ชีวิตกับ Zero-Sum Game | อาหารสมอง

ความคิดของมนุษย์เป็นตัวการทำให้เกิดผลตามมา เมื่อความคิดเห็นแตกต่างกันจึงนำไปสู่การต่อสู้ของความคิดเห็นและทำให้เกิดผลที่หลากหลายคนที่มองโลกในรูปแบบของ Dog Eat Dog (สังคมแก่งแย่งชิงดี)
จะเห็นว่าแรงงานอพยพแย่งงานคนท้องถิ่น ต้องปิดกั้นการค้าเสรีเพราะจะเสียประโยชน์ ไม่เห็นด้วยกับการที่คนต่างถิ่นมาอยู่อาศัยในบ้านเมือง ในระดับบุคคลหากคนอื่นได้ดีตัวเองก็จะรู้สึกแย่ลง ฯลฯ ในทางวิชาการสถานการณ์เช่นนี้เรียกว่า “zero-sum game” มาดูชีวิตกับการมองโลกแบบนี้
“zero-sum game” เริ่มเป็นที่รู้จักกันในยุค 1940-1950 มาจากการศึกษาเรื่อง Game Theory และใช้กันในภาษาทั่วไปในเวลาต่อมา ความหมายสั้น ๆ ก็คือสถานการณ์ที่คนหนึ่งได้มาจากการสูญเสียของอีกคนหนึ่ง เมื่อเป็นดังนี้ผลที่เกิดขึ้นจึงหักลบกันเป็นศูนย์
การกระทำในชีวิตหลายอย่าง เช่น ต่อสู้ในธุรกิจชิงตำแหน่งลงเลือกตั้ง ต่อสู้ในสงคราม ก็กับคล้ายเกมที่เล่นกันไม่ว่าเป็นไพ่ หรือกีฬา (หมากรุก ฟุตบอล) ในสายตาของคนที่เชื่อเรื่อง “zero-sum game” นั้นปริมาณผลประโยชน์ ความสำเร็จ ความมั่งคั่งหรือโอกาสมีปริมาณจำกัด ดังนั้น เมื่อบางคนได้เพิ่มก็จะทำให้คนอื่นได้รับน้อยลงจนผลสุทธิเป็นศูนย์
สำหรับคนที่เชื่อในทางตรงกันข้ามว่าโลกเราเป็น “non-zero sum game” ก็เห็นว่าทรัพยากร ปริมาณผลประโยชน์ โอกาส การกระจายรายได้ การลดความเหลื่อมล้ำ มิได้เป็นไปตามลักษณะของ zero-sum game
เพราะสิ่งต่างๆ มีพลวัตและความจริงก็คือคนไม่ได้แย่งงาน คนหนึ่งรวยขึ้นมิได้ทำให้คนอื่นจนลง คนที่แพ้เลือกตั้งก็สามารถทำหน้าที่อื่นได้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและเขาได้เรียนรู้มากขึ้น
ลักษณะของการคิดแบบ zero-sum game มีดังต่อไปนี้ (1) มองโลกว่าทรัพยากร (ความสำเร็จ เงินตรา ตำแหน่งงาน) มีจำกัดคล้ายกับเป็นขนมเค้กหากใครตัดไปกินก็เหลือให้คนอื่นน้อยลง (2) มองโลกว่าเป็นการแข่งขัน ดังนั้น ความสำเร็จของคนอื่นเป็นสิ่งคุกคามตนเองมากกว่าจะเป็นโอกาสของการเรียนรู้ หรือการร่วมมือกัน
(3) การได้เพิ่มของคนอื่นนำไปสู่การไม่วางใจ ไม่ต้องการแชร์ข้อมูลข่าวสาร และไม่ต้องการร่วมมือด้วย (4) มองโลกในระยะสั้น โดยให้ความสำคัญแก่การได้รับผลตอบแทนทันทีมากกว่าการได้ผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว
มีตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริง ดังนี้ (1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้า แนวคิดของ Trump ในเรื่องการขาดดุลการค้าว่าเป็นเรื่องใหญ่โต เมื่อประเทศใดมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐ (คนสหรัฐซื้อจากประเทศนี้มากกว่าที่คนประเทศนี้ซื้อจากสหรัฐ) ก็หมายความว่าสหรัฐเสียประโยชน์ ซึ่งแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของมูลค่าการค้าขายรายปีเมื่อหลายประเทศรวมกัน
บางประเทศขาดดุล บางประเทศเกินดุลก็หักกลบลบกันไป ถึงสุดท้ายขาดดุลการค้าก็ยังมีดุลบริการ (เงินเข้าออกจากภาคบริการ) ซึ่งสหรัฐเกินดุลอย่างมหาศาลคานอยู่ การค้าคือตัวการสำคัญจากอดีตถึงปัจจุบันที่ทำให้ประเทศคู่ค้าร่ำรวยขึ้น การร่วมมือกันทางเศรษฐกิจและการค้านำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกัน
(2) ในการทำงานในออฟฟิศ มีเพื่อนได้เลื่อนตำแหน่งซึ่งมิได้หมายความว่าตนเองสูญเสียโอกาสตลอดไป ในอนาคตตนเองก็มีโอกาสเช่นเดียวกันหรือดีกว่า มันเป็นเรื่องเพื่อความก้าวหน้าของทีมงานและความสำเร็จขององค์กร
(3) ในการมีตัวตนของกลุ่มนั้น พวก zero-sum มักคิดว่าการที่บางกลุ่มมีสิทธิ์มีเสียงตามกฎหมายเพิ่มขึ้น หมายถึงการสูญเสียสิ่งเดียวกันของกลุ่มตน และทำให้กลุ่มตน “ขาดแสง” เพราะพวกเหล่านี้
