โอกาสของข้าวนุ่มไทยไปตลาดญี่ปุ่น | ค้าๆ ขายๆ กับกฎหมายธุรกิจ

โอกาสของข้าวนุ่มไทยไปตลาดญี่ปุ่น | ค้าๆ ขายๆ กับกฎหมายธุรกิจ

ชาวญี่ปุ่นเกือบทั้งประเทศจะบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ข้าวที่ชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคคือ ข้าวญี่ปุ่นพันธุ์จาปอนนิกา (Japonica) ซึ่งเป็นข้าวเมล็ดสั้น มีอะมีโลส (Amylose) ต่ำประมาณ 12-18%

หุงแล้วจะได้ข้าวสุกที่เหนียวนุ่ม ปกติชาวนาญี่ปุ่นสามารถปลูกข้าวได้พอเพียงสำหรับการบริโภคในประเทศ 

ดังนั้น เพื่อคุ้มครองชาวนาที่เป็นฐานเสียงที่สำคัญ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงควบคุมการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเลย ยกเว้นข้าวที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล้าสาเกที่แต่ละปีอนุญาตให้นำเข้าปริมาณไม่มากนัก

ปี 2536 ญี่ปุ่นประสบปัญหาสภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติ ทำให้ได้ผลผลิตข้าวต่ำกว่าเป้าหมาย ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนข้าวในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อเสถียรภาพของรัฐบาล รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเปิดให้มีการนำเข้าข้าวเป็นกรณีฉุกเฉินเป็นครั้งแรกในหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้านำเข้าข้าวจากประเทศไทยเป็นอันดับแรก 

แม้จะเป็นกรณีที่ประเทศญี่ปุ่น สั่งซื้อข้าวจากประเทศไทยอย่างเร่งด่วนฉุกเฉิน ประเทศไทยโดยผู้ส่งออกข้าวเอกชน ซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการการส่งออกข้าวที่มีศักยภาพสูง ก็สามารถส่งออกข้าวสนองความต้องการของญี่ปุ่นยามฉุกเฉินได้

โดยในปี 2536 ส่งออกข้าวให้ญี่ปุ่นเป็นข้าวขาว 100% ชั้นสองปริมาณ 97,697.65 ตัน ข้าวขาว 5% 17 ตัน ข้าวเหนียว 9,705.95 ตัน ข้าวนึ่ง 400 ตัน รวม107,820.60 ตัน ปี 2537 ไทยส่งข้าวให้ญี่ปุ่นอีก เป็นข้าวขาว 100 % ชั้นสอง 525,454.95 ตัน ข้าวขาว 5% 102 ตัน ข้าวเหนียว 1,488.05 ตัน รวม 527,045.00ตัน 

 

ข้าวที่ไทยส่งออกให้ญี่ปุ่นยามฉุกเฉินที่เป็นข้าวขาว 100% ชั้นสอง ซึ่งเป็นข้าวเมล็ดยาวพันธุ์อินดิกา มีอะมีโลส ประมาณ 22-30% หุงแล้วได้ข้าวสุกไม่เหนียวนุ่มแบบข้าวญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นไม่นิยมบริโภค ส่วนหนึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นนำเก็บในคลังสำรองของรัฐบาลเพื่อใช้ในยามจำเป็นฉุกเฉินในอนาคต

ส่วนหนึ่งจัดจำหน่ายให้ภาคอุตสาหกรรมอาหาร เช่น โรงงานทำมิโซะ ขนมขบเคี้ยว และโรงผลิตเหล้าสาเก ต่อมาเมื่อภาวะฉุกเฉินผ่านไปแล้ว ญี่ปุ่นนำข้าวที่เก็บสำรองไว้ที่คลังสำรอง ไปบริจาคให้ประเทศยากจนก่อนข้าวจะหมดอายุ

ข้าวที่ญี่ปุ่นต้องนำเข้ายามฉุกเฉิน นอกจากนำเข้าจากไทยแล้ว ญี่ปุ่นยังนำเข้าข้าวจากสหรัฐ เป็นข้าวพันธุ์ Calrose ซึ่งเป็นข้าวจาปอนนิกาแบบข้าวที่ปลูกในญี่ปุ่นเองและข้าวพันธุ์จาปอนนิกาจากจีนด้วย

ข้าวพื้นนุ่มของไทย

ไทยก็มีข้าวพื้นนุ่มที่มีชื่อเสียงมากคือ ข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมไทย เช่น ข้าวหอมปทุมธานี เป็นข้าวที่มีอะมีโลสประมาณ 16-18% หุงแล้วได้ข้าวสุกเหนียวนุ่มใกล้เคียงกับข้าวญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นรุ่นหลังสงครามโลก ไม่ชอบข้าวที่มีกลิ่นเพราะไม่คุ้นชินและมีความรู้สึกว่าเหม็นมากกว่าหอม

