ธุรกิจเพื่อสังคม ลมหายใจเพื่อเด็กพิเศษ
คำว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” สำหรับคนทั่วไปและภาคเอกชนมีความหมายที่ค่อนข้างกว้าง โดยทั่วไปหมายถึง ธุรกิจที่มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางต่างๆ และแก้ไขปัญหาในสังคม
เช่น ภาคเอกชนที่มีกิจกรรมในการคืนกำไรสู่สังคมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ปลูกป่า สร้างโรงเรียน
วิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ที่สร้างประโยชน์ให้กับสมาชิกของตนซึ่งเป็นคนในชุมชน หรือองค์กรที่ผลิตสินค้า หรือมีกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ประชาสัมพันธ์ตนเองว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม
มูลนิธิ หรือสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์และมีกิจกรรมเชิงธุรกิจเพื่อหารายได้ไปด้วย ก็เห็นว่าองค์กรของตนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน
สรุปได้ว่าธุรกิจเพื่อสังคมมี 4 กลุ่มย่อย ได้แก่
1.ธุรกิจที่แสวงหากำไรทั่วไป แต่มีข้อบังคับของบริษัทให้คืนกำไรสู่สังคม
2.ธุรกิจที่มีกรรมวิธีการผลิตหรือสินค้าและบริการที่ลดปัญหาของสังคม เช่น ลดปัญหาโลกร้อน (พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก) ลดปัญหามลพิษ ฯลฯ
3.ธุรกิจที่มีเป้าหมายสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กลุ่มคนเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนชายขอบ
4.ธุรกิจที่แสวงหากำไรที่นำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและมีจริยธรรมเพื่อมุ่งลดผลกระทบทางลบและสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคม (ภาพที่ 1)
“วิสาหกิจเพื่อสังคม” อยู่ระหว่างกลางระหว่างองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรกับองค์กรธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร โดยอาศัยการแก้ปัญหาทางสังคมเป็นเป้าหมายการลงทุน
วิสาหกิจเพื่อสังคมมักให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงในโมเดลธุรกิจ และแสวงหารูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ที่เหมาะสมที่สามารถแก้ไขปัญหาสังคม และในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสม
กล่าวได้ว่า วิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นผู้พัฒนาศักยภาพและความสามารถของสังคมให้สามารถคิดและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ โดยเน้นการร่วมมือกับพันธมิตร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและประกอบกิจการจนบรรลุเป้าหมายทางสังคม
วิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายไทยเป็นธุรกิจที่แสวงหากำไรเช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไป แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งกำไรส่วนหนึ่งมีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปให้แก่สังคมหรือกิจกรรมเพื่อสังคม
ลองมาดูตัวอย่างของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ชื่อว่า บริษัท เด็กพิเศษวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มีแบรนด์สินค้าที่ชื่อ AVAUTIS หมายความว่าลมหายใจเพื่อเด็กพิเศษเป็นสินค้าเครื่องสำอางที่มีเด็กพิเศษ (กรณีนี้คือเด็กออทิสติก) ช่วยงานเบาๆ เช่น ติดสติกเกอร์ในโรงงานซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอกะปง จังหวัดพังงา
บริษัท เด็กพิเศษวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เกิดมาจากชมรมผู้ปกครองเด็กออทิสติก ซึ่งรวมตัวกันเพื่อมาพัฒนาทักษะของลูกๆ โดยที่แม่ๆ ทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาฝึกฝนตัวเองให้เป็นครูที่เพิ่มทักษะชีวิตให้เด็กพิเศษ
ซึ่งแต่ละคนจะใช้เวลาต่างกันในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการพูด การติดต่อสื่อสารและการทำงาน บางคนอาจใช้เวลาหลายปีในการที่จะฝึกฝนจนสามารถที่จะมีกิจวัตรประจำวันได้
หลังจากที่ได้ร่วมกันตั้งศูนย์ฝึกทักษะเด็กพิเศษขึ้นมาระยะหนึ่ง บรรดาผู้ปกครองของเด็กพิเศษก็เริ่มมาคิดร่วมกันว่า เมื่อบรรดาผู้ปกครองไม่อยู่แล้วเด็กๆ จะอยู่ได้อย่างไร เด็กๆ ต้องมีที่อยู่ ที่กินและมีอาชีพได้ จึงได้ร่วมกันทดลองผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเด็กพิเศษ
เริ่มต้นจากน้ำยาล้างจาน ซึ่งก็ทำให้พบความจริงอย่างรวดเร็วว่าไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทที่มีการผลิตขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนต่ำมาก ถัดจากนั้นมากลุ่มผู้ปกครองก็ยังไม่ท้อแท้ พยายามผลิตสินค้าจากยางพารา เช่น ตุ๊กตายางพารา หมอนยางพารา แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถแข่งขันได้อีก
จนกระทั่งในที่สุดได้รับความช่วยเหลือจาก ผศ.สุรัติวดี ทั่งมั่ง อาจารย์สาขานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แนะนำให้ทำเครื่องสำอางสมุนไพร ซึ่งสามารถทำให้เข้าสู่ตลาดที่สามารถสร้างความแตกต่างในสินค้าได้ และทำให้พอที่จะเริ่มเลี้ยงตัวเองได้
ปัจจุบัน บริษัทฯ ผลิตเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ครีมบำรุงผิว และเซรั่มจากสมุนไพรของไทย รายได้จากผลิตภัณฑ์นำไปเลี้ยงดูแรงงานเด็กพิเศษและเด็กพิเศษอื่นๆ ซึ่งจะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถ
เช่น ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาและเลี้ยงไก่เพื่อนำมาเป็นอาหาร ในปัจจุบันบริษัทยังคงมีศูนย์ฝึกทักษะเด็กพิเศษและยังยื่นโอกาสไปให้ผู้ปกครองเด็กพิเศษอื่นๆ ด้วย
การดำเนินงานเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม จึงเป็นการช่วยเหลือทั้งครอบครัวตัวเองและเด็กพิเศษอื่นๆ ในสังคมให้เกิดรายได้ การจ้างงานและช่วยเหลือสังคมไปในตัว
เมื่อท่านผู้อ่านได้รู้จักวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว ก็ขอเชิญชวนให้อุดหนุนสินค้าขององค์กรเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน ยังได้สินค้าและความอิ่มเอมใจได้อีกด้วยค่ะ.