ส่องคืบหน้า 5 ‘นโยบายเรือธง’ รัฐบาล 2 ปี ยัง สะดุด - ล่าช้า - ปรับแผน

ตรวจการบ้าน 2 ปีรัฐบาล การเมืองพรรคร่วมทำนโยบายสะดุด 5 นโยบายเศรษฐกิจ เอนเตอร์เทนเมนต์ แลนด์บริดจ์ แจกเงินหมื่น ไฮสปีด 3 สนามบิน และขึ้นค่าแรง ยังไปไม่ถึงฝั่ง
KEY
POINTS
- ตรวจการบ้าน 2 ปีรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจที่สะดุดจากปัจจัยการเมือง และความท้าทายจากการเป็นรัฐบาลผสม
- โครงการ เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ถูกเลื่อนจากการพิจารณาในสภา เพราะพรรคร่วมบางพรรคเตรียมงดออกเสียง ขณะที่ สว. ก็เรียกร้องให้ทำประชามติแลนด์บริดจ์ แม้ไม่ถูกขัดแย้งจากพรรคร่วม แต่แย่งเครดิตกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย
- ดิจิทัลวอลเล็ต : ปรับลดวงเงิน-รูปแบบ สุดท้ายเตรียมยุติโครงการ
- ไฮสปีด 3 สนามบิน : ติดขัดที่การแก้สัญญา ที่มี รมต.จากพรรคร่วมไม่เห็นด้วย เพราะหวั่นเอื้อเอกชน
- ส่วนขึ้นค่าแรง 600 บาท: ทำได้ไม่ถึงเป้าหมาย ขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ และยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะขึ้นทั่วประเทศเมื่อใด
รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 23 ส.ค.2566 หากนับมาถึงวันนี้ (19 พ.ค.68) รัฐบาลดำรงตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี 9 เดือน อีกไม่กี่เดือนก็จะครบกำหนดการบริหารประเทศ 2 ปี หรือครึ่งเทอมของการบริหารประเทศที่มีกรอบเวลาทำงาน 4 ปี
ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี มาจนถึงปัจจุบันที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการประกาศนโยบาย และแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจออกมาเป็นจำนวนมากแต่ในทางปฏิบัตินั้นรัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถที่จะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในส่วนที่เป็นนโยบาย “เรือธง” ที่ได้หาเสียง และแถลงต่อรัฐสภาไว้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้
หลายเรื่องยังมีความไม่ชัดเจนในการเดินหน้า บางเรื่องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของนโยบาย บางนโยบายชะงัก ล่าช้าในการดำเนินงานซึ่งต้องยอมรับว่ามีปัจจัยทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สะท้อนปัญหาภายในการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลผสม จนกระทบกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ โดยมี 5 นโยบายที่อยู่ในข่ายนี้
1.นโยบายการสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) โครงการนี้ร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจรผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เดิมรัฐบาลตั้งใจที่จะบรรจุกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 1 ให้ทันก่อนการปิดสมัยประชุมเมื่อเดือนเม.ย.2568 เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการกฎหมายนี้เพื่อนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการศึกษากฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณานายกรัฐมนตรีได้แถลงร่วมกับพรรคร่วมว่าได้หารือกันแล้วให้เลื่อนวาระอื่นที่เร่งด่วนขึ้นมาพิจารณาในสภาฯ ก่อนเช่นเรื่องการเยียวยาแผ่นดินไหว และเรื่องการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการขึ้นภาษีของทรัมป์
ทั้งนี้การเลื่อนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรของรัฐบาลเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสพรรคร่วมบางพรรคจะงดออกเสียงในการโหวตรับร่างกฎหมาย รวมทั้งกระแสข่าว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขู่ขับพรรคร่วมฯ พ้นรัฐบาล หากไม่โหวตกฎหมายนี้
ขณะที่ท่าทีของ สว.สายสีน้ำเงิน ที่แถลงข่าวให้รัฐบาลออกเสียงประชามติต่อร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ตามที่กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เพราะหากไม่ทำอาจเข้าข่ายทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 172 รวมถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) มาตรา 123/1
หากพบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใดมิชอบ รวมถึงเหตุผลทางจริยธรรมทำให้รัฐบาลยังไม่ได้เดินหน้าวาระกฎหมายนี้ในสภาฯ โดยนายกฯ สั่งให้มีการเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนว่าเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจอย่างไร และไม่อยากให้โฟกัสเฉพาะเรื่องกาสิโน
เพื่อไทย-ภูมิใจไทยแย่งหาเสียง “แลนด์บริดจ์”
2.โครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เพื่อเชื่อมขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน ถือเป็นเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐบาลปัจจุบันมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการโรดโชว์ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีข่าวเป็นระยะว่าได้รับการสนใจลงทุนจากกลุ่มทุนทั่วโลก โดยเฉพาะตะวันออกกลาง จีน และยุโรป แต่หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน ลงจากตำแหน่งนายกฯ การโปรโมตลดน้อยลงไปจากเดิม
ขณะที่รัฐบาลแม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีพรรคใดแสดงความไม่เห็นด้วย แต่โครงการนี้พรรคภูมิใจไทยขับเคลื่อนมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน และบรรจุในนโยบายพรรคเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อหาเสียงเลือกตั้งจึงเคลมกันทั้ง 2 พรรค และในการเลือกตั้งครั้งหน้าทั้ง 2 พรรคอาจใช้โครงการนี้เป็นโครงการที่หาเสียงในพื้นที่ภาคใต้