ยกเว้นคนญี่ปุ่นที่เคยอยู่ในเมืองไทยหรือเคยเดินทางมาเที่ยวที่เมืองไทย ก็อาจคุ้นเคยกับข้าวหอมมะลิไทยหรือข้าวหอมไทย 

นอกจากข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมไทยที่เป็นข้าวพื้นนุ่มแล้ว ไทยก็มีการปลูกข้าวที่เป็นข้าวพื้นนุ่มที่ไม่ใช่ข้าวหอม ที่เรียกกันว่าข้าวพวง แต่คุณภาพที่ได้ไม่สม่ำเสมอ มีเมล็ดสั้นมาก 

 

ในปี 2564 เพื่อการฟื้นฟูการค้าข้าวของไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ร่วมกับกรมการข้าว สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว และกระทรวงพาณิชย์ จัดให้มีการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อจูงใจให้นักพัฒนาพันธุ์ข้าวค้นคว้าพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ได้ผลผลิตต่อไร่สูง

เพื่อลดต้นทุนของชาวนา และได้พันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ที่สนองความต้องการของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่ม และต่อมาในปี 2565 ก็จัดการประกวดขึ้นอีกเป็นปีที่สอง

การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนุ่มที่ชนะการประกวด

ข้าวพันธุ์พื้นนุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ทั้งสองปี มีข้อมูลเบื้องต้นว่าเริ่มมีการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้ชาวนานำไปปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวขายแล้ว คาดว่าภายในเวลาไม่นาน จะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น และคงจะได้ผลผลิตข้าวพื้นนุ่ม เพิ่มมากขึ้น 

ขณะเดียวกันกรมการค้าต่างประเทศได้เริ่มจัดทำมาตรฐานข้าวนุ่มซึ่งได้ดำเนินการมาสองปีแล้ว หากจัดทำเสร็จประกาศใช้ก็จะเป็นมาตรฐานคุณภาพข้าวพื้นนุ่มรองรับผลผลิตข้าวพื้นนุ่มจากเมล็ดพันธุ์ที่ชนะการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่

จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อในเรื่องของคุณภาพของข้าวพื้นนุ่มที่ไทยจะผลิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสามารถสนองความต้องการของผู้ซื้อที่ต้องการบริโภคข้าวพื้นนุ่มได้ในราคาที่ย่อมเยากว่าข้าวหอมไทยหรือข้าวหอมมะลิไทย

สถานการณ์ข้าวของประเทศญี่ปุ่น

ปี 2567/2568 ญี่ปุ่น ประสบปัญหาอากาศ ผิดปกติอีกทำให้ผลผลิตข้าวได้ต่ำกว่าที่มีการประเมินกันไว้ เกิดภาวะข้าวขาดแคลนอีกระลอกหนึ่ง ราคาข้าวแพงขึ้นมาก ทำให้ญี่ปุ่นต้องสั่งซื้อข้าวจาปอนนิกาจากเกาหลีสำรองไว้ และก็มีชาวญี่ปุ่นที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหลายรายหาซื้อข้าวจาปอนนิกาจากต่างประเทศนำกลับมาด้วย

โอกาสของไทยในการส่งออกข้าวพื้นนุ่มไปญี่ปุ่น

ตามที่ประเทศไทยมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มและผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ชาวนาใช้ในการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ประกอบกับจะมีการกำหนดมาตรฐานข้าวพื้นนุ่ม เพื่อเป็นมาตรฐานข้าวพื้นนุ่มรองรับผลผลิตข้าวพื้นนุ่มที่จะมีการผลิตสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ 

หากในอนาคตหากญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาผลิตข้าวได้ต่ำกว่าเป้าหมายและมีปัญหาขาดแคลนข้าวเกิดขึ้นอีก ไทยจะมีข้าวพื้นนุ่มที่หุงแล้วได้ข้าวสุกเหนียวนุ่มไม่มีกลิ่นที่ชาวญี่ปุ่นไม่ชอบ แม้จะเทียบไม่ได้กับข้าวจาปอนนิกา แต่ก็น่าจะสามารถทดแทนข้าวจาปอนนิกาในยามขาดแคลนได้ ก็จะเป็นโอกาสที่จะส่งข้าวพื้นนุ่มของไทยเข้าไปที่ตลาดญี่ปุ่น ในราคาที่ย่อมเยากว่าข้าวหอมไทยหรือข้าวหอมมะลิไทย