(4) ในเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว บางคนมองว่าการให้ความสำคัญและความรักนั้นมีจำกัด หากคนอื่นได้รับมากขึ้นแล้ว ตนเองก็จะได้รับน้อยลง
อย่างไรก็ดีปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางสถานการณ์ zero-sum game เกิดขึ้นจริง ดังเช่นการแข่งขันกีฬา (มีคนชนะและแพ้เสมอ) การต่อสู้ทางการเมือง หรือการจัดสรรทรัพยากรที่จำกัดเช่นในเรื่องงบประมาณ (เงินที่จัดสรรทั้งหมดรวมกันแล้วเท่ากับยอดเงินงบประมาณ ดังนั้นหากบางโครงการได้มากก็หมายถึงว่าโครงการอื่นๆ ได้รับน้อยลง)
อย่างไรก็ดี การคำนึงถึงผลระยะยาว การมีพลวัตของสิ่งแวดล้อมและการอดทนอดกลั้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจนำไปสู่สถานการณ์ non-zero sum game ในอนาคตได้
การมองโลกว่าเป็น zero-sum game เสมอไปนั้นของคนบางกลุ่มเป็นสิ่งที่สมควรแก้ไข เพราะไม่เป็นผลดีในระยะยาว ขอยกตัวอย่างเรื่องแรงงานจากเพื่อนบ้านเรา ไทยมีประชากรลดน้อยลงจนมีแรงงานจำกัดเด็กไทยเกิดน้อยเป็นลำดับตั้งแต่ 2526 เป็นต้นมา
ในปี 2567 มีเด็กไทยเกิด 461,421 คนซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่เกิดต่ำกว่า 500,000 คนต่อปี และปีนี้เป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่มีจำนวนคนตายมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ หากเราทิ้งไว้ไม่แก้ไขในเวลา 30 ปี เราอาจมีประชากรเหลือเพียงครึ่งเดียวก็เป็นได้ (จากการพยากรณ์ของสำนักวิชาการไทยแห่งหนึ่ง)
การแก้ไขวิธีหนึ่งก็คือ เพิ่มประชากรจากการอพยพเช่นเดียวกับหลากหลายประเทศ กลุ่มคนที่ง่ายต่อการรับเข้ามาเป็นคนไทยก็คือ แรงงานอพยพจากเพื่อนบ้าน และลูกหลานที่ทำงานอยู่แล้วในบ้านเรา การอยู่ในบ้านเราแล้วหมายถึงการมีความสามารถในการทำงานระดับหนึ่งมิฉะนั้นแล้วคงไม่มีคนจ้าง
และมี “การเข้ากันได้” กับคนไทยอย่างแน่นอน หากเราให้การศึกษาลูกหลานเขาอย่างดี และเพิ่มพัฒนาทักษะให้แรงงานเหล่านี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เราจะมีประชากรเพิ่มขึ้น 3-4 ล้านคนในเวลาอันสั้น
บรรดาคนที่มีใจฝักใฝ่ zero-sum game คงจะร้องยี้ ก็ขอถามว่าแล้วเราจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของบ้านเราอย่างไร อย่ารังเกียจคนอพยพเลย เพราะพวกเราทุกคนในทุกประเทศในโลกก็ล้วนเป็นคนอพยพด้วยกันทั้งนั้น แหละ
เพียงแต่บรรพบุรุษใครถึงแผ่นดินนั้นๆ ก่อนกันเท่านั้นเอง ประเทศมิได้ขึ้นกับเชื้อชาติ ไม่มีประเทศใดที่มี “เชื้อชาติ” เดียว ทุกประเทศล้วนมีประชากรจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรมทั้งนั้น แม้แต่จีนยังมีถึง 56 ชาติพันธุ์
ประเทศเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ดีจากแรงงานอพยพในอดีตมาด้วยกันทั้งนั้น อย่ามัวรังเกียจแรงงานจากเพื่อนบ้านเราที่มีวัฒนธรรม ความเชื่อ และพฤติกรรมในการจะเป็นคนชาติเดียวกับเราที่สูง สังคมไทยให้เวลา 2 ชั่วคนก็กลมกลืนเป็นคนไทยไปหมดแล้ว
ลองพิจารณาประวัติศาสตร์ที่พยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้เข้าใจปัจจุบันและเพื่อช่วยพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับไม่เป็นคนประเภท zero-sum game ที่คับแคบในความคิดแล้วก็จะเห็นอะไรที่กว้างขึ้น
ครอบครัวที่มีความสุขจะมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายกันคือมีลักษณะของ non-zero-sum game หรือ win-win คือทุกฝ่ายมุ่งกระทำสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน และเกิดความสุขร่วมกัน มิใช่บางคนได้ประโยชน์จากการสูญเสียของคนอื่น