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ….. (พ.ร.บ.SEC) อยู่ระหว่างรับฟังความเห็น โดยจะเสนอ ครม.พิจารณาภายในเดือนพ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเปิดประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติวันที่ 3 ก.ค.68 นี้ และจะเริ่มประกวดราคาเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) เดือนธ.ค.2568 ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ได้จริงภายในรัฐบาลนี้หรือไม่
"ดิจิทัลวอลเล็ต" ไม่ตรงปก
3.โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นโครงการที่รัฐบาลเพื่อไทยหาเสียงจะสร้าง “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” จากการแจกเงินให้ประชาชนคนละ 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบ และลดขนาดโครงการลงจากเดิมที่เคยตั้งวงเงินไว้ 4.5 แสนล้านบาท เพราะความไม่พร้อมของระบบทำให้ต้องแจกเป็นเงินสดในเฟสที่ 1 และ 2
ส่วนการจัดสรรวงเงินงบประมาณมีความเห็นจากหน่วยงานเศรษฐกิจ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพการคลังของประเทศจากการแจกเงิน
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่แสดงท่าทีสนับสนุนเพราะนโยบายลักษณะนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยได้เปรียบทางการเมือง โดยเมื่อเลือกตั้งจะนำการแจกเงินหมื่นไปใช้หาเสียงได้
ทั้งนี้ ล่าสุดจะปรับวงเงินที่เหลือ 1.57 แสนล้านบาท ไปใช้โครงการอื่นที่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยคณะกรรมการนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะพิจารณาวันที่ 19 พ.ค.2568 ซึ่งถือว่าเป็นการปิดฉากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างเป็นทางการ
ภูมิใจไทยขวางแก้สัญญาไฮสปีดซีพี
4.โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการที่เป็นกระดูกสันหลัง (backbone) ของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ร่วมลงทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด (เครือซีพีถือหุ้นใหญ่) ลงนามสัญญาปี 2562 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ช้ามากว่า 5 ปียังไม่เริ่มก่อสร้าง
ทั้งนี้ข้อเสนอแก้ไขสัญญาร่วมทุนผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะกรรมการ รฟท.แล้ว โดยร่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนอยู่ขั้นตอนเตรียมเสนอ ครม.พิจารณา
สำหรับสาระสำคัญ คือ ปรับวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน (Public Investment Cost : PIC) จากเดิมรัฐจ่ายเมื่อเอกชนเปิดเดินรถไฟความเร็วสูง โดยรัฐแบ่งจ่าย 10 ปี ปีละเท่ากัน รวม 149,650 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นรัฐจ่ายเป็นงวดตามความก้าวหน้าของงานก่อสร้างที่ ร.ฟ.ท.ตรวจรับวงเงินไม่เกิน 120,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขให้บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด วางหลักประกันเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมรวมเป็น 152,164 ล้านบาท เพื่อประกันว่างานก่อสร้าง และรถไฟความเร็วสูงจะเปิดบริการภายใน 5 ปี กรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจะทยอยตกเป็นของ รฟท.ทันทีตามงวดการจ่ายเงิน
ส่วนประเด็นการปรับเปลี่ยนให้สร้างไป จ่ายไปทำให้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย เพราะทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์หากมีปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งความรับผิดชอบของรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลอาจต้องร่วมรับผิดชอบด้วย โดยหากแก้ลักษณะนี้จะเอื้อให้เอกชนรายอื่นขอปรับเปลี่ยนสัญญาการร่วมทุนกับภาครัฐเช่นกัน โดยการที่ยังไม่เข้า ครม.จะทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก
ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทไม่ถึงฝัน
5.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน นโยบายนี้เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงในส่วนนโยบายการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน โดยพรรคเพื่อไทยระบุว่าเงื่อนไขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ปีละ 5% แต่เมื่อบริหารประเทศได้ระยะหนึ่งรัฐบาลเริ่มเข้าใจข้อจำกัดนโยบายนี้จึงประกาศทยอยขยับขึ้นค่าแรง โดยในสมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติรัฐบาลก็ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั่วประเทศ 400 บาท ไม่ได้ตามสัญญา โดยปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน แค่ 4 จังหวัดกับ 1 อำเภอก่อน ได้แก่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และ อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี นำร่องก่อน ขณะที่การขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลจะดำเนินการเมื่อไหร่ ล่าสุดนายกรัฐมนตรีเลี่ยงตอบคำถามนี้ที่ผู้สื่อข่าวถามเมื่อวันแรงงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.68 ที่ผ่านมา
ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ระบุว่าไม่ค่อยอยากจะตอบเรื่องนี้เพราะเจอ “โรคเลื่อนตลอดเวลา” เนื่องจากมีความเห็นที่แตกต่างกันในคณะกรรมการไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล) และต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่น่าหนักใจขอให้รอดูคำตอบอีกทีภายในเดือนพ.ค.นี้
เห็นได้ว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นอีกตัวอย่างที่การขับเคลื่อนข้ามพรรคซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่อยู่ในการขับเคลื่อนบริหารของพรรคภูมิใจไทยที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ซึ่งยังคงมีคำถามว่าทั้งสองพรรคจะทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จได้หรือไม่
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์