทศพัฒนาแล้วยังคงมีคนยากจนอยู่อีกมาก แต่เป็นความยากจนที่มีรูปแบบและระดับแตกต่างไปจากความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา แล้ว ธุรกิจเพื่อสังคม จะเป็นอย่างไร

ดังนั้น “ธุรกิจเพื่อสังคม” ในประเทศเหล่านี้จึงมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม ถึงแม้ธุรกิจต่อไปนี้จะอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็อาจจะสามารถนำโมเดลทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยได้

BON et Bien (ฝรั่งเศส) เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เกิดมาจากความคิดริเริ่มของ McCain ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ที่มีกลยุทธ์การลงทุนโดยการเชื่อมโยงธุรกิจของบริษัทกับพันธกิจเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อการผลิตในภาคการเกษตร 

McCain พบว่าในประเทศฝรั่งเศสมีผลผลิตมันฝรั่งที่ไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีขนาดหรือรูปร่างไม่เหมาะสมกับเครื่องจักรถึงประมาณร้อยละ 20 ของผลผลิตทั้งหมด และยังมีผลผลิตอีกร้อยละ 6 ที่ต้องทิ้งไว้ใต้ดินเพราะเครื่องจักรปกติไม่สามารถที่จะขุดขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันในฝรั่งเศสตอนเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกมันฝรั่งที่มากที่สุดของประเทศก็ยังประสบกับปัญหาการว่างงาน 

McCain จึงได้ร่วมมือกับองค์กรในฝรั่งเศสตั้งแต่ บริษัทค้าปลีก E. Leclerc บริษัทจัดหางาน Randstad France ธนาคารอาหาร (The Food Banks of France) รวมทั้งสมาคมผู้ปลูกมันฝรั่งของฝรั่งเศส ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคมที่ชื่อ BON et Bien เพื่อจัดการกับมันฝรั่งเหล่านั้น รวมทั้งพืชผลเกษตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น แครอท หอมหัวใหญ่ โดยนำไปทำเป็นซุปจำหน่ายในห้าง E. Leclerc 

นอกจากจะเป็นการจัดการกับสินค้าเกษตรเหลือทิ้งแล้ว ยังสามารถเพิ่มการจ้างงาน ขณะที่กำไรทั้งหมดของ BON et Bien ได้นำไปลงทุนเพื่อผลิตสินค้าอื่นที่มาจากสินค้าเกษตรเหลือทิ้ง และบริษัทนี้สามารถขยายกิจการไปในยุโรป ได้แก่ เบลเยียม กรีซ และโมรอคโค

 

Optique Solidaire (ฝรั่งเศส) ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ภายใต้การดูแลของ L'Occitane ซึ่งเป็นแบรนด์ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อความงามที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส แต่ Optique Solidaire ทำงานภายใต้แนวคิด “มอบแว่นตาให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้พอประมาณ”

โดยขายแว่นตาในราคาเพียง 1 ใน 10 ของราคาขายตามท้องตลาดให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิประโยชน์จากความช่วยเหลือในประกันสุขภาพเสริม (ACS) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในปี 2563

Optique Solidaire ยังให้บริการด้านสายตาที่มีคุณภาพแก่กลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาส เช่น การตรวจคัดกรองสายตา การตรวจตา และการจัดหาแว่นสายตา เนื่องจากชาวฝรั่งเศสหลายล้านคนยังมีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยาก  โดย Optique Solidaire สามารถนำผู้คนเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบสาธารณสุข ทำให้ได้รับการตรวจเจอโรคทางตาต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคต้อกระจก 

นอกจากนี้ โครงการยังรวมกลุ่มธุรกิจและวิชาชีพต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ ช่างแว่นตากว่า 500 คน บริษัทประกันสุขภาพ 13 แห่ง ร้านผลิตแว่นตา 5 แห่ง และจักษุแพทย์ เข้าไว้ด้วยกัน (notretemps, 2012) จนสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในธุรกิจเกี่ยวกับสายตาเองได้ตามแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม 

องค์กรสามารถช่วยแก้ไขช่องว่างที่สำคัญในการดูแลสายตาสำหรับกลุ่มประชากรที่มักถูกละเลย รวมถึงยังช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจของบุคคลจำนวนมากให้มีการมองเห็นที่ดีขึ้น สามารถนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำหรับผู้สูงอายุ โครงการจึงมีส่วนสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนโดยรวมและลดภาระของรัฐสวัสดิการ

 

Human Harbor Corporation (ญี่ปุ่น) เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ในเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น โดย Isao Soejima ซึ่งเคยทำงานในเรือนจำของญี่ปุ่นมาก่อน เขาได้ตั้ง Human Harbor Corporation (HH) ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาอคติในการจ้างงานของชาวญี่ปุ่นมีต่อนักโทษและมุ่งหวังที่จะลดการกระทำความผิดซ้ำ

วัตถุประสงค์หลักของธุรกิจคือ เพื่อสนับสนุนการคืนทรัพยากรมนุษย์กลับคืนสู่สังคม โดยอาศัยการรีไซเคิลทรัพยากร ผ่านการเก็บขยะของเสียทางอุตสาหกรรมแล้วนำกลับมาใช้ใหม่

หรือ “ธุรกิจการบำบัดขั้นกลางสำหรับขยะอุตสาหกรรม” เช่น การกำจัดขยะในสถานที่ก่อสร้าง การจัดซื้อสายไฟและท่อทองแดงที่ไม่ใช้แล้ว และ การช่วยบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น 

บริษัทจะจ้างงานนักโทษที่เพิ่งถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ รวมถึงให้การสนับสนุนด้านการศึกษา ที่พัก และให้การรักษา เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถประกอบอาชีพและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ถึงแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล

แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากชุมชนและบริษัทต่างๆ ผ่านโครงการมากมาย เช่น โครงการ Nippon Foundation Shikiya Project ซึ่งเป็นความร่วมมือของบริษัทต่าง ๆ ในการมอบประสบการณ์การทำงานให้กับผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำและโรงเรียนฝึกอบรมเยาวชนเพื่อป้องกันการกระทำซ้ำซ้อน ซึ่งมีบริษัทอีก 15 แห่งจากจังหวัดฟุกุโอกะและยามากูจิเข้าร่วมในโครงการนี้

Human Harbor Corporation ให้บริการด้านสวัสดิการสังคม โดยเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ถึงแม้การทำเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมากในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และต้องเผชิญกับความท้าทายด้านทัศนคติของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อนักโทษ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง

แต่ด้วยความมุ่งมั่น ทำให้ท้ายที่สุด HH ได้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในเมืองฟุกุโอกะ โอซาก้า และโตเกียว และกลายเป็นบริษัทที่เลี้ยงตัวเองได้ ในปี 2559 โดยมีรายได้ 2.4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทมีพนักงาน 26 คน โดย 9 คนเป็นอดีตนักโทษ

เมื่อสามารถตั้งตัวได้แล้ว พนักงานของ HH บางคนได้ลาออกและแยกตัวออกไปตั้งบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันในเมืองอื่นๆ ของญี่ปุ่น ดังนั้น ความสำเร็จของ HH จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าธุรกิจเพื่อสังคมสามารถเอาชนะอุปสรรคที่กีดกันโอกาสการทำงานของคนบางกลุ่มที่ถูกสังคมปฏิเสธการจ้างงานได้

เมื่ออ่านแล้ว ท่านสนใจทำธุรกิจเพื่อสังคมไหมคะ?

ข้อมูลที่นำเสนอในบทความเป็นส่วนหนึ่งของโครงการออกแบบระบบบริหารแผนงานการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)