หลุดจาก ‘กับดักสายตาสั้น’ | คิดอนาคต

หลายครั้งที่คนเรามักตกอยู่ใน “กับดักสายตาสั้น” โดยไม่ทันรู้ตัว มองเห็นแต่สิ่งที่เป็นกระแสในปัจจุบัน โดยอาจละเลยคลื่นการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่กำลังก่อตัวและพร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต
ในทางอนาคตศาสตร์ กรอบแนวคิด “สามขอบฟ้าอนาคต” (Three Horizons Framework) จะช่วยอธิบายได้ว่าการมองเพียงระยะสั้นอาจทำให้บุคคล องค์กรและสังคม พลาดโอกาสในการลงทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ขอบฟ้าที่หนึ่ง (H1) คือ “สภาวะปัจจุบันที่ทุกสังคมกำลังเผชิญและให้ความสำคัญเป็นหลัก” ไม่ว่าจะเป็น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นเสาหลัก การแก้ปัญหาสังคมที่เห็นได้ชัด การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ หรือการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในระยะสั้น
เทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ในระดับประยุกต์ เทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่เริ่มเป็นกระแส หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ล้วนอยู่ในขอบฟ้าแห่งนี้
การมุ่งเน้นที่ขอบฟ้าที่หนึ่ง เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องของประเทศ แต่หากให้ความสำคัญมากจนเกินไป ก็อาจกลายเป็นความพอใจในปัจจุบันหรือมุ่งแก้ไขปัญหารายวันจนบดบังการมองเห็นอนาคต
ขณะที่ H1 คือปัจจุบันที่ชัดเจน ขอบฟ้าที่สอง (H2) คือ “สะพานเชื่อมระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่” เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และความกล้าในการทดลองแนวคิด นโยบาย หรือต้นแบบของระบบใหม่ การลงทุนในขอบฟ้าที่สอง คือการเปิดพื้นที่ให้เกิดจินตนาการร่วม ขยายทางเลือกใหม่ๆ และลดแรงต้านเมื่อต้องเปลี่ยนผ่านจริง
ส่วน ขอบฟ้าที่สาม (H3) คือ “พื้นที่ของการคิดแบบไร้กรอบเพื่อสร้างโลกใหม่” เป็นการตั้งคำถามต่อโครงสร้างเดิม เพื่อออกแบบระบบใหม่ที่ตอบโจทย์อนาคตมากกว่าเดิม เช่น ระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่
อุตสาหกรรมพลิกโฉมตอบโจทย์อนาคต ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพสูงในยุคเอไอ การศึกษาและรูปแบบการทำงานแบบใหม่ ซึ่งแม้ยังไม่เห็นผลทันที แต่การลงทุนในขอบฟ้าที่สาม คือรากฐานที่ทำให้สังคมไม่พังทลายเมื่ออนาคตเปลี่ยน
เหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับขอบฟ้าที่สองและสาม ก็เพราะมีคลื่นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่กำลังก่อตัว ทั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก พลังของคนรุ่นใหม่ สังคมสูงวัย การปรับโครงสร้างภูมิรัฐศาสตร์โลกและวิกฤตภูมิอากาศ
บางประเทศให้ความสำคัญกับขอบฟ้าที่หนึ่งมากเกินไป จนละเลยขอบฟ้าที่สองและสาม เพราะติดกับดัก “ภาวะสายตาสั้นเชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Myopia) ซึ่งเกิดจากแรงกดดันทางการเมืองที่เน้นผลลัพธ์ระยะสั้น ระบบงบประมาณที่ให้ความสำคัญกับโครงการที่เห็นผลเร็ว และความเคยชินกับโครงสร้างเดิม ส่งผลให้ขาดแรงจูงใจในการลงทุนกับสิ่งใหม่ที่ไม่แน่นอนและต้องใช้เวลานานจึงจะเห็นผล
อีกทั้งการขาดกลไกคาดการณ์อนาคต (Foresight) ที่เข้มแข็งในภาครัฐหรือองค์กรต่างๆ ทำให้ไม่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงสำคัญ การละเลย H2 และ H3 ก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาล ทั้งในแง่การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรมชะงักงัน เศรษฐกิจเปราะบาง
และการแก้ปัญหาสังคมที่ไม่ยั่งยืน เพราะมุ่งแต่ระยะสั้นโดยไม่แตะโครงสร้างรากลึก ระบบการศึกษาที่ไม่สอดรับอนาคตก็ทำให้คนรุ่นใหม่ขาดทักษะจำเป็น กระทบต่อผลิตภาพและนวัตกรรมของประเทศในระยะยาว
กรอบแนวคิดสามขอบฟ้าสามารถเป็นเครื่องมือนำทางให้ภาครัฐจัดสรรทรัพยากรและกำหนดนโยบายได้อย่างสมดุลมากขึ้น โดยขอบฟ้าที่หนึ่ง (H1) คือการรักษาและเสริมความแข็งแกร่งปัจจุบัน ภาครัฐควรจัดสรรทรัพยากรส่วนใหญ่ แต่ไม่ทั้งหมด (เช่น 70%) เพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ให้บริการสาธารณะที่จำเป็น และปรับปรุงประสิทธิภาพของสิ่งที่มีอยู่
ในขณะที่ขอบฟ้าที่สอง (H2) รัฐควรบ่มเพาะโอกาสใหม่และเปลี่ยนผ่าน จัดสรรทรัพยากรส่วนหนึ่ง (เช่น 20%) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นและรองรับอนาคต นำร่องโครงการทางสังคมใหม่ๆ และปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง
ที่สำคัญขอบฟ้าที่สาม (H3) คือลงทุนสร้างอนาคตใหม่และรับมือความท้าทายใหญ่ ภาครัฐควรจัดสรรทรัพยากรอีกส่วน (เช่น 10%) เพื่อการวิจัยและพัฒนาขั้นพื้นฐาน สำรวจเทคโนโลยีพลิกโลก
สร้างขีดความสามารถในการคาดการณ์อนาคต และวางแผนระยะยาวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เช่น ระบบเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่ อุตสาหกรรมอนาคต การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน หรือการสร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ
การยึดติดกับปัจจุบัน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และละเลยอนาคตที่กำลังก่อตัว เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ประเทศไม่อาจเพิกเฉย การจัดการงบประมาณและทรัพยากรจึงควรมองผ่านเลนส์ทั้งสามขอบฟ้าไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงในวันนี้ พร้อมกับวางรากฐานที่แข็งแรงสำหรับวันพรุ่งนี้